ทำไมเราจึงต้องไหว้เทศกาลสารทจีน

วันที่ 18 สิงหาคม 2564  12,295 Views

ถัดจากเทศกาลบ๊ะจ่าง ในเดือนนี้ก็มีอีเวนต์สำคัญของลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนกันอีกหนึ่งเทศกาล ซึ่งความสำคัญเรียกว่าเป็นรองแค่เทศกาลตรุษจีนเท่านั้น นั่นก็คือ “เทศกาลสารทจีน” หรือ เทศกาลจงหยวน (หรือตงง้วงโจ่ย) หมายถึงสารทกลางปี คนแต้จิ๋วเรียกว่า “ชิกง่วยปั่ว” ซึ่งแปลว่ากลางเดือนเจ็ด วันสารทจีนตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 (นับตามปฏิทินจีน) วันสารทจีนปี 2564 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม แล้วทำไมเราจึงต้องไหว้เทศกาลสารทจีนกันด้วยล่ะ? บทความนี้มีคำตอบ

ทำไมเราจึงต้องไหว้เทศกาลสารทจีน

ความเป็นมาของวันสารทจีน
วันสารทจีนมีที่มาจากความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาเทพเจ้าต่างๆ ตั้งแต่สมัยยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก คนจีนที่นับถือเต๋าเชื่อว่าในรอบปีจะมีวันสำคัญ 3 วันที่เทพเจ้าจะอำนวยพรให้แก่มนุษย์ ได้แก่

  • วันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้าย วันเพ็ญต้นปี เรียกว่า เสี่ยงง้วง หรือ ซ่างหยวน ขุนนางสวรรค์ เทพเทียนกัว อำนวยพรให้โชคลาภ
  • วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 วันเพ็ญกลางปี เรียกว่า ตงง้วง หรือวันสารทจีน ขุนนางแห่งพื้นพิภพ เทพตี่กัว จะลงมาสำรวจว่าใครสร้างบาปทำบุญอะไรไว้บ้างและจะอำนวยพรให้แก่ผู้ที่ทำบุญ
  • วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 เรียกว่า เหี่ยง้วง ขุนนางแห่งท้องน้ำ เทพจุ้ยกัว จะปัดเป่าภยันตรายสิ่งไม่ดีต่างๆ ออกไป

คนจีนสมัยก่อนเชื่อว่านรกอยู่ใต้ดิน จึงเชื่อมโยงเทพตี่กัวซึ่งเป็นเทพแห่งพิภพให้เป็นเทพแห่งโลกวิญญานใต้พิภพไปด้วยและกราบไหว้บูชาในวันเพ็ญกลางเดือน 7 เป็นต้นกำเนิดของเทศกาลสารทจีน

ทำไมเราจึงต้องไหว้เทศกาลสารทจีน

จากการบูชาเทพเจ้ามาสู่การไหว้บรรพบุรุษและวิญญานเร่ร่อน
ต่อมา เมื่อพุทธศาสนามหายานเข้าสู่เมืองจีนได้นำความเชื่อเรื่องบาปบุญและนรกสวรรค์เข้ามาพร้อมกับเรื่องราวในพุทธประวัติหรือประวัติของพระอรหันต์ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับวันสารทจีนคือเรื่องของ พระโมคคัลลานะ ซึ่งคนจีนเรียกว่า หมกเลี้ยง หรือ มู่เหลียน มารดาของท่านก่ออกุศลกรรมเมื่อตายไปจึงตกนรก พระโมคคัลลานะได้เดินทางลงไปช่วยมารดาในยมโลก แต่เมื่อป้อนอาหารให้อาหารก็กลับกลายเป็นไฟ พระพุทธเจ้าทรงแนะวิธีช่วยด้วยการทำบุญให้ทานเป็นกุศลอุทิศไปให้มารดาในกลางเดือนเจ็ดซึ่งเป็นช่วงที่วิญญาณเดินทางมายังโลกมนุษย์ คนจีนยึดถือความกตัญญูเป็นคุณธรรมสูงสุดจึงชื่นชอบเรื่องนี้มากและเกิดเป็นประเพณีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและวิญญาณเร่ร่อนขึ้นในวันสารทจีน

ในประเทศจีน วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 ยังเป็นวันที่พระจีนออกพรรษา (พระจีนเข้าพรรษาช่วงเดือน 4 และออกพรรษาในเดือน 7) ซึ่งจะมีการทำบุญใหญ่ ในคติพุทธถือเป็นการทำสังฆทานจึงสามารถช่วยเหลือวิญญาณบรรพบุรุษได้ เป็นความเชื่อที่ตรงกันทั้งในนิกายเถรวาทและนิกายมหายาน

เมื่อพุทธศาสนาเฟื่องฟู การบูชาเทพเจ้าตี่กัวจึงลดลงและเลือนหายไปเหลือแค่ตามศาลเจ้าหรือสำนักพรต คงเหลือไว้แต่การไหว้บรรพบุรุษและวิญญานสืบทอดต่อมาจนทุกวันนี้

ทำไมเราจึงต้องไหว้เทศกาลสารทจีน

การไหว้สารทจีนของชาวไทยเชื้อสายจีน
หลายครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนยังรักษาประเพณีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลสำคัญทั้ง 3 เอาไว้ ได้แก่  ตรุษจีน เช็งเม้ง และสารทจีน เทศกาลสารทจีนเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษในช่วงกลางปีและยังเป็นครั้งสุดท้ายในรอบปีอีกด้วย

ในสมัยก่อนครอบครัวมักหยุดงานหรือปิดร้านในเทศกาลสารทจีน ช่วงเช้าเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เสร็จแล้วเลี้ยงอาหารลูกน้อง ตอนบ่ายเซ่นไหว้วิญญาน แต่ด้วยเวลาและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีการหยุดงานหรือปิดร้านในวันสารทจีนกันแล้ว

ทำไมเราจึงต้องไหว้เทศกาลสารทจีน

การเซ่นไหว้บรรพบุรุษในวันสารทจีนก็ไม่ต่างจากในวันตรุษจีน ที่ต่างออกไปคือในวันสารทจีนจะมีการเซ่นไหว้ ไป้ฮอเฮียตี๋ หรือ “ไหว้วิญญาณพี่น้องที่ดี” ด้วย วิญญาณเร่ร่อนหรือผีไม่มีญาติที่ไม่รู้ว่าเป็นใครเหล่านี้อาจเป็นคนเคยรู้จักหรือเป็นคนที่มาจากเมืองจีนแล้วตายไปแบบไม่มีญาติพี่น้อง เราจึงต้องไหว้อุทิศส่วนกุศลไปให้ เป็นธรรมเนียมที่สืบสานมาจากจีนโพ้นทะเล

ทำไมเราจึงต้องไหว้เทศกาลสารทจีน

การเซ่นไหว้วิญญาณมักปูเสื่อที่พื้นหรือตั้งโต๊ะไว้หน้าประตูบ้าน จัดที่บูชาและจุดไต้นำทางวิญญาณ ของไหว้ประกอบด้วยเป็ด ไก่ หมู อาหารคาวหวาน ผลไม้ ขนมไหว้ประจำเทศกาลอย่างขนมเข่ง ขนมเทียน และขนมต่างๆ แต่จะจัดวางไม่เหมือนกับการไหว้บรรพบุรุษ โดยวางทั้งหม้อหรือภาชนะขนาดใหญ่เพื่ออุทิศให้วิญญาณเร่รอนจำนวนมาก มักไหว้ในช่วงบ่ายหลังจากที่ไหว้บรรพบุรุษเรียบร้อยแล้ว

ทำไมเราจึงต้องไหว้เทศกาลสารทจีน

บางบ้านจะแขวนโคมกระดาษ 2 ดวงไว้หน้าบ้าน บนโคมจะมีอักษรจีนที่หมายถึงการอุทิศกุศลให้แก่คนตายในปรโลก ส่วนที่ศาลเจ้าจะจุดโคมไฟแขวนไว้กับกิ่งไผ่ปักสูงๆ เชื่อว่าจะเป็นการนำทางวิญญาณมารับส่วนกุศล ภายหลังคนไทยเชื้อสายจีนก็นิยมจัดไหว้ไป้ฮอเฮียตี๋ในวันตรุษจีนด้วยเช่นกัน


Tag: เทศกาลสารทจีน

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed