ฟีนูกรีก หรือลูกซัด (Fenugreek : Trigonella foenum-graecum Linn.) เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุสั้น อยู่ในวงศ์ Fabaceae ลำต้นตั้งตรงมีความสูง 50-60 เซนติเมตร ดอกสีขาวอมเหลือง ผลเป็นฝักยาว มีเมล็ดภายในฝัก คล้ายถั่วฝักยาว ในหนึ่งฝักมี 10-20 เมล็ด เมล็ดมีสีเหลืองทอง เพาะปลูกอย่างแพร่หลายทั้งในเอเชีย แอฟริกา และยุโรป
ลูกซัดถือเป็นเครื่องเทศที่ใช้ปรุงอาหารให้มีกลิ่นหอม และยังมีสรรพคุณเป็นยาพื้นบ้านอีกด้วย ในประเทศอินเดียใช้ใบของลูกซัดปรุงรสชาติอาหารหรือกินในรูปแบบผักใบเขียว ส่วนเมล็ดจะบดเป็นผงเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องแกงต่างๆ เช่น แกงกะหรี่ ชาวแอฟริกันใช้เป็นส่วนประกอบในการทำขนมปัง นอกจากนี้ยังมีใยอาหารชนิดละลายน้ำที่ช่วยเพิ่มคุณสมบัติทางโภชนาการและทางเคมีกายภาพของขนมปัง ในทางการแพทย์แผนจีนใช้ลูกซัดรักษาอาการบวมน้ำที่ขา รวมถึงการรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับปอด ไซนัส และอาการอาหารไม่ย่อย
มีการศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาของลูกซัดจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าลูกซัดมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดที่ผิดปกติได้ และมีส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพของเพศหญิง
ลูกซัดเป็นแหล่งของใยอาหารที่ดี ประกอบด้วยใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำร้อยละ 32 และใยอาหารชนิดละลายน้ำร้อยละ 13 ใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ใยอาหารชนิดนี้จะมีผลต่อระบบขับถ่าย โดยช่วยเพิ่มความอ่อนนุ่มให้กับอุจจาระ ส่วนใยอาหารชนิดละลายน้ำยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่หลอดเลือด จึงมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และพองตัวเป็นเจลในกระเพาะอาหารทำให้อิ่ม ลดความอยากอาหาร จึงช่วยควบคุมน้ำหนักตัวในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกินและอ้วน
เนื่องจากลูกซัดเป็นพืชตระกลูถั่วจึงมีองค์ประกอบของไนโตรเจนอยู่ในรูปของกรดอะมิโนหลายชนิด เช่น กรดแอสปาร์ติก (Aspartic Acid) กรดกลูตามิก (Glutamic Acid) ลิวซีน (Leucine) ไทโรซีน (Tyrosine) และฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) สารพฤกษเคมีที่พบส่วนใหญ่เป็นสารประกอบฟีนอลิกกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) และกรดฟีนอลิก (Phenolic Acid) เช่น เควอซิติน (Quercetin) ลูทีโอลิน (Luteolin) กรดคลอโรเจนิก (Chlorogenic Acid) สารสำคัญเหล่านี้ออกฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย หรืออาจเป็นอนุมูลอิสระที่ได้รับจากภายนอกก็ได้ เช่น ฝุ่น ควันบุหรี่ อาหารปิ้งย่าง อนุมูลอิสระนี้จะทำให้เซลล์เกิดความผิดปกติ ร่างกายมีการอักเสบ เซลล์เสื่อมสภาพและแก่ชราไวขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้ง่าย
สารสกัดจากเมล็ดลูกซัดกับภาวะสุขภาพของเพศหญิง ในหญิงให้นมบุตรพบว่าปริมาณน้ำนมเพิ่มมากขึ้น 4.29 เท่าใน 4 สัปดาห์เมื่อเทียบกับหญิงให้นมบุตรที่ไม่ได้รับประทานลูกซัด เนื่องจากสารประกอบทางเคมีที่สำคัญ ได้แก่ ไดออสจีนีน (Diosgenin) อะพิจีนีน (Apigenin) และลูทีโอลิน (Luteolin) ที่กระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้าให้ผลิตน้ำนมมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการร้อนวูบวาบและเหงื่อออกตอนกลางคืนของหญิงวัยหมดประจำเดือนได้
ข้อควรระวังในการรับประทานลูกซัดคือห้ามรับประทานในระหว่างตั้งครรภ์ เพราะมีฤทธิ์กระตุ้นการหดตัวของมดลูก อาจทำให้เสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนด
แหล่งข้อมูล
- Roberts KT. The potential of fenugreek (Trigonella foenum-graecum) as a functional food and nutraceutical and its effects on glycemia and lipidemia. J Med Food 2011;14:1485-1489.
- Basch E, Ulbricht C, Kuo G, Szapary P, Smith M. Therapeutic applications of fenugreek. Alter Med Rev 2003;8:20-27.
- Younesy S, Amiraliakbari S, Esmaeili S, Alavimajd H, Nouraei S. Effects of fenugreek seed on the severity and systemic symptoms of dysmenorrhea. J Reprod Infertil 2014;15:41-48.
- Bumrungpert A, Somboonpanyakul P, Pavadhgul P, Thaninthranon S. Effects of Fenugreek, Ginger, and Turmeric Supplementation on Human Milk Volume and Nutrient Content in Breastfeeding Mothers: A Randomized Double-Blind Controlled Trial. Breastfeeding Medicine 2018;13:1-6.
- Dietz BM, Hajirahimkhan A, Dunlap TL, et al. Botanicals and their bioactive phytochemicals for women’s health. Pharmacol Rev 2016;68:1026–1073.
- สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. สารสกัดเมล็ดลูกซัดช่วยลดอาการหมดประจำเดือนในผู้หญิงที่มีสุขภาพดี [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 24 ม.ค. 2564]. เข้าถึงได้จาก: http://medplant.mahidol.ac.th/active/shownews.asp?id=1436.
Tag:
Food for life, ลูกซัด
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น