จะเห็นแล้วว่าบรรดาอาหารที่กินกันในฤดูร้อนมักจะมาพร้อมกับความเย็น แต่บรรดาน้ำแข็งไส ไอศกรีม และอีกสารพัดเมนูเย็นถึงใจสามารถดับความร้อนในร่างกายได้อย่างที่เราเชื่อกันมาตลอดจริงหรือไม่?
“แพทย์แผนไทยจะมองกายวิภาคเป็นเรื่องของธาตุ” หมอเบลล์-อัคคฤทธิ์ ภูถนอม แพทย์แผนไทยแห่งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก บอกกับเราเช่นนั้น ธาตุในร่างกายเราประกอบไปด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ ตามคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยของแพทย์แผนไทย ได้มีการกล่าวถึงโรคที่มักจะเกิดขึ้นตามฤดูกาล ซึ่งฤดูร้อนของไทยจะเริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 4 ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตลอดช่วงเวลานี้จะมีอากาศร้อนแรงเป็นพิเศษ “คนที่มีธาตุไฟเป็นธาตุเจ้าเรือนจะเป็นไข้ได้ง่าย หรือเป็นสิวได้ง่ายมาก”
ขณะเดียวกันทางการแพทย์แผนจีนนั้นจะมองหยินหยางเป็นพื้นฐานของทุกอย่าง แม้ว่าศาสตร์จากเมืองจีนจะอ้างอิงฤดูกาลตามอย่างประเทศจีนที่ประกอบไปด้วย 4 ฤดู ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว แต่ในบริบทเมืองไทยนั้นอาจจะพูดได้ว่าเป็นฤดูร้อนแทบจะทั้งปี หมอต้น-ต้นสกุล สังข์ทอง แพทย์แผนจีนแห่งคลินิกอายุรกรรม-ระบบทางเดินอาหาร การแพทย์แผนจีนหัวเฉียว บอกว่า “ในฤดูร้อนหยางจะสูงขึ้น ทำให้ขาดความสมดุล ร่างกายจะร้อนจากภายใน จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมถึงมีเหงื่อออกเยอะ”
ธรรมชาติมีผลต่อร่างกายของคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในโรคยอดฮิตที่มากับอากาศร้อนๆ คืออุจจาระร่วง ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ แต่หากพูดถึงเรื่องสุขภาพภายในที่ขาดสมดุลไปจะมีอะไรช่วยป้องกันได้บ้าง?
การกินของที่มีอุณหภูมิเย็นเพื่อดับร้อนดูจะไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุดอย่างที่เราเคยเชื่อกันมา คุณหมอเบลล์แพทย์แผนไทยเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าการกินของเย็นมากๆ ในหน้าร้อนก็คล้ายกับการอาบน้ำเย็นทันทีหลังจากออกกำลังกายเสร็จใหม่ๆ ที่อาจส่งผลให้ร่างกายทำงานเร็วเกินไปจนขาดความสมดุล ในทางแพทย์แผนจีนก็มีความเห็นเช่นเดียวกัน เพราะหมอต้นแนะนำว่าในหน้าร้อนให้ระวังความเย็นที่จะมากระทบต่อร่างกาย “เมื่อเรากินของเย็นเข้าไปบ่อยๆ แล้วความเย็นที่สะสมไปถึงจุดๆ หนึ่งจะก่อความชื้นในร่างกายจนเราป่วยได้” หมอต้นบอกว่าอาการที่พบเห็นได้ทั่วไปคืออ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ซึ่งความชื้นนี้สามารถสังเกตได้จากฝ้าบนลิ้น และในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะหรือลำไส้อยู่แล้วก็อาจจะเกิดอาการอาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ตามมาได้ด้วย
สมุนไพรที่มีรสขมและจืดคือตัวเลือกที่หมอเบลล์แนะนำให้กินในหน้าร้อน เพราะเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็นช่วยดับร้อนได้ดี เช่น ตำลึง ฟัก แฟง แตง บวบ ขี้เหล็ก มะระ และสะเดา ต้องขอบคุณภูมิปัญญาของคนไทยที่นำสมุนไพรเหล่านี้มาประกอบเป็นเมนูอาหารสุดหลากหลาย
ส่วนเครื่องดื่มที่เหมาะสำหรับฤดูร้อน เช่น น้ำแตงโม น้ำใบบัวบก และน้ำลอยดอกมะลิ ทั้งหมดล้วนมีฤทธิ์เย็นช่วยคลายร้อนได้ทั้งนั้น สอดคล้องกับทางการแพทย์แผนจีนที่แนะนำไปในทิศทางเดียวกันว่าถ้าอยากดับร้อนต้องกินของขมหรือจืด เพราะแพทย์แผนจีนเชื่อว่ารสขมจะเป็นรสที่เข้าสู่เส้นของหัวใจซึ่งเป็นธาตุไฟ นอกจากของขมอย่างมะระกับใบขี้เหล็กแล้ว ใบยอหรือดอกแคก็ช่วยได้ไม่น้อย “แต่ถ้าใครไม่โปรดปรานรสขมๆ ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นอาหารเพื่อเสริมหยินในร่างกายแทน เช่น สาลี่ พุทรา ฮ่วยซัว (กลอยจีน) น้ำเก๊กฮวย ก็เป็นอีกตัวเลือกดับร้อนที่ดีไม่แพ้กัน”
Tag:
Cover story
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น