ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกตะวันตกเริ่มหันมาสนใจ “แมลง” มากขึ้น ในฐานะของโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ใหญ่ แต่แมลงก็เป็นของกินเล่นในหลายประเทศมานานแล้ว อย่างเช่นเมืองไทยบ้านเรา ที่ทุกคนก็คุ้นเคยกับร้านขายแมลงทอดตามตลาดนัดมาตั้งแต่จำความได้ หากแมลงจะกลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญในอนาคตจริงๆ แล้ว เราก็จะเป็น “ผู้มาก่อนกาล” ตัวจริงเสียงจริง
คนกินแมลง
หลักฐานการกินแมลงปรากฏในวัฒนธรรมจากแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา แมลงสามารถพบได้มากมายทั่วทั้งทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะที่ กินชาซา ประเทศคองโก มีหนอนผีเสื้อวางขายในตลาดตลอดทั้งปี โดยเฉลี่ยแล้วคนที่นั่นกินหนอนผีเสื้อประมาณ 300 กรัมต่อสัปดาห์เลยทีเดียว
ทางฝั่งละตินอเมริกา ฤดูฝนคือไฮซีซั่นในการตามล่าแมลง ไม่ว่าจะในหมู่ชนพื้นเมืองของเม็กซิโก กลุ่มนักล่าในป่าเขตร้อนทางตะวันตกเฉียงเหนือของอเมซอนในบราซิล หรือชนเผ่าพื้นเมืองแห่งโคลัมเบีย ต่างก็ออกจับแมลง มองหาด้วงงวงมะพร้าว (Rhynchophorus) และล่าตั๊กแตน (Chapulines) ในฤดูนี้ทั้งนั้น
ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแมลงกินได้อยู่ประมาณ 150 ถึง 200 ชนิด โดยเฉพาะในไทย เวียดนาม และเมียนมา แมลงเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารพื้นบ้านอีสานของไทยมานานแล้ว และหลังจากมีการเคลื่อนย้ายถิ่นของแรงงานไปยังจังหวัดอื่นๆ แมลงเลยกลายเป็นของกินเล่นที่พบเจอได้ทั่วไปในประเทศ นอกจากนี้ ในคนอินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา ก็กินแมลงไม่น้อยกว่า 50 ชนิด ส่วนปาปัวนิวกินีและหมู่เกาะแปซิฟิกเองก็มีบันทึกว่ากินแมลงอยู่ประมาณ 39 ชนิด
ปัจจุบัน มีแมลงกว่า 1,900 ชนิด ที่สามารถรับประทานได้ และแมลงที่คนทั่วโลกนิยมบริโภคมากที่สุดก็คือ
- ด้วง (Coleoptera) 31%
- หนอนผีเสื้อ (Lepidoptera) 18%
- ผึ้ง ตัวต่อ และมด (Hymenoptera) 14%
- จิ้งหรีดและตั๊กแตน (Orthoptera) 13%
- จั๊กจั่นและเพลี้ย (Hemiptera) 10%
- อื่นๆ เช่น ปลวก แมลงปอ และแมลงวัน 3%
ทำไมคนตะวันตกไม่กินแมลง?
คนจำนวนมากมีความเชื่อว่าแมลงคือศัตรูพืช แถมแมลงหลากหลายชนิดก็มีพฤติกรรมตามธรรมชาติที่มักอยู่ตามแหล่งสกปรก จึงไม่ควรนำมาเป็นอาหาร อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเลี้ยงแมลงถูกละเลยมาเนิ่นนาน
ทำไมต้องกินแมลง?
มีอยู่ 3 เหตุผลหลักที่ทำให้แมลงกลายเป็นแหล่งอาหารหลักสำหรับคนในอนาคต
- ด้านสุขภาพ : แมลงมีคุณค่าทางโภชนาการ ไม่ต่างจากแหล่งโปรตีนหลัก เช่น ไก่ หมู วัว และปลา สารอาหารหลักในแมลงนั้นก็คือ ไฟเบอร์ โปรตีน อีกทั้งมีแคลเซียม เหล็ก และสังกะสี สูง นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวและไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ซึ่งเป็นแหล่งไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ชั้นดี
- ด้านสิ่งแวดล้อม : แมลงเป็นอาหารที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแอมโมเนียน้อยกว่าปศุสัตว์ส่วนใหญ่ ใช้ที่ดินน้อยกว่า และต้องการอาหารน้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น ตั๊กแตน ที่กินอาหารน้อยกว่าวัว 12 เท่า น้อยกว่าแกะ 4 เท่า และยังน้อยกว่าหมูกับไก่ถึงครึ่งหนึ่ง เทียบกับการผลิตโปรตีนในปริมาณเท่ากัน อีกทั้งแมลงยังสามารถเจริญเติบโตได้ในแหล่งขยะอินทรีย์
- ด้านความอยู่ดีกินดี : การเลี้ยงแมลงใช้ต้นทุนต่ำ ไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ในเมืองหรือชนบท ก็สามารถเลี้ยงแมลง และหลุดพ้นจากความยากจนได้
มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้ริเริ่มในการขับเคลื่อนวงการแมลงกินได้ของเมืองไทย โดยเฉพาะจิ้งหรีด ปัจจุบันนี้การส่งเสริมและการให้ความรู้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้ส่งออกโปรตีนจากจิ้งหรีดระดับต้นๆ ของโลก ผ่านผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นจิ้งหรีดทอดกรอบ โปรตีนในรูปแบบผง และโปรตีนอัดเม็ด
แม้ว่ามนุษย์จะกินแมลงกันมาเนิ่นนาน แต่การวิจัยเรื่องแมลงกินได้ก็เป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น กระแสของอาหารทางเลือก และการส่งเสริมให้แมลงเป็น “โปรตีนแห่งความยั่งยืน” กลายเป็นประตูบานสำคัญที่ดึงดูดทัศนคติคนรุ่นใหม่ให้หันมาเพื่ออนาคตของโลกใบนี้
แหล่งข้อมูล :
- บทความ Insects as food - something for the future? โดย Anna Jansson และ Åsa Berggren
- บทความ Edible insects: future prospects for food and feed security โดย องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
- บทความ มข. ร่วม FAO เปิดตัวคู่มือทำฟาร์มจิ้งหรีด มาตรฐานความมั่นคงอาหารโลก โดย กองการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- บทความ Are Insects The Future Of Food? โดย Salama Yusuf
Tag:
Nice To Know, แมลง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น