ผู้คนต่างพากันสำรวจกรุงเทพฯ ในแนวราบตั้งแต่เหนือจรดใต้และตะวันออกจรดตะวันตกจนแทบไม่มีจุดไหนที่เข้าไม่ถึง แต่เมื่อการสร้างรถไฟฟ้าได้ขุดเจาะพื้นที่ของกรุงเทพมหานครลงไปใต้ดินก็นับเป็นโอกาสดีที่จะได้สำรวจกรุงเทพฯ ในแนวดิ่ง...ลึกลงไปภายใต้ฐานคอนกรีตกันบ้าง
นับตั้งแต่มีการเปิดตัวสถานีสนามไชยใหม่ๆ ผู้คนต่างก็ฮือฮาไปกับความตระการตาของสถาปัตยกรรมภายในรูปแบบท้องพระโรง เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกลายเป็นประตูสู่เกาะรัตนโกสินทร์ของกรุงเทพฯ ที่ทำให้การเดินทางไปเยือนย่านเก่าอันทรงคุณค่าของกรุงเทพฯ นั้นง่ายดายและประหยัดเวลาไปอีกหลายเท่าตัว โดยสถานีรถไฟฟ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ลึกลงไปบริเวณด้านล่างของ “มิวเซียมสยาม” แบบพอดิบพอดี
มิวเซียมสยามเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เรื่องราวความเป็นไทย ตั้งอยู่ภายในอาคารกระทรวงพาณิชย์หลังเก่าบนถนนสนามไชย จากการบูรณะซ่อมแซมอาคารแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ.2549 ก็ค้นพบสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเศษกระเบื้อง เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบ เครื่องแก้ว เกือกม้า โครงกระดูกวัว ไปจนถึงร่องรอยของวังเก่าที่ถูกฝังกลบอยู่ภายใต้หน้าดินบริเวณโดยรอบอาคาร
Site Museum หรือมิวเซียมใต้ดินสถานีสนามไชย พิพิธภัณฑ์น้องใหม่แห่งเกาะรัตนโกสินทร์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต่อยอดมาจากมิวเซียมสยาม โดยยกเอาบรรดาวัตถุโบราณที่ค้นพบเหล่านั้นมาจัดแสดงภายในพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ที่มากไปกว่านั้นยังเจาะลึกลงไปที่การค้นพบ “คลองราก” ฐานรากรองรับน้ำหนักผนังที่ทำจากไม้ซุงเรียงต่อกัน ทำให้รู้ว่าบนตำแหน่งที่ตั้งของมิวเซียมสยามและสถานีสนามไชยเคยเป็นท้องพระโรงของวังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช หรือที่ผู้คนในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกกันว่า “วังท้ายวัด” มาก่อน สาเหตุที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะว่า กลุ่มวังแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามนั่นเอง และในการขุดค้นครั้งนี้ยังพบบันไดทางขึ้นสู่ท้องพระโรง สูงประมาณ 3-5 ขั้น และหลุมเสารองรับหลังคาหน้าจั่ว เมื่อนำมาปะติดปะต่อกันแล้วเลยทำให้คนรุ่นใหม่ยังพอจินตนาการถึงภาพวังในสมัยก่อนได้ชัดเจนขึ้น
นอกจากร่องรอยพื้นที่ทับซ้อนของวังเก่าก็มีบางสิ่งที่ไม่น่าพบเจอได้ในบริเวณนี้อย่างเปลือกหอยโข่ง จำนวนมหาศาล เนื่องจากความแวววาวของมันผู้คนในสมัยก่อนมักนำมาทำเป็นเครื่องประดับ ซึ่งตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่าวังท้ายวัดเป็นศูนย์รวมงานหัตถศิลป์ของไทย หนึ่งในนั้นคือ “กรมช่างมุก” ซึ่งมีหน้าที่ทำเครื่องประดับมุกโดยเฉพาะ หนึ่งในมรดกงานศิลปะสุดวิจิตรที่สร้างจากเปลือกหอยโข่งนี้คือบานประตูมุกอุโบสถวัดราชบพิธฯ สันนิษฐานว่าเป็นผลงานของช่างในกรมช่างมุกสมัยรัชกาลที่ 5
ณ ใจกลางของ Site Museum คือสะพานพื้นกระจกใสที่เปรียบเสมือนเส้นทางนำผู้มาเยือนไปสำรวจพื้นที่จำลองการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างใกล้ชิด มาพร้อมป้ายให้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมควบคู่กันขนาบอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง นอกจากนี้ในพื้นที่อื่นๆ ยังมีสื่อให้ความรู้สุดทันสมัยมาคอยบอกเล่าเรื่องราวบนหน้าจอชวนให้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์นั้นน่าสนใจมากขึ้น และมีคิวอาร์โค้ดให้สแกนเพื่อเปิดคลิปวิดีโอแนะนำพิพิธภัณฑ์รับชมผ่านสมาร์ทโฟนได้ทันที
แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่อยู่ลึกลงไปในชั้นใต้ดินของกรุงเทพมหานคร แต่ Site Museum ก็เป็นพื้นที่แสนล้ำค่าที่ให้ทุกคนเข้ามาเปิดกว้างรับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป
Note : การเดินทาง
- เดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน เมื่อเดินทางมาถึงสถานีสนามไชยแล้วใช้ทางออกที่ 1 จะพบกับ Site Museum อยู่ทางซ้ายมือ
Tag:
Places, พิพิธภัณฑ์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น