ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 200 ร้อยปีของกรุงเทพมหานคร เมืองซึ่งทันสมัยที่สุดของไทย แต่ก็ยังมีอีกหลายมุมให้คนรุ่นปัจจุบันได้ย้อนอดีตกลับไปซึมซับบรรยากาศเมืองหลวงในวันวาน อย่างเช่นบ้านโบราณทั้ง 5 หลังนี้ที่บอกเล่าวิถีชีวิตผู้คนรุ่นก่อน ไปจนถึงการเดินทางเข้ามาเยือนของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ผ่านร่องรอยแห่งกาลเวลาราวกับเข็มนาฬิกานั้นพาเราหมุนย้อนกลับไปในวันนั้น
★ บ้านเลขที่ 1 ★
อาคารสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกในตรอกกัปตันบุช เปี่ยมไปด้วยความสง่างามและเป็นสัญลักษณ์แห่งการมาเยือนของชาวตะวันตกได้เป็นอย่างดี เพราะบนถนนเจริญกรุงแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นจุดก่อร่างสร้างตัวของชุมชนชาวยุโรปในกรุงเทพฯ และยังเป็นที่ตั้งของสถานทูตโปรตุเกสและสถานทูตฝรั่งเศสมาจนถึงทุกวันนี้ โดยแต่เดิมนั้นเป็นอาคารสำนักงานของบริษัทผลิตแอลกอฮอล์สัญชาติฝรั่งเศส จากนั้นก็ถูกทิ้งร้างไปนานจนทรุดโทรมตามกาลเวลา จนเมื่อราวๆ ปี 2012-2016 บ้านหลังนี้ได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่งโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร
ทุกวันนี้บ้านเลขที่ 1 ใช้เป็นสถานที่จัดงานหลากหลายรูปแบบ ทั้งงานแต่งงาน งานอีเวนต์ต่างๆ และเป็นส่วนหนึ่งของย่านสร้างสรรค์ (Creative District) ของกรุงเทพฯ อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการจัดงานนิทรรศการศิลปะ เช่น งาน Bangkok Design Week
ที่ตั้ง : ถนนสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
การเดินทาง : จาก BTS สะพานตากสิน นั่งรถโดยสารประจำทางสาย 1 หรือ 75 ลงบริเวณหน้าอาคารไปรษณีย์กลางบางรัก จากนั้นเดินเข้าซอยเจริญกรุง 30 หรือลงเรือด่วนเจ้าพระยา (ธงส้ม ธงเขียว และธงเหลือง) จากท่าเรือสาทรมาขึ้นที่ท่าสี่พระยา
★ บ้านเหลียวแล (Real Rare) ★
แต่เดิมบ้านหลังนี้มีชื่อว่าบ้านรัชต์บริรักษ์ เป็นอาคารตึกแถวสไตล์จีนที่คาดว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ในซอยวานิช 2 แคบๆ ตรงกันข้ามกับทางเข้าศาลเจ้าโรงเกือกของชุมชนตลาดน้อย จวบจนวันนี้ก็มีอายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี แต่โครงสร้างของบ้านก็ยังสมบูรณ์แบบแม้จะเต็มไปด้วยรอยคราบเกรอะกรัง จนกลายเป็นที่มาของชื่อ Patina Cafe คาเฟ่น้องใหม่ที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้ร่มเงาของบ้านโบราณหลังนี้ โดยที่ยังคงสภาพอาคารเดิมเอาไว้อย่างเหนียวแน่นไม่มีเปลี่ยน ภายในคาเฟ่พร้อมเสิร์ฟทั้งเครื่องดื่ม ของหวาน กับอาหารมื้อกลางวันและมื้อเย็น ฝีมือเชฟกฤช ประเทืองสุข ที่ได้แรงบันดาลใจจากอาหารนานาชาติผสมกลิ่นอายอาหารจีนตามทำเลที่ตั้งของบ้านหลังนี้
กลิ่นอายของบ้านเก่ายังคงฝังแน่นไม่ต่างไปจากคราบตามฝาผนัง ทำให้บ้านเหลียวแลแห่งนี้มีคนชายตาแลมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และยังคงความแตกต่างไม่เหมือนใครสมกับเป็นบ้าน Real Rare อย่างแท้จริง
ที่ตั้ง : ซอยวานิช 2 เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
การเดินทาง : จาก BTS สะพานตากสิน นั่งรถโดยสารประจำทางสาย 1 หรือ 75 มาลงที่ตลาดน้อย จากนั้นเดินเข้าสู่ถนนโยธา แล้วเลี้ยวขวาทางวงเวียนชุมชนตลาดน้อยเข้าสู่ซอยวานิช 2 หรือลงเรือด่วนเจ้าพระยา (ธงส้ม) จากท่าเรือสาทรมาขึ้นที่ท่ากรมเจ้าท่า จาก MRT หัวลำโพง สามารถเดินมาตามถนนมหาพฤฒาราม ข้ามสะพานพิทยเสถียร แล้วเลี้ยวเข้าถนนโยธา ใช้เวลาเดินประมาณ 10 นาที
★ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ★
บ้านหลังนี้แต่เดิมเป็นสมบัติของอาจารย์วราพร สุรวดี ผู้ล่วงลับ โอเอซิสเล็กๆ ของกรุงเทพฯในวันนี้อยู่ภายใต้ความดูแลของเขตบางรัก และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ทุกคนได้เข้าไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนบางกอกในยุคสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สถาปัตยกรรมของตัวบ้าน ผ่านข้าวของเครื่องใช้ของผู้คนหลากหลายรุ่น ตั้งแต่ในห้องนอน ห้องแต่งตัว ห้องรับประทานอาหาร ไปจนถึงห้องน้ำ ที่ล้วนเต็มไปด้วยของแปลกตาและสวยงามตามยุคสมัย ในขณะที่เดินผ่านศาลานั่งเล่นไปจนสุด
พื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีบ้านไม้อีกหลังที่เป็นของหมอฟรานซิส คริสเตียน ซึ่งอาจารย์วราพร สุรวดี ได้ยกมาจากที่ตั้งเดิมบริเวณทุ่งมหาเมฆมาไว้ในรั้วบ้านเดียวกัน ภายในบ้านของคุณหมอจัดแสดงอุปกรณ์ ตำราทางการแพทย์ ไปจนถึงห้องนอนของคุณหมอที่ยังได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างสมบูรณ์แบบ
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกยังมีอาคารอีก 2 อาคารซึ่งทำหน้าที่เป็นห้องสมุดและอีกอาคารนั้นใช้สำหรับจัดแสดงบรรดาเครื่องใช้ในสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ทำอาหารและของสะสมต่างๆ จากทั้งในและต่างประเทศ แต่ปัจจุบันปิดให้บริการเนื่องจากทรุดโทรมจากการก่อสร้างในพื้นที่ใกล้เคียง
ที่ตั้ง : ซอยสะพานยาว เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
การเดินทาง : จาก BTS สะพานตากสิน นั่งรถโดยสารประจำทางสาย 1 หรือ 75 ลงบริเวณหน้าอาคารไปรษณีย์กลางบางรัก เดินข้ามมายังซอยเจริญกรุง 43 ลอดใต้ทางพิเศษศรีรัชจะพบกับพิพิธภัณฑ์อยู่ทางขวามือ
★ บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ★
คฤหาสน์ยุโรปบนถนนนครสวรรค์นี้ออกแบบโดยนายมาริโอ ตามาญโญ เจ้าของผลงานการออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคมและห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ จึงไม่แปลกใจในความงดงามเหนือกาลเวลา แต่เดิมทีสถานที่แห่งนี้เป็นบ้านของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้วางรากฐานการศึกษาของไทย และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากลาออกจากราชการท่านได้เปิดโรงเรียนสตรีจุลนาคที่อยู่ติดกัน โดยเปิดชั้นล่างของบ้านเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมของโรงเรียน
วันนี้บทบาทของบ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้ขยับขยายมาเป็นพื้นที่ของโครงการที่มีชื่อว่า Bangkok 1899 ภายนอกอาคารยังคงงดงามไม่เปลี่ยนแปลง แต่ภายในนั้นเปิดต้อนรับทุกคนด้วยสวนสาธารณะ ศูนย์การเรียนรู้ พื้นที่จัดนิทรรศการ อีเวนต์ต่างๆ และเปิดเป็นร้านอาหารและร้านกาแฟที่มีชื่อว่า Na Cafe ที่เน้นแนวคิดเรื่อง Zero Waste พร้อมกับเมนูทั้งไทยและเปรูที่แปลกใหม่น่าลิ้มลอง
ที่ตั้ง : ถนนนครสวรรค์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
การเดินทาง : สถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดคือ MRT สามยอด สามารถนั่งรถต่อโดยใช้เส้นทางถนนสนามไชย แล้วเลี้ยวเข้าสู่ถนนนครสวรรค์ บริเวณแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ
★ บ้านหมอหวาน ★
ทั้งป้ายชื่อ “บำรุงศาสนายาไทย” และรูปลักษณ์ภายนอกอาคารแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียล ชิโน-โปรตุกีส ทำให้บ้านหมอหวานเป็นอีกพิกัดบ้านโบราณที่โดดเด่นและน่าสนใจ ชื่อของบ้านหลังนี้มาจากชื่อของหมอหวาน รอดม่วง นายแพทย์แผนไทยสมัยรัชกาลที่ 5-8
เบื้องหลังประตูแกะสลักลวดลายชดช้อยและบานหน้าต่างกระจกคือร้านขายยาที่ยังคงบรรยากาศดั้งเดิมเอาไว้ไม่ต่างจากเมื่อหลายสิบปีก่อน ในตู้ไม้แกะสลักยังเรียงรายไปด้วยขวดยาสารพัดอย่าง รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์แผนไทย เช่น เครื่องบดยา รางปั้นเม็ดยา โกร่งบดยา รวมถึงอุปกรณ์ทางฝั่งตะวันตก เช่น หูฟังเสียงหัวใจ ตะเกียงแอลกอฮอล์ หลอดทดลอง และหม้อกลั่น
ปัจจุบันนี้บ้านหมอหวานยังคงเปิดเป็นร้านขายยา มีทั้งน้ำมัน ขี้ผึ้งทาเส้น ยาหอม และยาอม โดยส่วนหนึ่งเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตพาผู้มาเยือนย้อนเวลากลับไปชมบรรยากาศร้านขายยาในวันวาน
ที่ตั้ง : ถนนบำรุงเมือง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
การเดินทาง : จาก MRT สามยอด สามารถเดินไปขึ้นรถโดยสารประจำทางสาย 508 บริเวณแยกสี่กั๊กพระยาศรี แล้วลงที่ฝั่งตรงข้ามวัดสุทัศน์ จากนั้นเดินเข้าซอยตีทอง หรือสามารถเดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้า โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที
ในกรุงเทพมหานครยังมีพิกัดของบ้านเก่าอีกหลายแห่งที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีเยี่ยมทำให้เรารู้ว่าการย้อนเวลาหาอดีตไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด
Tag:
travel, บ้านโบราณ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น