คุยเรื่อง “มาชิมกัญ” เมนูอาหารจากกัญชาโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

วันที่ 20 มกราคม 2564  10,419 Views

เรียกเสียงฮือฮาได้ตั้งแต่เปิดตัว สำหรับเมนู “มาชิมกัญ” เมนูอาหารจากกัญชาโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ที่ถูกพูดถึงและแชร์ต่อมากมายในโลกโซเชียล เพื่อให้เข้าใจที่มาของเมนูเหล่านี้ให้มากขึ้น เราสอบถามเพิ่มเติมไปยัง พท.ป.เบญจวรรณ หมายมั่น แพทย์แผนไทยประยุกต์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารข้อมูลศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งคุณหมอได้ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ

เมนูอาหารจากกัญชาโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

“โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นหน่วยงานนำร่องด้านการพัฒนาและการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ปัจจุบันได้พัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์จากกัญชา ในส่วนที่ได้ปลดล็อกจากการเป็นยาเสพติด เราจึงเห็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมุนไพรในรูปแบบของอาหาร โดยการใช้ใบของกัญชามาปรุงอาหาร เครื่องดื่ม และขนม โดยมอบให้ทางอภัยภูเบศร เดย์ สปา ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านภูมิปัญญาสมุนไพรได้เริ่มต้นพัฒนาเมนูจากกัญชาบนพื้นฐานความปลอดภัยตามหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เราได้ทำการศึกษา”

เมนูอาหารจากกัญชาโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ข้อมูลสำคัญ :
คุณหมอได้ให้ข้อมูลและข้อควรระวังสำหรับบุคคลทั่วไปในการกินอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชาว่า สารออกฤทธิ์สำคัญในกัญชาคือ delta-9-tetra-hydrocanabinol (THC) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือชาวบ้านเรียกว่า “สารเมา” และ สาร cannabidiol (CBD) ที่ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

ใน ใบสด ของกัญชาที่เพิ่งเด็ดมาจากต้นจะไม่มีสารเมา แต่จะพบสาร cannabidiolic acid (CBDA) และ Tetrahydrocannabinolic acid หรือ THCA ซึ่งไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ไม่เมา) เมื่อถูกแสงและความร้อนทั้งจากการปรุงและเก็บรักษาจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลง โดยสาร THCA จะถูกเปลี่ยนเป็นสาร THC หรือ สารเมา ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อการดูดซึมสารเมานี้ได้ เช่น อายุความแก่ของใบกัญชา วิธีการปรุง การผ่านความร้อนสูง หรืออาหารที่มีไขมันสูงก็จะมีผลทำให้สารเมามีมากขึ้น รวมถึงน้ำหนักตัวและปริมาณไขมันในร่างกายของผู้บริโภค ยิ่งมีมากก็มีแนวโน้มที่จะสะสมสารเมาในชั้นไขมันได้นานขึ้น

สำหรับประโยชน์เชิงสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้จะมีการศึกษาพบว่าในใบสดของกัญชา ตัวสารTHCA ก็มีสรรพคุณทางยาเช่นกัน แต่ยังเป็นการศึกษาในระดับเริ่มต้นทั้งสิ้น ยังต้องรองานวิจัยสนับสนุนอีกมาก ซึ่งเบื้องต้นพบฤทธิ์ลดอักเสบ ปกป้องสมอง ต้านการชัก ต้านอาเจียน แต่การนำมาปรุงเป็นอาหาร เครื่องดื่มและขนมนี้ยังไม่สามารถคาดหวังถึงผลทางสุขภาพหรือด้านการรักษาโรคได้ ประโยชน์ที่อาจจะได้จากตัวสมุนไพรคือ ช่วยเจริญอาหาร ผ่อนคลาย ช่วยนอนหลับ แต่ไม่มีผลรักษาโรคได้ตามที่กล่าวมาข้างต้น

เมนูอาหารจากกัญชาโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

นอกจากนี้ ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังกินกัญชาคือ คือ ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน มึนงง วิงเวียน ปวดหัว ใจเต้นเร็ว อาจเกิดอาการได้ในช่วง 30 นาที หรือ 3 ชั่วโมงหลังกิน ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณสารที่ได้รับและปัจจัยของตัวบุคคลนั้นๆ หากมีอาการมึนงงภูมิปัญญาพื้นบ้านใช้น้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งดื่มบรรเทาอาการ

ผู้ไม่ควรบริโภคกัญชา ได้แก่ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ผู้มีภาวะตับและไตบกพร่อง หญิงตั้งครรภ์ให้นมบุตร ผู้ป่วยที่กินยาวาร์ฟาริน ผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่กินยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เพราะอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดีได้จากการใช้กัญชา

ซึ่ง 4 เมนูแรกที่เราได้เห็นกันแล้วคือ เล้งแซ่บซดเพลิน ซุปกระดูกหมูใช้ใบกัญชาเป็นตัวช่วยชูรสและเป็นเมนูที่ใช้ความร้อนสูงในการปรุงจึงใส่ปริมาณใบเพียงครึ่งใบ ข้าวกะเพราสุขใจ เมนูนี้ใช้วิธีปรุงผ่านความร้อนเช่นกันจึงใส่ใบกัญชาครึ่งใบ

เมนูอาหารจากกัญชาโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

เมนูอาหารจากกัญชาโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ขนมปังคิกคัก ขนมปังหน้าหมูที่ปรุงสำเร็จวางบนขนมปังอบและใบกัญชาแผ่นละ 1 ใบ นำลงไปทอดในน้ำมัน เมนูนี้จะมีปริมาณสาร THC สูงขึ้นกว่า 2 เมนูแรก แนะนำให้เริ่มกินปริมาณน้อยก่อน และรื่นเริงบันเทิงยำ เป็นการนำใบกัญชา ชุบแป้งทอดกรอบ ลงทอดในน้ำมัน ใช้เวลาทอดไม่นาน เป็นเมนูที่มีปริมาณใบกัญชามากที่สุดคือ 5 ใบ ต่อจาน

เมนูอาหารจากกัญชาโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

เมนูอาหารจากกัญชาโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ส่วนเมนูที่ทางโรงพยาบาลกำลังพัฒนาเพิ่มเติมคือก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น,น้ำซู่ซ่า ร่าเริง (น้ำชาผสมกับโซดามะนาวและน้ำคั้นจากใบกัญชาสดที่ไม่มีสารเมา) ของกินเล่นอย่าง คุกกี้, ชอร์ตเบรด และขนมปังกรอบกระเทียม ที่คำนวณสัดส่วนผงกัญชาแห้งที่ผสมในส่วนประกอบของขนม รวมถึงมีการกำหนดปริมาณการกินที่พอเหมาะต่อคน ต่อวัน และคำเตือนที่ชัดเจนบนฉลากผลิตภัณฑ์ด้วยเสมอ

เมนูอาหารจากกัญชาโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

เมนูอาหารจากกัญชาโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

เมนูอาหารจากกัญชาโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

คุณหมอทิ้งท้ายว่าเร็วๆ นี้ สิ่งที่เราจะเห็นจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรคือการพัฒนาหลักสูตรการอบรมด้านการใช้ประโยชน์จากกัญชาในรูปแบบของอาหารและผลิตภัณฑ์ โดยตั้งเป้าว่าจะมีการพัฒนาในรูปแบบของอัตลักษณ์อาหารไทยและอาหารฟิวชัน โดยใช้ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและนักวิชาการร่วมพัฒนาหลักสูตรต่อไป

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ อภัยภูเบศร เดย์สปา จ.ปราจีนบุรี หรือ ติดตามข่าวสารได้ที่เฟซบุ๊ก อภัยภูเบศร เดย์สปา โทร 037-217127 เปิดบริการจันทร์-อาทิตย์ เวลา 08.30-16.30 น.

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : พท.ป.เบญจวรรณ หมายมั่น แพทย์แผนไทยประยุกต์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารข้อมูลศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร


Tag: กัญชา

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed