“ทุกวันนี้อุณหภูมิของโลกรุนแรงขึ้นมาก แม้แต่ในวันนี้ที่เราเจอกันก็กลับมีลมหนาวทั้งๆ ที่จะเข้าสู่หน้าร้อนแล้ว” บทสนทนานี้เกิดขึ้นในเช้าวันหนึ่ง จริงอย่างที่คุณฝน-รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าว ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์แบบนี้นับว่าแปลกมากทีเดียวที่กรุงเทพฯ กลับมีลมเย็นๆ พัดโชยมา “เราอาจจะได้ยินกันมาว่าแก๊สเรือนกระจกนั้นมาจากการคมนาคมและโรงงานอุตสาหกรรม แต่ร้อยละ 26 หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของมลพิษทั้งหมดที่ปล่อยออกมานั้นล้วนมาจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร” เธอกล่าวเสริม
การเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ สิ่งปฏิกูลจากสัตว์ การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ หรือแม้แต่การปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ต่างก็มีส่วนทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนทั้งสิ้น หนึ่งในปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือฝุ่น PM2.5 ที่กลายเป็นปัญหามลพิษข้ามพรมแดนระหว่างไทย พม่า และลาว จากการวิจัยของกรีนพีซพบว่าการเผาในพื้นที่โล่งจากภาคการเกษตร โดยเฉพาะ “ข้าวโพด” นั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นพิษดังกล่าวในภาคเหนือของไทย
“ข้าวโพดเป็นพืชเชิงเดี่ยวที่นำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ในอุตสาหกรรมอาหาร เวลาเกษตรกรต้องการเคลียร์พื้นที่เพื่อปลูกข้าวโพดรอบใหม่เขาก็จะเผาไปเลยเพราะทำง่าย ประหยัดทั้งแรงและเวลา” คุณฝนกล่าวเสริม “ตัวเลขสถิติบ่งบอกชัดเจนว่ายิ่งมีการผลิตเนื้อสัตว์มากเท่าไร ยิ่งต้องใช้ข้าวโพดเยอะขึ้นเท่านั้น”
ไม่ใช่แค่การผลิตเนื้อหมู เนื้อไก่ หรือเนื้อวัวเท่านั้น เพราะอีกร้อยละ 31 ของมลพิษจากการผลิตอาหารทั้งหมดบนโลกใบนี้ตกอยู่กับการประมงที่จำเป็นต้องใช้น้ำมันในการออกเรือประมงปริมาณมหาศาล รวมถึงการสร้างพื้นที่เลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นอันดับต้นๆ และท้ายที่สุดก็อาจจะเกิดปัญหาเชื้อตกค้างและยาตกค้างตามมา ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างเราโดยตรง
การชะลอปัญหาโลกร้อนและลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสามารถทำได้ง่ายๆ เพียงเริ่มจากปัจเจก Less is More : ลดเพื่อเพิ่ม เป็นหนึ่งในการรณรงค์หลักของกรีนพีซที่เรียกร้องให้ทั่วโลกลดการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ลงร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2050 พร้อมตั้งคำถามว่า “เราจะกินอะไรดี” เพื่อความอยู่รอดของโลก
“เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองไปเป็นมังสวิรัติ เพียงแค่เพิ่มสัดส่วนของผักเข้าไปในมื้ออาหาร อาจจะกินเพียงแค่สัปดาห์ละ 1 วัน หรือเดือนละ 1 วันก็ได้ และไตร่ตรองถึงที่มาของเนื้อสัตว์ให้มากขึ้น” แน่นอนเมื่อคนบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลงย่อมส่งผลเป็นลูกโซ่ไปถึงการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ที่จะน้อยลงตามไปด้วย และปัญหาของมลพิษที่เกิดจากพื้นที่เลี้ยงสัตว์และการเผาเคลียร์พืชที่เพาะปลูกก็จะน้อยลง ซึ่งในท้ายที่สุดคุณฝนก็ยังย้ำกับเราอีกหลายต่อหลายครั้งว่า “เรามีพลังในการเลือกกิน”
คำตอบของคำถามว่า “กินอะไรดีในหน้าร้อนนี้” จะไม่ใช่การกินเพื่อคลายความร้อนที่มาปะทะกับร่างกายเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แม้การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราได้ใช้ชีวิตที่ยืนยาวอยู่บนโลกใบนี้อย่างยั่งยืน
Tag:
Cover story
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น