ปกติคนเราจะมีน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง 70-100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์ที่กล่าวไปข้างต้นถือว่าอาจมีความผิดปกติทางร่างกายเกิดขึ้น
หลังการกินอาหารในกลุ่มของข้าว-แป้ง และน้ำตาล เช่น ข้าวสวย ขนมปัง เผือก มัน ก๋วยเตี๋ยว นม น้ำหวาน ร่างกายจะย่อยอาหารเหล่านั้นให้เป็นสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต โดยมีหน่วยเล็กที่สุดที่ร่างกายสามารถดูดซึมและนำไปใช้ประโยชน์ได้นั่นก็คือน้ำตาลกลูโคส ทำให้หลังกินอาหารระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นตามชนิดและปริมาณของอาหาร ร่างกายจึงมีกลไกในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในสภาวะสมดุลด้วยการทำงานของอินซูลินที่หลั่งจากตับอ่อนซึ่งเป็นตัวขนส่งน้ำตาลจากเลือดเข้าสู่เซลล์เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายเพื่อสร้างเป็นพลังงานต่อไป ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดกลับเข้าสู่ภาวะปกตินั่นเอง ในผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นประจำอาจทำให้เซลล์ที่ตอบสนองต่ออินซูลินในการนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ทำหน้าที่ลดลง ทำให้เกิดเป็นภาวะที่เรียกว่าดื้อต่ออินซูลิน จนนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวานนั่นเอง
จากการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ (BRFSS) ปี พ.ศ. 2547-2561 พบความชุกของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 11.6 โดยผู้ที่มีปัญหาภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหากไม่ได้รับการดูแลรักษาหรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ส่งผลต่อระบบประสาท หลอดเลือด และอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น จอประสาทตาเสื่อม ไตเสื่อม ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในภาวะปกติจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ยิ่งในผู้ที่เป็นเบาหวานแล้วมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงยิ่งต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
จากกลไกการควบคุมสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นได้ว่าวิธีที่สามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้โดยตรงก็คือการเลือกกินอาหารและกินในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย คำนึงถึงชนิดและส่วนประกอบของอาหารทั้งในแง่ของการส่งเสริมและยับยั้งการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด อาหารไทยส่วนใหญ่ประกอบด้วยเครื่องเทศหรือสมุนไพรที่มีสารสำคัญทำหน้าที่ออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ในสมุนไพรต่างชนิดกันก็จะมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต่อร่างกายต่างกันออกไป “ขิง” เป็นสมุนไพรที่ให้รสชาติความเผ็ดร้อนชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ประกอบอาหารทั้งในรูปของขิงแก่ที่พบในอาหารคาว เครื่องดื่ม ขนม เช่น ผัดเนื้อสัตว์กับขิง ต้มยำใส่ขิง น้ำขิง มันต้มขิง ถั่วเขียวต้มขิง และขิงอ่อนที่ใช้เป็นผักเครื่องเคียงกินกับน้ำพริก นอกจากจะช่วยเพิ่มความเผ็ดร้อนให้กับอาหารแล้วยังมีสรรพคุณทางยาที่หลากหลาย เช่น ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ช่วยขับลมในลำไส้ และการศึกษาสรรพคุณทางยาในปัจจุบันพบว่าขิงมีส่วนช่วยลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย
มีการศึกษาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเกี่ยวกับผลของการบริโภคขิงในผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 และผู้ที่มีภาวะเมตาบอลิกซินโดรม โดยที่ผลของการศึกษาพบว่าขิงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารและลดน้ำตาลสะสม (HbA1c) ได้ โดยการทำหน้าที่ของสารพฤกษเคมีที่สำคัญในขิงคือจินเจอรอล (Gingerol) และโชกาออล (Shogaol) ที่นอกจากจะให้รสเผ็ดร้อนและกลิ่นฉุนแล้วยังช่วยกระตุ้นการเผาผลาญกลูโคสในร่างกายผ่านกลไกการส่งเสริมการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินและการทำงานของตัวขนส่งกลูโคส (Glucose Transporter) ที่ทำงานประสานกับฮอร์โมนอินซูลินอยู่เดิมให้นำกลูโคสเข้าสู่เซลล์เนื้อเยื่อได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้สารสกัดจินเจอรอลที่ได้จากขิงยังช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของเซลล์ตับอ่อนที่มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินอีกด้วย ส่วนการลดลงของระดับน้ำตาลสะสมในเลือดจะเห็นผลได้ชัดเจนเมื่อมีการบริโภคขิงเป็นระยะเวลานาน และยังมีงานวิจัยที่ส่งเสริมให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานบริโภคขิงหรือน้ำขิงร่วมกับมื้ออาหารเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดการเกิดภาวะข้างเคียงจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง
ในผู้ที่เป็นเบาหวานและกินยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อความปลอดภัยหากต้องการกินขิงในปริมาณสูงหรือสารสกัดจากขิงในรูปแบบอาหารเสริมต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกำหนดอาหารเพื่อความปลอดภัยและทำให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพสูงสุด
แหล่งข้อมูล
- Lee JO, Kim N, Lee HJ, Moon JW, Lee SK, Kim SJ, et al. Gingerol affects glucose metabolism by dual regulation via the ampkα2-mediated as160- rab5 pathway and ampk-mediated insulin sensitizing effects. J Cell Biochem 2015;116:1401–10.
- Wei CK, Tsai YH, Korinek M, Hung PH, Shazly ME, Cheng YB, et al. 6-paradol and 6- shogaol, the pungent compounds of ginger, promote glucose utilization in adipocytes and myotubes, and 6-paradol reduces blood glucose in high-fat diet-fed mice. Int J Mol Sci 2017;18:168.
- Li YM, Tran VH, Duke CC, Roufogalis BD. Gingerols of zingiber ofcinale enhance glucose uptake by increasing cell surface GLUT4 in cultured L6 myotubes. Planta Med 2012;78:1549–55.
- Chakraborty D, Mukherjee A, Sikdar S, Paul A, Ghosh S, Khuda-Bukhsh AR. [6]-Gingerol isolated from ginger attenuates sodium arsenite induced oxidative stress and plays a corrective role in improving insulin signaling in mice. Toxicology Lett 2012;210:34–43.
Tag:
Food for life, ขิง, สมุนไพร
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น