หลายคนเข้าใจว่าภาวะวัยทองเป็นเรื่องปกติ และทุกคนต้องเป็นและมีอาการเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วอาการวัยทองจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล และจะมากหรือน้อยแตกต่างกัน การมีโภชนาการที่ดีจะเป็นตัวช่วยหลักตัวหนึ่งที่จะลดอาการของวัยทอง ซึ่งทำให้เกิดความไม่สบายทั้งร่างกายและจิตใจได้
อาการที่สามารถพบได้
- อาการร้อนวูบวาบตามตัว เหงื่อไหล มักเป็นตอนกลางคืน
- รู้สึกใจสั่น เต้นเร็วและแรง ทำให้รู้สึกกังวล
- อาการนอนไม่หลับ (แม้จะไม่มีอาการร้อนวูบวาบ)
- อารมณ์ขึ้นลงไม่แน่นอน หงุดหงิดและแปรปรวนได้ง่าย
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น มาบ่อย มาน้อยลง หรือมากกว่าปกติ
- ความสนใจทางเพศลดลง และรู้สึกเจ็บปวดเวลาร่วมเพศเนื่องจากน้ำหล่อลื่นลดน้อยลง
- ความจำเสื่อมลง หลงลืมได้ง่าย
- เกิดความผิดปกติกับระบบย่อยอาหาร ท้องอืด แน่นท้อง ท้องผูก
- เกิดความผิดปกติกับระบบทางเดินปัสสาวะ กลั้นปัสสาวะได้ไม่ดี
สาเหตุ : เป็นเพราะการลดระดับของฮอร์โมนเพศทั้งผู้หญิง (Estrogen) และผู้ชาย (Testosterone) ในผู้หญิงรังไข่จะเริ่มฝ่อและไม่สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน (Menopause) สำหรับในผู้ชาย อัณฑะจะค่อยๆ เสื่อมมากขึ้น ฉะนั้นระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะค่อยๆ ลดลง
กลุ่มวัย : ผู้หญิงอายุ 45-49 ปี ผู้ชายอายุ 40-59 ปี
ภาวะแทรกซ้อนที่สามารถพบได้ : กระดูกพรุน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัลไซเมอร์ มะเร็งลำไส้ใหญ่
ตัวชี้วัด : เมื่อมีอาการดังกล่าวที่สงสัยว่าจะเข้าสู่วัยทองควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายให้แน่ใจว่าเกิดจากภาวะเข้าสู่วัยทองหรือไม่ เพื่อแพทย์จะได้รักษาได้อย่างถูกต้อง เพราะในบางรายอาจต้องมีการให้ฮอร์โมนเสริมหรือต้องให้ยาเฉพาะ
การรักษาทั่วไป
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง
- ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ไม่เครียด ถ้าเครียดควรหาวิธีคลายเครียด เช่น เล่นกีฬา ฟังเพลง อ่านหนังสือ ชมภาพยนตร์
โภชนบำบัด
- เน้นอาหารไขมันต่ำ เลี่ยงการทอด กินผักและผลไม้ไม่หวานจัดเป็นประจำ
- กินอาหารที่มีวิตามินซี พบมากในผลไม้รสเปรี้ยว ช่วยป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระที่คอยทำลายเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นช้าลง ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน วิตามินอีพบในน้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันงา น้ำมันข้าวโพด ออกฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และควรได้รับวิตามินดีเพียงพอ (จากอาหารและแสงแดด)
- กินอาหารที่มีแคลเซียม (ความต้องการแคลเซียมวันละ 1,500 มิลลิกรัม) แหล่งของแคลเซียม เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากนม ปลาตัวเล็กตัวน้อยที่กินทั้งกระดูก ผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า ผักกะหล่ำใบเขียว เต้าหู้ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว (ต้องคำนึงถึงการเสื่อมของระบบการดูดซึมสารอาหารด้วย)
- กินอาหารที่มีส่วนประกอบของเอสโตรเจนจากพืชซึ่งพบในถั่วเหลือง ถั่วงอก เต้าหู้ นมถั่วเหลือง เมล็ดพืช เช่น เมล็ดทานตะวัน หรือพบในผัก ผลไม้ เช่น กระเทียม แครอต
Tag:
Food for life, วัยทอง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น