อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : ทำไม 'พาสตา' ถึงเป็นที่อาหารจานโปรดของคนทั่วโลก
หากการทำอาหารเป็นพรสวรรค์ที่อยู่ในดีเอ็นเอของคนอิตาลีทุกคน พาสตาก็คงจะเป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในทุกช่วงชีวิต เชฟมานูเอลโล ปินโตเร เจ้าของ Giglio Trattoria Fiorentina ร้านพาสตาเส้นสดสไตล์ทัสคานในย่านสาทรกำลังยืนนวดแป้งทำเส้นพิซี (Pici เส้นพาสตายาวอวบอ้วน) บนเคาน์เตอร์สุดหรูหราในร้าน เขาฝึกทำพาสตามาตั้งแต่เด็กเพราะเป็นเมนูประจำบ้านที่แม่ คุณย่าและคุณยายมักทำกินที่บ้านเป็นประจำ
เขาบอกว่าการกินพาสตาฉบับต้นตำรับขนานแท้นั้นไม่ใช่อาหารจานหลักอย่างที่คนไทยคุ้นเคย ขั้นตอนการรับประทานอาหารแต่ละมื้อของคนอิตาเลียนจะเริ่มต้นด้วยอาหารเรียกน้ำย่อย ต่อด้วยแฮมหรือโคลด์คัตส์ จากนั้นจึงเป็นพาสตา แล้วต่อด้วยอาหารจานหลักซึ่งมักจะเป็นเนื้อสัตว์ ตบท้ายด้วยของหวาน แต่ในเมืองไทยกลับกลายเป็นอาหารจานหลักที่อิ่มท้องได้ในจานเดียว
“มักกะโรนี” เป็นพาสตาชนิดแรกที่คนไทยรู้จักจากเมนูมักกะโรนีอบเนยแข็ง (มักกะโรนีอบชีส) และแกงจืดแป้งอิตาลี (ซุปมักกะโรนี) จากตำราอาหารชาววังโบร่ำโบราณสายเยาวภา และตำราอาหารแม่ครัวหัวป่าก์ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยมีความคุ้นเคยกับการกินพาสตาเป็นอาหารจานเดียว เพราะเราไม่มีวัฒนธรรมในการรับประทานอาหารหลายขั้นตอนแบบตะวันตกอย่างจริงจัง
สงครามเวียดนามในศตวรรษที่ 20 ทำให้อาหารอิตาเลียนเข้ามามีบทบาทในเมืองไทยมากขึ้น ร้านพิซซาร้านแรกในประเทศไทยถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อขายให้กับทหารอเมริกันประจำการโดยเฉพาะ แน่นอนว่าเป็นพิซซาสไตล์อิตาเลียน-อเมริกัน (และแทบทุกร้านก็ปิดตัวลงทันทีที่สงครามยุติ) ภายหลังการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี ค.ศ. 1970 มีคนไทยเริ่มสนใจอาหารอิตาเลียนและทดลองเปิดร้านขึ้น พิซซาเป็นเมนูป๊อปปูล่าที่สุดในขณะนั้น มีการดัดแปลงไปอย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นพิซซาหน้าต้มยำกุ้งหรือพิซซาหน้าผัดเผ็ด ส่วนมักกะโรนีก็ยังเป็นพาสตาที่ได้รับความนิยมสูงสุด แต่ก็ผ่านการดัดแปลงจากเมนูดั้งเดิมในตำรับอาหารไทยเป็นการเสิร์ฟพร้อมซอสมะเขือเทศ หัวหอม และเนื้อสัตว์เช่นหมูและกุ้ง
ดูสูตรเมนูอร่อยได้ที่ : อร่อยเมนูสุขภาพแบบอิตาเลียน ญอกกีมันฝรั่งกับปลาหมึก
เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 พาสตาเส้นสดเป็นหนึ่งในกระแสมาแรงในเมืองไทยแบบฉุดไม่อยู่ หลังจากที่คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับบรรดาเส้นแห้งสารพัดรูปแบบ La Dotta น่าจะเป็นร้านพาสตาร้านแรกในไทยเลยก็ว่าได้ที่ดึงเอาเส้นสดมาเป็นจุดขายหลัก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 เป็นต้นมาคนกรุงเทพฯ จึงได้สัมผัสกับวัฒนธรรมและศิลปะด้านอาหารของอิตาลีในมุมมองใหม่ที่ลึกซึ้งมากขึ้น
คุณโชติพงษ์ ลีนุตพงษ์ เจ้าของร้าน La Dotta ผู้มีความหลงใหลอาหารตะวันตกเป็นทุนเดิมบอกว่าเสน่ห์ของพาสตาประกอบด้วย 3 อย่างหลักๆ คือ เรื่องของงานฝีมือ (Craftmanship) ด้วยกรรมวิธีการทำที่ดูเหมือนไม่ยากอะไรแต่กลับเปี่ยมด้วยรายละเอียดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสูตรของแป้ง การปรับสูตรให้เข้ากับวัตถุดิบในประเทศไทย ต่อมาคือความหลากหลาย (Variety) ทั้งในแง่ของรูปทรงและสีสันของเส้น ไปจนถึงรสชาติของซอสแต่ละชนิด และในด้านประวัติศาสตร์ (History) พาสตาในแต่ละแคว้นหรือแต่ละเมืองในอิตาลีก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามที่มาทางประวัติศาสตร์อันน่าสนใจ เช่น พาสตาทางเหนือมักจะมีส่วนผสมของไข่ รับประทานพร้อมชีส เพราะคนร่ำรวยกว่า และสิ่งแวดล้อมมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า ต่างจากพาสตาทางใต้ที่ส่วนผสมส่วนใหญ่เป็นผักมากกว่าเนื้อสัตว์เพราะคนยากจน
แต่สิ่งที่ทำให้พาสตาเส้นสดกลายเป็นจุดสนใจที่สุดในเวลานี้ไม่ใช่แค่เสน่ห์ทั้ง 3 อย่างเท่านั้น ด้วยสถานการณ์ทั่วโลกในปัจจุบันทำให้คนร้างราการท่องเที่ยวมาเป็นปี ผู้คนจึงเริ่มมองหาร้านอาหารต่างชาติที่ชูกรรมวิธีและรสชาติดั้งเดิมซึ่งสามารถทดแทนบรรยากาศการไปกินอาหารท้องถิ่นในต่างประเทศได้ พาสตาเส้นสดเป็นหนึ่งในนั้นที่คนกินจะได้ซึมซับรสชาติอิตาเลียนแบบโฮมเมดจริงๆ
ประกอบกับร้านพาสตาที่เริ่มผุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็ดจนกลายเป็นปรากฏการณ์ผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยลูกเล่นที่หลากหลายตั้งแต่หน้าตาของเส้นที่แปลกไปจากเส้นแห้งแบบเดิมๆ ไปจนถึงพาสตาคลุกชีสสดๆ ให้ลูกค้าดูกันถึงโต๊ะ จึงนับเป็นสีสันใหม่ของวงการพาสตาที่คนตื่นเต้นกับพาสตารูปแบบต่างๆ ที่ไม่ได้มีแค่ซอสมะเขือเทศ ซอสครีม หรือผัดขี้เมา
สุดท้ายคงหนีไม่พ้นแนวคิดการกินอาหารสดใหม่ อะไรที่ได้ชื่อว่าสดย่อมถูกมองว่ามีประโยชน์ ดีต่อสุขภาพ มีรสสัมผัสที่ดีกว่า อีกทั้งยังปราศจากสารกันบูด ต่างจากพาสตาเส้นแห้งที่วางอยู่บนชั้นขายของเป็นเวลานานเท่าไรแล้วก็ไม่รู้ ยิ่งทำด้วยมือแบบแฮนด์เมดที่กว่าจะผสมแป้ง ปั้น แล้วรีดออกมาได้แต่ละเส้นนั้นล้วนต้องใช้ทั้งความตั้งใจและเวลา
ดูสูตรเมนูอร่อยได้ที่ : ญอกกีบีตรูตกับริคอตตาและเห็ดหอมสด พาสต้ามันฝรั่งสีชมพูสวย ได้ประโยชน์
จึงไม่แปลกที่ทำให้พาสตาเส้นสดเป็นเสมือนอาหารอิตาเลียนอีกระดับที่คนทำต้องใส่ใจลงไปเพื่อให้คนกินได้ใจไปกับทุกๆ จาน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : "พาสตา" ต้นกำเนิด ที่มา และประวัติศาสตร์น่ารู้
Tag:
Cover story, พาสต้า
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น