ผู้สูงอายุ ตามความหมายขององค์การสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก คือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเมื่อนับตามวัย หรือหมายถึงผู้เกษียณอายุจากการทำงานเมื่อนับตามสภาพเศรษฐกิจ
องค์การสหประชาชาติยังแบ่งกลุ่มของผู้สูงอายุตามสภาพร่างกาย การรับรู้ ความคิด ความจำ ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
- ผู้สูงอายุระยะต้น (Young-old) อายุระหว่าง 60-69 ปี
- ผู้สูงอายุระยะกลาง (Old-old) อายุระหว่าง 70-79 ปี
- ผู้สูงอายุระยะปลาย (Oldest-old) อายุ 80 ปีขึ้นไป
สถานการณ์ผู้สูงอายุในโลกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากอดีตที่ผ่านมา ปี พ.ศ.2533 โลกของเรามีประชากรสูงอายุร้อยละ 9 ในปี พ.ศ.2553 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11 และในปี พ.ศ.2562 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13 และจากการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ ในปี พ.ศ.2583 กว่า 1 ใน 5 ของประชากรโลกจะเป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าด้านการแพทย์และเทคโนโลยี ที่ทำให้คนมีอายุที่ยืนยาวขึ้น
ในปัจจุบัน ทวีปเอเชียเป็นทวีปที่มีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก คิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรทั้งทวีป โดยประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดคือ ประเทศญี่ปุ่น รองลงมาเป็นประเทศจีน จากรายงานการประมาณการประชากรของประเทศไทยปี พ.ศ.2553-2583 (ฉบับปรับปรุง) แสดงให้เห็นข้อมูลสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยชัดเจนมากขึ้น โดยในปี 2565 ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 20) และปี 2576 จะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 28)
อายุที่มากขึ้นย่อมนำมาสู่ความเสื่อมของร่างกายที่เพิ่มขึ้นตามมา ในผู้สูงอายุจึงมีปัญหาสุขภาพหรือโรคที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน โรคข้อเข่าเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์ จะเห็นได้ว่า เกินกว่าครึ่งเป็นโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับโภชนาการ โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง ที่การสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกายครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2557 ในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่พบความชุกของโรคความดันโลหิตสูงว่ามีการเพิ่มตามอายุที่มากขึ้นจากร้อยละ 4.0 ในกลุ่มอายุ 15-29 ปี เป็นร้อยละ 64.9 ในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป หากไม่ได้รับการดูแลรักษา ระดับความดันโลหิตที่สูงอยู่ตลอดเป็นระยะเวลานาน จะก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา นั่นก็คือโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และโรคไตเรื้อรัง นั่นเอง ดังนั้น การรับประทานอาหารจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดและชะลอความเสี่ยงของการเกิดโรคในผู้สูงอายุ
DASH Diet (Dietary Approaches to Stop Hypertension Diet) คือ แนวทางการบริโภคอาหารเพื่อป้องกันและรักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยลดการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมปริมาณมาก ได้แก่ อาหารแปรรูป อาหารหมักดอง และเครื่องปรุงรสต่างๆ ร่วมกับลดการรับประทานไขมันอิ่มตัว ไขมันรวมและคอเลสเตอรอลลง และเพิ่มการรับประทานโปรตีน ใยอาหาร (ผักและผลไม้) มากขึ้น จะเห็นได้ว่าหลักการรับประทานอาหารแบบ DASH Diet ไม่ได้ยุ่งยากหรือมีความซับซ้อน จึงอาจกล่าวได้ว่า DASH Diet เป็นแนวทางการรับประทานอาหารเพื่อดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของทุกกลุ่มอายุ สำหรับผู้สูงอายุการรับประทานโปรตีนมากขึ้นตามหลักการของ DASH Diet จะช่วยลดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อที่มักพบในกลุ่มวัยนี้ได้ หากปฏิบัติร่วมกับการออกกำลังกาย จะช่วยให้ผู้สูงอายุเคลื่อนไหวได้คล่องตัว สามารถทำกิจวัตรประจำวันและช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้นอีกด้วย
การเลือกรับประทานอาหารตามหลักของ DASH Diet ในหนึ่งวันจะมีการกำหนดสัดส่วนและประเภทของอาหารหมวดต่างๆ ดังนี้
- ธัญพืชชนิดต่างๆ (รวมถึงข้าว) เน้นเป็นธัญพืชชนิดไม่ขัดสี 7-8 ทัพพี
- เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น ปลา ไก่ เป็ด 4-6 ช้อนกินข้าว ให้หลีกเลี่ยงสัตว์เนื้อแดงและเนื้อสัตว์ติดมัน
- น้ำมันหรือไขมัน ไม่เกิน 6 ช้อนชา
- ผักประมาณ 4-5 ทัพพี และผลไม้ประมาณ 3-4 ส่วน (1 ส่วน ของผลไม้แต่ละชนิดไม่เท่ากัน เช่น ฝรั่ง 1 ลูก เงาะ 4 ผล มะละกอสุก 6-8 ชิ้นคำ เป็นต้น)
- ถั่วชนิดต่างๆ ประมาณ 4-5 ฝ่ามือ/สัปดาห์
- ขนมหวานรับประทานไม่เกิน 5 ส่วนบริโภค/สัปดาห์
- ใช้เครื่องเทศหรือสมุนไพรต่างๆ ในการเสริมรสชาติอาหารเพื่อลดการใช้เกลือหรือเครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมสูง
การเลือกรับประทานอาหารตามแบบ DASH Diet ได้รับการแนะนำจากสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) ให้เป็นแนวทางในการควบคุมโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ควรนำมาปรับใช้เพื่อการมีสุขภาพที่ดีได้
อ้างอิง :
- มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย. รายงานสถานการณ์ ผู้สูงอายุไทยประจำ ปี 2562. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล; 2563.
- อรพิชญา ศรีวรรโณภาส. โรคยอดฮิตที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 25 พ.ค. 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/infographic/โรคยอดฮิตที่พบบ่อยในผู/.
- วิชัย เอกพลากร, หทัยชนก พรรคเจริญ, กนิษฐา ไทยกล้า, วราภรณ์ เสถียรนพเก้า. การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ.2557. นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข; 2559.
- สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. โรคความดันโลหิตสูง [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 25 พ.ค. 2564]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaihypertension.org/information.html.
Tag:
Food for life, ผู้สูงอายุ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น