จานโปรดของคนทั่วโลก พาสตาเดินทางออกนอกอิตาลีในช่วงศตวรรษที่ 20 ผู้อพยพชาวอิตาลีจำนวนมากละทิ้งบ้านเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มาตั้งรกรากที่ชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา จนถือกำเนิดเป็นอาหารสไตล์อิตาเลียน-อเมริกัน จึงนับเป็นช่วงเวลาที่โลกได้รู้จักกับพาสตาอย่างแท้จริง เส้นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดนอกดินแดนบ้านเกิดก็คือเส้นสปาเกตตีนั่นเอง
ความรักที่คนทั่วโลกมีต่อพาสตายิ่งฉายชัดขึ้นในปี ค.ศ. 2020 เมื่อทุกชีวิตหยุดชะงักด้วยวิกฤติโรคระบาด จากงานวิจัย “การบริโภคพาสตาในช่วงล็อกดาวน์” โดย Doxa แสดงให้เห็นว่า ผู้คนหันมากินพาสตามากขึ้นเป็น 1 ถึง 4 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะในอิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เหตุผลคือเก็บรักษาได้ง่ายและเก็บได้นาน (59%) คุ้มค่าและเป็นตัวเลือกที่เหมาะในยามยาก (40%) กินแล้วให้ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน (22%) และเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ (25%) การบริโภคที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกหมายความว่าพาสตาเป็นอาหารปราศจากอุปสรรคทางวัฒนธรรม ศาสนา และเศรษฐกิจอย่างสิ้นเชิง
ทุกวันนี้ทั่วโลกผลิตพาสตาราว 16 ล้านตันต่อปี ใครกันกินพาสตาเยอะที่สุด?
- คนอิตาลี 1 คน กินพาสตา 23.1 กิโลกรัมต่อปี
- คนสหรัฐอเมริกา 1 คน กินพาสตา 9 กิโลกรัมต่อปี
- คนฝรั่งเศสและเยอรมันกิน 1 คน กินพาสตา 8 กิโลกรัมต่อปี
- คนสหราชอาณาจักร 1 คน กินพาสตา 3.5 กิโลกรัมต่อปี
เรื่องน่าสนใจนอกเหนือจากปริมาณการบริโภคแล้ว แต่ละชนชาติก็มีรูปแบบของพาสตาที่ชื่นชอบแตกต่างกันไปอีกด้วย จากการวิจัยชิ้นเดียวกันนี้พบว่าชาวอิตาเลียนชอบพาสตาแบบสั้นและมีลาย ในขณะที่ชาวอังกฤษและชาวอเมริกันชอบพาสตาแบบเส้นยาว ชาวเยอรมันชอบแบบเส้นสดทั้งชนิดมีไส้และไม่มีไส้ ส่วนชาวฝรั่งเศสชื่นชอบพาสตาเส้นสั้นและเรียบ โดยพาสตาที่ผลิตในอิตาลียังคงเป็นตัวเลือกแรกที่เลือกซื้อ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : "พาสตา" ต้นกำเนิด ที่มา และประวัติศาสตร์น่ารู้
Tag:
Cover story, พาสต้า
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น