พาสตามาจากไหนกันแน่? ตำนานที่มีชื่อเสียงที่สุดคือการเดินทางของมาร์โค โปโล (Marco Polo) นักสำรวจในศตวรรษที่ 13 เขานำเส้นบะหมี่จากประเทศจีนไปเผยแพร่สู่อิตาลี แต่ก็มีทฤษฎีแย้งว่าเขาบันทึกถึงพืชชนิดหนึ่ง อาจจะเป็นต้นปาล์มสาคูที่ชาวจีนใช้ในการทำเส้น และมันทำให้เขาคิดถึงอาหารบ้านเกิดมากกว่า อีกเรื่องเล่าหนึ่งกล่าวว่าพ่อค้าอาหรับต่างหากที่นำพาสตาจากตะวันออกไปสู่เมดิเตอร์เรเนียน และยังริเริ่มใช้ข้าวสาลีดูรัมเป็นวัตถุดิบหลัก เมื่อแห้งแล้วยังเก็บรักษาได้นาน พกพาสะดวก เหมาะสำหรับการเดินทางไกล
ดูเหมือนว่าจุดเริ่มต้นของพาสตามาจากเอเชียจริงๆ แต่เรื่องราวทั้งหมดกลับวกไปที่อิตาลีอีกครั้งเมื่อพบหลักฐานทางโบราณคดีอารยธรรมอีทรัสคัน จากรูปปั้นนูนในหลุมศพแสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษของชาวอิตาเลียนบดธัญพืชแล้วผสมน้ำทำเส้นพาสตามานมนาน และยังปรากฏภาพเครื่องครัวทำเส้นพาสตาแบบต่างๆ ส่วนเส้นสปาเกตตี (Spaghetti) ที่ทำจากข้าวสาลีดูรัมก็ปรากฏหลักฐานว่าผลิตในซิซิลีทางตอนใต้ของอิตาลีเป็นเวลา 2 ศตวรรษก่อนที่มาร์โค โปโลจะเดินทางกลับจากประเทศจีนเสียอีก แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่ามาร์โค โปโลนำเส้นบะหมี่แปลกๆ จากเอเชียมาแนะนำให้คนตะวันตกได้รู้จักเช่นกัน
ศตวรรษที่ 14
ประวัติศาสตร์ของพาสตาเริ่มแจ่มชัดจากนิทานเรื่อง The Decameron เขียนโดย Boccaccio เป็นภาพของภูเขาพาร์เมซานชีสกำลังละลาย มีพ่อครัวนั่งทำเส้นราวิโอลีและมักกะโรนีแล้วม้วนลงไปยังกลุ่มคนผู้หิวโหย
ศตวรรษที่ 16
พาสตากลายเป็นอาหารของทุกคนไม่ว่าจนหรือรวย แต่จะแตกต่างกันตรงส่วนผสมที่หลากหลายกว่า และหลายครั้งก็แปลก เช่น ราวิโอลีฝีมือ Bartolomeo Scappi ที่ผสมผสานระหว่างหมูสามชั้นต้ม เต้านมวัว พาร์เมซาน ชีสสด และลูกเกด
ศตวรรษที่ 17
พาสตาเริ่มเป็นอาหารหลักของชาวเนเปิลส์ทางตอนใต้ของอิตาลี จากที่พวกเขาเคยมีชื่อเล่นว่า “คนกินใบไม้” ก็มีอีกชื่อเล่นเพิ่มว่า “คนกินมักกะโรนี” เนื่องจากข้าวสาลีที่ใช้ทำเส้นพาสตามีราคาถูก
ศตวรรษที่ 18
โรงงานพาสตาแห่งแรกถือกำเนิดขึ้นในเนเปิลส์โดยใช้เครื่องทอร์ซิโอ (Torchio) อัดแป้งออกมาเป็นเส้นแล้วนำไปอบแห้ง พาสตาเส้นแห้งกลายเป็นสินค้าที่หาได้ทั่วไปตามท้องตลาด เนเปิลส์จึงกลายเป็นเมืองหลวงของพาสตาไปโดยปริยาย
ศตวรรษที่ 20
คนไทยเริ่มรู้จักกับพาสตาเป็นครั้งแรกหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปและนำสูตรอาหารตะวันตกเข้ามาในประเทศ คนไทยในสมัยนั้นเรียกพาสตาว่า “แป้งอิตาลี” ปรากฏอยู่ในตำรับอาหารสายเยาวภา และตำราอาหารแม่ครัวหัวป่าก์ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : ทำไม 'พาสตา' ถึงเป็นที่อาหารจานโปรดของคนทั่วโลก
Tag:
Cover story, พาสต้า
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น