เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ชิมอาหารชนเผ่า ที่อำเภอเชียงแสน

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560  6,453 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 208 เดือนพฤศจิกายน 2560

หากใครมีโอกาสได้เดินทางท่องเที่ยวในตัวเมืองจังหวัดเชียงรายจนทั่วแล้ว เราอยากให้ลองมาหาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่อำเภอเชียงแสนดูสักครั้ง เพราะนอกจากเป็นรอยต่อระหว่างประเทศ ทำให้เกิดพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญริมฝั่งโขง ชายแดนไทย ลาว พม่า ที่นี่ก็ยังมีความหลากหลายทางประวัติศาสตร์ ทั้งโบราณสถาน โบราณคดี ตลอดจนเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ที่น่าสนใจมากทีเดียว

อาหารชนเผ่า

ดังเช่นบ้านแม่แอบ ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายแห่งนี้ ก่อนเป็นหมู่บ้านเปิดให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมอย่างที่เราเห็น คนที่นี่ได้ผ่านเรื่องราวต่างๆ มามากมาย โดยเฉพาะเหตุการณ์ครั้งสำคัญคือการหนีภัยสงครามชิงอำนาจปกครองประเทศจีนในปี 2492 นั่นเอง

อาหารชนเผ่า

ประชากรส่วนใหญ่ในบ้านแม่แอบคือกองกำลังทหารจีนกองพล 93 (ฝ่ายรัฐบาลนายพลเจียงไคเช็ค) ที่หนีภัยสงครามเข้ามา โดยเริ่มมีความหลากหลายทางชนเผ่ามากขึ้นตามการถอยร่นจากการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในประเทศจีนภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตง กระทั่งเข้าสู่เขตพม่าเรื่อยมาจนถึงประเทศไทยตามแนวชายแดน

อาหารชนเผ่า

กองกำลังทหารจีนกองพล 93 สู้รบจนเข้ามาอยู่ในประเทศไทยและได้ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ร่วมกับทหารและตำรวจไทยจนสำเร็จ หลังจบเหตุการณ์ครั้งนั้นรัฐบาลไทยจึงให้ปักหลักอยู่ในจังหวัดเชียงรายโดยสมบูรณ์ โดยแบ่งหมู่บ้านออกเป็น 3 แห่ง คือ หมู่บ้านผาตั้ง อำเภอเวียงแก่น หมู่บ้านสันติคีรี อำเภอแม่ฟ้าหลวง และหมู่บ้านแม่แอบ ที่อยู่ในอำเภอเชียงแสน ซึ่งแต่ละชนเผ่ามีความแตกต่างกันทั้งวัฒนธรรมและประเพณี โดยสะท้อนผ่านทางเสื้อผ้า ภาษา อาหาร และการละเล่นต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นชวนให้เราประทับใจไม่รู้ลืม

หมู่บ้าน “บ้านแม่แอบ” รวบรวมผู้คนไว้ทั้งหมด 5 ชนเผ่าด้วยกัน คือ ลาหู่หรือมูเซอ เดิมทีอาศัยอยู่ในประเทศจีนและอพยพมาอยู่ตอนเหนือของประเทศไทย จนเมื่อกองกำลังทหารจีนกองพล 93 ผ่านมาก็กวาดต้อนให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในกองทัพด้วย

อาหารชนเผ่า

ในช่วง “เทศกาลปีใหม่” หรือที่ชาวลาหู่เรียกว่า “กินวอ” จะมีการเต้นจะคึ เพื่อเป็นการต้อนรับแขกต่างหมู่บ้าน ต่างท้องถิ่นที่มาร่วมงาน โดยการเต้นจะคึจะเต้นไปตามจังหวะกลอง ฉิ่ง ฉาบ และฆ้อง ซึ่งท่าทางประกอบนั้นบอกถึงการทำมาหากินในชนเผ่า เช่น ท่าเกี่ยวข้าว ท่าตักข้าว และท่าตีข้าวนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าพืชผลที่พวกเขาหาได้ก็มาอยู่ในเมนูที่นักท่องเที่ยวอย่างเราห้ามพลาดด้วย นั่นคือข้าวปุ๊ก ลักษณะเป็นแป้งแผ่นกลมพับครึ่ง ทำจากข้าวเหนียวตำผสมกับถั่วงาพร้อมย่างไฟให้สุกหอม แล้วโรยน้ำตาลอ้อยรสหวานนวล ส่วนอีกเมนูคือวะซาเอเดหู่กือจาเว  เป็นเนื้อหมูสับผสมกับสมุนไพรต่างๆ แล้วนำไปใส่กระบอกไม้ไผ่เผาไฟจนสุกหอม ถ้าให้อร่อยสุดยอดต้องกินตอนร้อนๆ เลย

จากนั้นไปที่ชนเผ่าอาข่า ซึ่งมีบรรพบุรุษอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อกองกำลังทหารจีนกองพล 93 ผ่านมาก็กวาดต้อนให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในกองทัพด้วยเช่นกัน ตอนนี้คนในเผ่ามีผู้ชายน้อยมากเนื่องจากเสียชีวิตในการรบ ทำให้กิจกรรมต่างๆ ที่ใช้แรงงานก็ลดลงไปด้วย รวมถึงการทำอาหาร ถึงแม้จะมีเมนูไม่มากเท่าอีก 5 ชนเผ่า แต่จะแลคือที่สุดของอาหารที่นี่ ข้าวเหนียวบดจนละเอียดแล้วปั้นเป็นลูกกลมๆ ขนาดเท่าลูกชิ้น ต้มในน้ำเดือดปุดๆ ให้สุก คลุกเคล้ากับงาและน้ำตาล เรียกว่าเคี้ยวเพลินหนุบหนับสู้ฟันดี

อาข่า

อาข่า

ส่วนตัวเราชอบเครื่องแต่งกายของชนเผ่านี้ด้วย เพราะสีสันของชุดและเครื่องประดับต่างๆ ที่คนในเผ่านำมาจับคู่กันได้เหมาะเจาะ เวลามีการละเล่นประจำเผ่าอย่างโล้ชิงช้าหรือเต้นราวกระทบไม้ (ตาปาแตะ) เสื้อผ้าและของตกแต่งบนร่างกายยิ่งดูยิ่งพลิ้วไหวต้องตาต้องใจชวนเก็บภาพเอาไว้มากๆ

อาข่า

อาข่า

เช่นเดียวกับเครื่องแต่งกายของชนเผ่าลัวะหรือละว้า เสื้อสีฟ้าสดใส เก๋ตรงกระดุมที่จำลองขึ้นมาจากเงิน (เหรียญ) ของประเทศฝรั่งเศส จับคู่กับผ้าถุงสีชมพูสวย เวลาเราไปที่เผ่าทุกคนจะโชว์เต้นลัวะง่ายๆ แต่โดดไม่เหมือนใคร พร้อมต้อนรับด้วยเมนูเด็ดดวงใจคือข้าวซอยทรงเครื่อง หรือชื่อเข้ากรุงว่าพิซซาลัวะ เป็นแป้งนึ่งแผ่นกลมใส่ยอดถั่วลันเตา กะหล่ำปลีซอย และไข่ไก่ ส่วนอีกเมนูเป็นแป้งนึ่งแผ่นกลมแต่ไม่ใส่เครื่องเคราเรียกข้าวซอยน้อย เอาไว้กินกับน้ำพริกที่ทำจากหอมหัวใหญ่ ถั่ว พริก และอื่นๆ ผัดรวมกัน รสชาติจะออกเค็มๆ เปรี้ยวๆ มันๆ เจือรสเผ็ดนิดหน่อย รวมถึงข้าวต้มเขาควาย ข้าวเหนียวกับถั่วลิสงห่อใบไม้กวาด (ดอกเอาไปทำไม้กวาดนั่นเอง) เมื่อต้มสุกแล้วก็จิ้มกินกับน้ำตาล

ลัวะหรือละว้า

ลัวะหรือละว้า

ข้าวซอยน้อย

ข้าวต้มเขาควาย

ถ้าหากมาชนเผ่าไตใหญ่เราจะได้กินข้าวเหลืองอบไก่ พูดให้เข้าใจง่ายก็เหมือนเซ็ตข้าวเหนียวหมูหรือไก่บ้านเรา แต่ข้าวเหนียวของไตใหญ่จะหุงกับน้ำคั้นดอกไม้สีเหลืองที่เป็นสมุนไพรพื้นบ้าน กลิ่นหอมอ่อนๆ กินคู่กับอบไก่ ที่ทำจากไก่บ้านต้มกับสมุนไพร และผักอีเหม็ด ผักกาดพื้นเมืองที่ขึ้นปีละครั้ง เอามาดองเปรี้ยวกับเกลือและข้าวนาน 3 วัน เมื่อได้ที่ก็คั่วกับกระเทียมเจียวจนผักกรุบกรอบ รวมๆ แล้วเป็นรสชาติที่สดชื่นอย่าบอกใคร กินอิ่มแล้วก็ดูรำวงสามัคคี ฟ้อนดาบ และเสิน (คล้ายกับซอเมืองเหนือ) ของชนเผ่าก่อนไปต่อกันที่เผ่าจีนยูนนาน

เผ่าไตใหญ่

ข้าวเหลืองอบไก่

ข้าวเหลืองอบไก่

เผ่าไตใหญ่

ในชนเผ่าจีนยูนนานเป็นถิ่นที่อยู่ของกองกำลังทหารจีนกองพล 93 ที่นี่นอกจากขึ้นชื่อเรื่องการสู้รบแล้ว ยังทำเต้าหู้กันเก่งมาก ทั้งเต้าหู้ยี้ เต้าหู้เหม็น และน้ำเต้าหู้ (เผ่าอื่นๆ ก็ยังมาซื้อกันที่นี่) เพราะปลูกแบบไร้สารเคมีและรสชาติดีด้วย นอกนั้นจานเด่นขึ้นชื่อก็มีขนมไข่งาขาว รสนุ่มนวล ที่ใช้แค่แป้งกับไข่เป็นส่วนผสม บะหมี่เหลืองกินกับเต้าหู้ทรงเครื่อง และข้าวเหนียวเหลืองทรงเครื่อง เป็นการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างข้าวเหนียวสีเหลืองที่ได้จากน้ำดอกไม้กับแป้งข้าวเหนียวสอดไส้ถั่ว เอาไปคั่วและนึ่งรวมกัน เมนูนี้ก็เคี้ยวหนุบหนับสู้ฟันอีกเหมือนเคย

เต้าหู้ยี้ เต้าหู้เหม็น และน้ำเต้าหู้

เต้าหู้ยี้ เต้าหู้เหม็น และน้ำเต้าหู้

จีนยูนนาน

ข้าวเหนียวเหลืองทรงเครื่อง

หลังจากเราเที่ยว 5 หมู่บ้านชนเผ่าจนครบแล้ว ใกล้ๆ กันยังมีหมู่บ้านห้วยกว๊าน เป็นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชนเผ่าอิ้วเมี่ยน ซึ่งมีวัฒนธรรมการปักผ้าสืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ผ้าทอของหมู่บ้านนี้สวยงามต่างจากที่อื่นที่เราเคยเห็นมา ทั้งการจับคู่สีและลวดลายผ้าที่นำเอาสิ่งรอบตัวมาประยุกต์รวมกัน เช่น ลายหางช้าง หรือลายรอยเท้าสัตว์ ราคาก็จะขึ้นอยู่กับขนาดและลวดลายต่างๆ ของผ้า ซื้อขายกันผืนละเป็นหมื่นก็มี นอกจากนี้ยังมีอาหารที่น่าสนใจคือข้าวเหนียวปิ้ง 2 สี (เหลืองและดำ) ต่างกันนิดหน่อยตรงสีและกลิ่นหอมๆ ที่ได้จากธรรมชาติอย่างเปลือกไม้ นำมาแช่ผสมกับข้าวเหนียวจนออกสี แล้วค่อยใส่กระเทียมเจียวพร้อมเนื้อหมูลงไป จากนั้นห่อด้วยใบตองมัดให้แน่นตึง แล้วปิ้งบนเตาถ่านจนข้าวเหนียวสุกนุ่ม ทิ้งไว้ให้อุ่นแล้วบิเข้าปาก รับรองว่าอร่อยได้รสธรรมชาติปราศจากเคมี

ชนเผ่าอิ้วเมี่ยน

ชนเผ่าอิ้วเมี่ยน

ปิดท้ายที่ชุมชนอีสานล้านนา ท่าขันทอง ชุมชนชาวอีสานที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ที่เชียงแสนเมื่อ 50 กว่าปีก่อน โดยเริ่มมีการพัฒนาเป็นชุมชนท่องเที่ยวจนเข้าสู่มาตรฐานโฮมสเตย์ไทยในปี 2552 สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวนั้น ชาวบ้านได้นำวิถีชีวิตพื้นบ้านมาเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เช่น กิจกรรมทำอาหารพื้นบ้าน การสีข้าวด้วยมือ พาชมสวนเสาวรส และการทำชาถั่วดาวอินคาซึ่งเป็นอาชีพของชุมชน โดยเราจะได้นั่งรถอีต๊อกที่ใช้ขนผลผลิตการเกษตรทำกิจกรรมนั่นเอง

ชุมชนอีสานล้านนา ท่าขันทอง

ชุมชนอีสานล้านนา ท่าขันทอง

ชุมชนอีสานล้านนา ท่าขันทอง

ชุมชนอีสานล้านนา ท่าขันทอง

ใครสนใจกิจกรรมสนุกๆ แบบนี้ตั้งแต่เที่ยวชมชนเผ่า ตลอดจนนอนพักค้างคืนพร้อมทำกิจกรรมที่ชุมชนอีสานล้านนา ท่าขันทอง ติดต่อได้ที่กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบ้านแซว คุณเศรษฐศักดิ์ พรหมมา ปลัดเทศบาลตำบลบ้านแซว โทร. 08-1952-7058 ได้เลย


Tag: , ท่องเที่ยว, เชียงราย, เชียงแสน,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed