เดินเท้าตามรอยชุมชนย่านประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นมายาวนานนับตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ตามตรอกซอกซอยแคบๆ ดูวกวนประหนึ่งเขาวงกตนี้ ปัจจุบันยังคงเป็นบ้านของเหล่าลูกหลานชาวโปรตุเกสที่ยังสืบทอดวัฒนธรรมของบรรพบุรุษเอาไว้อย่างเหนียวแน่น
เราหยุดเท้ากันอยู่ตรงหน้าพระบรมธาตุมหาเจดีย์ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินเท้าเข้าสู่ชุมชนกุฎีจีนในครั้งนี้ เราเลยถือโอกาสแวะขึ้นไปสักการะองค์พระเจดีย์กันก่อน นอกจากภาพภายนอกที่ตระการตาด้วยสถาปัตยกรรมสูงใหญ่กว่า 60 เมตร สีขาวบริสุทธิ์ ภายในยังมีความชาญฉลาดของการใช้เสาอิฐแกนกลางเพื่อเป็นเสาหลักขององค์เจดีย์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีให้ชมที่นี่เท่านั้น
เมื่อเดินข้ามถนนเทศบาลสาย 1 และมุ่งหน้าเข้าสู่ซอยกุฎีจีน 1 ใช้เวลาทั้งหมดไม่เกิน 5 นาที จากบรรยากาศของวัดพุทธก็เปลี่ยนเป็นโบสถ์คริสต์ทันที บ่งบอกให้รู้ว่าตอนนี้เรามาถึงชุมชนกุฎีจีนแล้ว
วัดซางตาครู้ส มีอีกชื่อเรียกว่าวัดกุฎีจีน เพราะตั้งอยู่คู่กับชุมชนแห่งนี้มานานกว่าร้อยปีแล้ว ไม่ว่าใครที่มาเยือนต้องมาเริ่มต้นที่ตรงนี้ก่อนเสมอ บรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงสายๆ ช่างเงียบสงบ เชิญชวนให้เราอ้อยอิ่งอยู่หน้าโบสถ์แห่งนี้อีกพักใหญ่เพื่อชื่นชมความงดงามของสถาปัตยกรรมเรอเนสซองส์สุดคลาสสิก โดยปกติแล้วโบสถ์จะเปิดให้ผู้มาเยือนเข้าชมได้โดยไม่เกี่ยงศาสนาซึ่งเป็นเรื่องดีที่สุด เพราะบรรดากระจกสีด้านในนั้นตื่นตาตื่นใจจนไม่อยากให้ใครพลาดชมเลยล่ะ
พี่ปิ่น-ปิ่นทอง วงษ์สกุล ประธานชุมชนกุฎีจีนต้อนรับเราอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เธออยู่ในชุดแปลกตา เสื้อสีขาว กระโปรงยาวถึงข้อเท้า ทับด้วยผ้ากันเปื้อนสีแดงสดเช่นเดียวกับสีของผ้าโพกหัว เธอบอกว่านี่คือชุดพื้นเมืองของสตรีชาวโปรตุเกส เพราะกุฎีจีนเป็นชุมชนของลูกหลานชาวโปรตุเกสที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สิ้นสุดยุคกรุงศรีอยุธยา แม้คนรุ่นปัจจุบันจะแทบไม่มีเค้าโครงของชาวตะวันตกหลงเหลืออยู่แล้ว แต่ในชุมชนก็ยังมีมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจวบจนทุกวันนี้ หนึ่งคือโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่เราได้ไปเยือนมาแล้ว และสองคือขนมฝรั่งกุฎีจีนที่ใครต่อใครก็ต้องรู้จัก
ห่างไปไม่ไกลจากวัดซางตาครู้ส ตรอกทางเข้าเล็กๆ พาเราเข้าไปสู่ร้านขนมฝรั่งหลานแม่เป้า ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของทายาทรุ่นที่ 5 และยังคงสืบทอดกรรมวิธีโบราณดั้งเดิมเอาไว้ ขนมฝรั่งกุฎีจีนก็คือขนมเค้กที่ชาวโปรตุเกสในสมัยก่อนนำมาปรับให้เข้ากับวัตถุดิบในไทย ส่วนผสมแรกจึงมีเพียงไข่เป็ด น้ำตาลทราย และแป้งสาลี เรียกกันว่า “ขนมฝรั่ง” ต่อมาก็รับวัฒนธรรมจีนเข้ามาเสริม เป็นบรรดาผลไม้ตกแต่งบนหน้าขนม เช่น ลูกเกดและลูกพลับ ตั้งแต่นั้นมาเราเลยรู้จักขนมชนิดนี้ในชื่อขนมฝรั่งกุฎีจีนนั่นเอง
ในร้านขนมฝรั่งอันร้อนระอุด้วยเตาถ่านโบราณ ขนมสีน้ำตาลทองส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่ว ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการได้ลิ้มรสขนมอบร้อนๆ ที่เพิ่งออกจากเตาอีกแล้วในนาทีนี้
บ้านเรือนของผู้คนเบียดตัวอยู่รอบๆ ถนนสายแคบ ตามผนังแต่งแต้มไปด้วยภาพวาดหลากสีสันหลายลายเส้น บางแห่งก็เป็นงานกระเบื้องเคลือบเรียงต่อๆ กันจนเป็นรูปร่างขึ้นมา ชวนให้การเดินเตร็ดเตร่ไปเรื่อยๆ ไม่น่าเบื่อเลยสักนิดเดียว
จริงอยู่ที่ชุมชนกุฎีจีนเป็นชุมชนลูกหลานชาวโปรตุเกสในกรุงเทพฯ แต่เราก็ยังสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของวัฒนธรรมไทยโบราณ ซึ่งที่บ้านสกุลทองร้านอาหารไทยโบราณเพียงหนึ่งเดียวของชุมชนแห่งนี้ก็เป็นตัวแทนที่ดีที่สุดในการบอกเล่าเรื่องราวผ่านจานอาหารสไตล์ไทย-โปรตุเกส โดยมีพี่แตน-ขนิษฐา สกุลทอง แม่ครัวใหญ่และเจ้าของร้านเสิร์ฟหมูสร่ง ช่อม่วง และขนมจีบนกเพื่อต้อนรับเรา
วันนี้เธออยู่ในชุดไทยสีม่วงดูทะมัดทะแมง พลางอธิบายถึงที่มาของอาหารจานหลักในครั้งนี้ ซึ่งก็คือ ขนมจีนแกงไก่คั่วว่าเป็นเมนูที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสปาเกตตีไวต์ซอส แต่เนื่องจากประเทศไทยในสมัยก่อนไม่มีวัตถุดิบในการทำเมนูดังกล่าว คนโปรตุเกสจึงปรับมาใช้เส้นขนมจีนราดด้วยน้ำแกงกะทิหอมมัน ซึ่งกลายเป็นของหากินยากแล้วในปัจจุบัน
เพียง 2-3 ก้าวจากร้านบ้านสกุลทองเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีนที่ซุกซ่อนอยู่ในบ้านไม้สีขาวสะอาดตา บริเวณชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์เปิดเป็นคาเฟ่ที่มาพร้อมพื้นที่สวนสีเขียวแสนร่มรื่น เหมาะแก่การมานั่งหลบแดดในยามบ่าย เราไม่พลาดที่จะสั่งขนมปังสัพแหยกมาลิ้มลอง เพราะนี่คือหนึ่งในเมนูอาหารที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาหารโปรตุเกส เป็นขนมปังนุ่มๆ ใส่ไส้หมูสับ มันฝรั่ง และเครื่องเทศ รสชาติคล้ายไส้กะหรี่ปั๊บ ส่วนบริเวณชั้น 2 และ 3 ของบ้านเป็นพื้นที่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนผ่านภาพถ่ายและข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ และด้านบนสุดของบ้านมีชั้นลอยเล็กๆ ให้ขึ้นไปกินลมชมวิวได้ด้วย
ชุมชนกุฎีจีนไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก แต่กลับมีอะไรให้เข้าไปสำรวจอยู่เต็มไปหมด หนึ่งในนั้นคือเรือนจันทนภาพ บ้านไม้สักทองสไตล์วิกตอเรียนอายุไม่ต่ำกว่า 120 ปี ป้าแดง-จารุภา จันทนภาพ ออกมารอต้อนรับเราบนระเบียงชั้น 2 ของบ้าน “เดินขึ้นบันไดชิดขวาไว้นะคะ เพราะบันไดเก่าแล้ว” เธอกล่าวเตือนอย่างใจดี เสียงเอี๊ยดอ๊าดและความโคลงเคลงเล็กน้อยชวนให้ตื่นเต้นตั้งแต่ขึ้นบ้านเลยทีเดียว
ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของบ้านหลังนี้มีเหตุการณ์สำคัญๆ หลายอย่างเกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2494 เกิดการต่อสู้ที่บริเวณสะพานพุทธและแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างรอยกระสุนทะลุผ่านบานหน้าต่างและบานกระจกตู้เก็บของในบ้าน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมองเห็นได้ชัดเจนอยู่
กุฎีจีนเป็นชุมชนที่รวม 3 ศาสนาเข้าไว้ด้วยกัน จากที่เราเริ่มต้นกันที่วัดพุทธ ต่อด้วยโบสถ์คริสต์ และสถานที่สุดท้ายที่เราได้ไปเยือนก็คือศาลเจ้าจีนชื่อว่าศาลเจ้าเกียนอันเกง เพียงเดินออกมาจากด้านหน้าของวัดซางตาครู้สแล้วเลี้ยวซ้ายลัดเลาะไปตามทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะพบกับศาลเจ้าเก่าแก่อันมีประวัติความเป็นมายาวนานพอๆ กับชุมชน ว่ากันว่าสร้างขึ้นจากชาวจีนฮกเกี้ยนที่ติดตามสมเด็จพระเจ้าตากสินมาและได้สร้างศาลเจ้าไว้ ณ ที่แห่งนี้ และเมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 3 ก็มีการบูรณะครั้งใหญ่จนกลายเป็นศาลเจ้าที่เห็นกันในปัจจุบัน
ความวิจิตรของศาลเจ้าเกียนอันเกงได้รับการยกย่องจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นในปี พ.ศ. 2551 ด้วยภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ไม้แกะสลัก และหลังคาโค้งตามรูปแบบจีนแท้ๆ ส่วนภายในเป็นที่ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม บรรยากาศรอบๆ ศาลเจ้าเงียบสงบ มีเพียงช่างฝีมืออยู่ 2-3 คนบนนั่งร้านที่กำลังเก็บรายละเอียดภาพจิตรกรรมฝาผนังอย่างจดจ่อ
ฝนเริ่มลงเม็ดไปทั่วเมื่อเราเดินออกจากศาลเจ้าเกียนอันเกง แต่เพียงไม่นานก็เริ่มซาลง เราอยู่ภายใต้ร่มคันเล็กบนทางเดินคับแคบริมแม่น้ำเจ้าพระยา เรือข้ามฟากมาเทียบท่าคอยทำหน้าที่รับส่งผู้คนอย่างไม่ขาดตกบกพร่องแม้สายฝนจะยังคงโปรยปราย...
ถือเป็นการสิ้นสุดการเดินทางในวันนี้ได้อย่างเย็นชุ่มฉ่ำไปถึงหัวใจ
Tag:
travel, ชุมชนกุฎีจีน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น