ในช่วงเวลานี้คงไม่มีเรื่องใดที่ผู้คนจะให้ความสนใจได้เท่ากับการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโควิด-19 (COVID-19) โดยเฉพาะเรื่องวัคซีนที่กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก
ครั้งนี้เราชวนผู้อ่าน G&C ไปทำความรู้จักเรื่องราวของ “วัคซีน” แบบครอบคลุมเพื่อให้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าวัคซีนคืออะไร และทำงานอย่างไร ผ่านการพูดคุยกับศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพรรณี ปิติสุทธิธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการทดสอบวัคซีน และหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อมานานกว่า 36 ปี ผลงานที่โดดเด่นและสำคัญของคุณหมอคือการวิจัยพัฒนาวัคซีนทางคลินิก วัคซีนป้องกันโรคเอดส์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของไทยอีกด้วย
Note : วัคซีนคืออะไร
วัคซีน (Vaccine) คือสารชีววัตถุ หรือแอนติเจน (Antigen) ที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วทำให้เกิดภูมิต้านทานและป้องกันโรคได้ หรือบางกรณีรักษาโรคได้
|
โลกเราผ่านด่านโรคภัยมานับครั้งไม่ถ้วน คุณหมอเล่าย้อนถึงประวัติการคิดค้นวัคซีนโดยสังเขปว่าเกิดขึ้นราวปี พ.ศ. 2539 ตั้งแต่สมัยไข้ทรพิษระบาด เมื่อศาสตราจารย์เอดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) ชาวอังกฤษได้ตั้งข้อสังเกตว่าแม้จะมีโรคไข้ทรพิษระบาด แต่หญิงรีดนมวัวที่เคยเป็นไข้ฝีดาษแล้วจะไม่เป็นโรคไข้ทรพิษ นี่จึงเป็นที่มาของการคิดค้นการใช้ Cowpox Vaccine เพื่อเป็นวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ ซึ่งต่อมานำไปสู่การพัฒนาเรื่องวัคซีนไปในอีกหลายระดับ
วัคซีนมีได้หลายชนิดหากแบ่งตามนิยามดั้งเดิม หรือ Classic Vaccinology คุณหมออธิบายว่ามีทั้งวัคซีนที่ได้จากเชื้อตาย วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ และวัคซีนที่ทำจากพิษที่อ่อนฤทธิ์หรือส่วนของพิษไม่ก่อโรคแต่ไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิต้านทานเพื่อป้องกันโรค เช่น วัคซีนโรคหัดเยอรมัน เป็นวัคซีนแบบเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ส่วนวัคซีนโปลิโอมีแบบหยอดซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ แต่แบบฉีดนั้นเป็นวัคซีนเชื้อตาย เป็นต้น
“แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้เทคโนโลยีก้าวไปไกลมาก นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุได้แม้กระทั่งยีนของไวรัสทั้งตัว จากคอนเซ็ปต์ทางด้านยีนนี่เองที่นำไปสู่ ‘ยุคใหม่ของวัคซีน’ โดยใช้คอนเซ็ปต์ Reverse Vaccinology มีการพัฒนาวัคซีน DNA วัคซีน mRNA หรือคิดวัคซีนโดยวิธีการใหม่ที่นำเอาเชื้อที่ไม่ก่อโรคในคนมาตัดบางส่วนออกแล้วใส่ยีนของเชื้อนั้นๆ ที่ต้องการป้องกัน ซึ่งไม่ใช่ยีนที่ก่อโรคแต่สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานได้ เชื้อที่มียีนที่เป็นพาหะตัวนี้เรียกว่า “เวคเตอร์” (เวคเตอร์ – เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ก่อโรคในคน หรือไม่ได้ทำให้เกิดอาการรุนแรงในคน) เพื่อนำชิ้นส่วนยีนกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานที่ต้องการ”
เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ “โควิด-19” (COVID-19)” จึงเป็นโรคที่เกิดขึ้นในยุคคอนเซ็ปต์การคิดค้นวัคซีนใหม่ด้วยเทคโนโลยีใหม่นั่นเอง
“ที่จริงแล้วการคิดค้นวัคซีนใหม่แต่ละตัวนั้นใช้เวลาศึกษาเป็น 10 ปีนะคะ เพราะต้องผ่านหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการนำไปตรวจในห้องทดลอง หรือตรวจหาความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง หาขนาดที่เหมาะสมที่จะกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทาน ดูขนาดความปลอดภัย รวมถึงดูภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นว่ามีแนวโน้มที่จะป้องกันโรคได้มากน้อยเพียงใด จากนั้นเมื่อนำเข้าสู่ร่างกายของคนแล้วยังต้องแบ่งการศึกษาออกเป็นอีก 4 เฟสด้วยกัน
“เฟสแรกคือการทดสอบครั้งแรกในคน ส่วนเฟสที่ 2 จะถูกแบ่งออกเป็น 2A คือดูว่าวัคซีนสามารถที่จะกระตุ้นภูมิได้ดีตามเกณฑ์ที่คาดหวังไว้หรือไม่ และมีความปลอดภัยหรือไม่ เมื่อผ่าน 2A แล้วจึงเข้าสู่ 2B คือดูว่ามีแนวโน้มที่จะได้ผลไหม และถ้ามีแนวโน้มจะได้ผลแน่ๆ จึงไปสู่เฟสที่ 3 เพื่อนำผลไปขอขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยา (อย.) ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับขนาดจำนวนกลุ่มที่ทำการศึกษา การศึกษาวิจัยทางคลินิก มีหลักเกณฑ์มาตรฐานสากลได้รับการยอมรับและถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์และหลักจริยธรรม มีคณะกรรมการจริยธรรม องค์การอาหารและยา และคณะกรรมการติดตามข้อมูลด้านความปลอดภัยของวัคซีน มากำกับดูแลว่าถูกต้อง เมื่อผลออกมามีประสิทธิผลยอมรับได้ อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นน้อยเป็นที่ยอมรับได้ตามหลักสากลจึงจะให้ขึ้นทะเบียน
“ส่วนเฟสที่ 4 คือการใช้วัคซีนหลังได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนจำหน่าย มีการใช้วัคซีนเพื่อป้องกันในประชากรเป็นแสนเป็นล้านคน อย่างไรก็ดีจะต้องมีการเก็บและรายงานข้อมูลด้านความปลอดภัยจากการใช้จริง เช่น ขณะนี้มีวัคซีนโควิดของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) บริษัทโมเดอร์นา (Moderna) และแอสตร้าเซนเนก้า (Astra Zeneca) ขึ้นทะเบียนใช้ทั่วไป เนื่องจากเป็นวัคซีนที่เพิ่งได้รับทะเบียนอนุมัติยังต้องมีการเก็บข้อมูลด้านความปลอดภัยต่ออีกหลายปี และต้องรายงานองค์การอาหารและยาเข้าไปอยู่ระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยของวัคซีนใหม่ หรือเรียกว่าระบบ AEFI”
ส่วนคำถามที่หลายคนสงสัยว่าเหตุใดวัคซีนโควิดจึงสามารถผลิตออกมาได้อย่างรวดเร็วแม้เป็นโรคใหม่ คุณหมอได้ไขข้อสงสัยแล้วว่าเป็นเพราะวัคซีนโควิดใช้คอนเซ็ปต์วัคซีนเดียวกับที่นักวิจัยเคยทำวิจัยโรคอื่นมาก่อนแล้ว
“เชื้อโควิดเป็นโคโรนาไวรัสคล้ายๆ เชื้อที่ก่อโรคเมอร์สนะคะ เพียงแต่คนละสายพันธุ์ ซึ่งเรามีงานวิจัยเรื่องเมอร์สอยู่ก่อนแล้ว ส่วนโรคเอดส์เราก็มีวัคซีนที่มีคอนเซ็ปต์เดียวกัน เป็นแพลตฟอร์มที่มีการศึกษามาก่อน ฉะนั้นเมื่อเราทราบโครงสร้างยีนเราก็แค่สังเคราะห์ยีนใส่เข้าไปในเวคเตอร์ หรือแล้วแต่คอนเซ็ปต์ที่จะใช้ โดยทั่วไป ‘ส่วนเปลือก’ ของไวรัสน่าจะเป็นส่วนที่สามารถกระตุ้นภูมิได้ดี นักวิทยาศาสตร์จึงนำเอาชิ้นส่วนเปลือกใส่ในเวคเตอร์ ดังนั้นองค์การอาหารและยาจึงสามารถอนุมัติให้ดำเนินการทดสอบวัคซีนทางคลินิกได้ แต่ถ้าเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ก็จะทำไม่ได้เร็วขนาดนี้”
เราถามต่อว่าประสิทธิผลของวัคซีนโควิดที่ดีในมุมมองของคุณหมอนั้นควรป้องกันได้มากแค่ไหน คุณหมอให้คำตอบว่าระบุเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เพราะการใช้วัคซีนโควิดต้องมีการประเมินหลายด้านด้วยกันทั้งข้อมูลด้านความปลอดภัย ข้อมูลด้านประสิทธิผล รวมถึงสถานการณ์การระบาดของโรค และความจำเป็นที่จะต้องใช้ แต่ทั้งนี้การมีวัคซีนที่มีประสิทธิผลสูงย่อมดีที่สุด
“เราต้องชั่งน้ำหนักว่าวัคซีนนั้นๆ มีประสิทธิผลและความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน สถานการณ์การระบาดเป็นอย่างไร มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอย่างไร การใช้วัคซีนจึงขึ้นอยู่กับประโยชน์และความเสี่ยง ป้องกันโรคได้ขนาดไหน อีกปัจจัยสำคัญคือกลุ่มเป้าหมายว่าวัคซีนมีความปลอดภัยที่จะให้ได้ในกลุ่มไหนบ้าง
“อย่างเมื่อก่อนมีอหิวาต์ระบาดเยอะมากประมาณ พ.ศ. 2502 วัคซีนเชื้อตายสมัยนั้นสามารถป้องกันโรคได้เพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่เนื่องจากมีมาตรการอย่างอื่นร่วมด้วย มีน้ำสะอาด มีคลอรีน มีการทำประปาที่ดี มีเรื่องสุขอนามัยด้านอาหารที่มาช่วยควบคุมการระบาดของโรค ตลอดจนมียารักษาลดการแพร่เชื้อได้ ส่วนการป้องกันโควิด-19 เรามีอะไรล่ะ เรามีหน้ากากอนามัย มีเจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ มีเว้นระยะห่าง Social Distancing
“เพราะฉะนั้นหมอไม่ได้มองแค่ปัจจัยเดียว แต่ละประเทศควรต้องมีนโยบายของประเทศนั้นๆ เพราะบริบทการระบาดไม่เหมือนกัน กลุ่มประชากรต่างกัน ความสามารถหาซื้อวัคซีนได้ต่างกัน หมอจึงอยากให้คอนเซ็ปต์เรื่องการควบคุมการระบาดของโรคด้วยวัคซีนและการป้องกันว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำร่วมกัน ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และองค์ความรู้ที่เกิดขึ้น รวมถึงการนำสิ่งที่มีอยู่ในมือมาใช้ก่อนหากมีข้อมูลเพียงพอ”
ส่วนคำถามที่เกิดขึ้นในใจหลายคนว่าเราควรฉีดวัคซีนหรือไม่ และมีข้อระวังอย่างไรบ้าง คุณหมอได้ให้คำตอบไว้ว่า “วัคซีนเป็นมาตรการที่สำคัญในการควบคุมการระบาดของโรค แต่ทั้งนี้การรับวัคซีนเป็นเรื่องส่วนบุคคล หน้าที่ของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น คุณเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งรัฐบาลเองก็มีผู้เชี่ยวชาญช่วยให้ข้อมูลในบริบทของรัฐอยู่แล้ว หมอคิดว่าเราต้องเข้าใจว่ามาตรการทั้งหลายสามารถปรับเปลี่ยนได้ เราต้องดูว่ามีอะไรอยู่ในมือและจะนำมาบูรณาการอย่างไรให้ดีที่สุดในสถานการณ์ของเรา
“เรื่องการแพ้วัคซีนมีหลายคนกังวล ต้องบอกว่า mRNA เป็นวัคซีนตัวแรกที่ขึ้นทะเบียนใช้ในสถานการณ์ที่กำลังระบาดและเป็นวัคซีนตัวแรกที่ใช้คอนเซ็ปต์นี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในโลกเลยก็ว่าได้ ฉะนั้นอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นอย่างการปวดศีรษะ เป็นไข้ มีปวดเมื่อยตามตัว ถามว่าแปลกไหม ในคอนเซ็ปต์ของนักวิชาการไม่ได้แปลก ต้องตามดูข้อมูลตลอดเวลา แต่ทั้งนี้จะรับหรือไม่รับวัคซีนก็ขึ้นอยู่กับร่างกายกลุ่มเป้าหมายด้วยว่าสุขภาพแข็งแรงไหม ป่วยอยู่หรือไม่ อายุมากเกินไปหรือไม่”
เนื่องจากวัคซีนที่กำลังจะออกมายังมีจำนวนจำกัดและมีน้อยชนิด กลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีนจึงเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยง แต่ในอนาคตอันใกล้นี้เมื่อวัคซีนมีจำนวนมากขึ้นและมีหลายชนิดขึ้นก็อาจจะมีการขยายกลุ่ม ทำให้มีโอกาสรับวัคซีนมากขึ้นด้วย ซึ่งคุณหมอให้ความเห็นว่าเมื่อถึงเวลานั้นการให้วัคซีนกับเด็กและหนุ่มสาวก่อนก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน
“ในที่สุดโรคโควิด-19 ก็จะเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ (เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1) ตอนที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ระบาดในปี ค.ศ. 2009 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก ขณะนี้กลายเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดตามฤดูกาล โคโรนาเองก็อาจจะเป็นอย่างนั้น นอกจากเรื่องวัคซีน ผู้คนก็จะมีภูมิคุ้มกัน ในที่สุดก็จะกลายเป็นโรคหนึ่งในสภาวะปกติ ฉะนั้นข้อมูลทุกอย่างเป็นเรื่องของปัจจุบัน ตอนนี้เรานำข้อมูลที่เคยศึกษาวิจัยมาวิเคราะห์เพื่อให้การตัดสินใจในเรื่องนโยบายปัจจุบันรอบคอบที่สุด และเมื่อมีข้อมูลใหม่มาเราก็ต้องปรับนโยบายตามข้อมูลใหม่ด้วย”
สุดท้ายคุณหมอแนะนำวิธีดูแลตัวเองสำหรับผู้อ่าน G&C ให้ห่างไกลโควิด-19 ระหว่างรอวัคซีนว่าต้องสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และให้ความสำคัญกับ Social Distancing อย่างเคร่งครัด
“สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อกลับถึงบ้านคืออาบน้ำให้สะอาด หน้ากากอนามัยที่ใช้ภายนอกบ้านก็ถอดทิ้งไปในภาชนะที่เหมาะสม และหากในบ้านมีความจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยด้วยก็ควรใส่ รวมถึงหมั่นทำความสะอาดทั้งที่บ้านและออฟฟิศด้วยยาฆ่าเชื้อบ้างก็ดี หรืออาจใช้น้ำสบู่ ผงซักฟอก ไฮเตอร์ หรือเดทตอลก็ได้ค่ะ”
ส่วนอาหารการกินนั้นต้องรอผลยืนยันบ่งชี้ว่าสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้จริง แต่เป็นเรื่องที่นักวิจัยกำลังศึกษาอยู่และอาจมีผลออกมาเร็วๆ นี้
ขอขอบคุณ : ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพรรณี ปิติสุทธิธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการทดสอบวัคซีน และหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
Tag:
วัคซีน, โควิด-19
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น