ในปี 2023 นี้ Sustainable Brands (SB) ประเทศไทย ได้มองเห็นถึงวิวัฒนาการที่จําเป็นของแบรนด์ โดยเฉพาะกับมุมมองของ Regenerative Brands แนวคิดที่พยายามจะฟื้นคืน และสร้างมูลค่าให้กับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อส่งมอบคุณค่าที่มากขึ้น เพื่อให้แบรนด์มองหาการปรับปรุงระบบวิถีการขับเคลื่อนในแนวทาง regenerative มากขึ้นสําหรับพวกเราทุกคน เพื่อฟื้นคืนสมดุลโลก สร้างอนาคตที่ทุกชีวิตทั้งคนและธรรมชาติมีความยั่งยืนร่วมกันได้อย่างแท้จริง จึงจัดงานประชุม SB’23 BANGKOK CHANTHABURI ภายใต้แนวคิด “Regenerating Local Food & Future” เมื่อเร็วๆ นี้
โดย ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ SB ประเทศไทย ริเริ่มนำแนวคิด Regenerative หรือแนวคิดการ “ฟื้นคืน” เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงให้กับทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติที่ต้องดำรงอยู่ด้วยกันอย่างเกื้อกูล โดยเลือกความสำคัญของธุรกิจอาหารซึ่งเป็นหัวใจหลักของประเทศ เพราะถ้าระบบอาหารมีการเปลี่ยนแปลงและแข็งแรงแล้ว เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนได้ ดังนั้นจึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไปได้ไกลกว่าเดิม โดยมีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักคิดและนักปฏิบัติการและทีมผู้เชี่ยวชาญด้านแนวคิดและการสร้าง Regenerative ระดับโลก คุณมาร์ค บัคลีย์ (Marc Buckley) นักคิด และนักปฏิบัติการด้านอาหารและตัวแทนความยั่งยืนจาก UN SDG คุณเจนนี่ แอนเดิร์สสัน (Jenny Andersson) ซีอีโอจาก We Activate The Future, ผู้ร่วมก่อตั้ง The Really Regenerative Centre คุณซานดร้า พิน่า (Sandra Pina) ผู้อำนวยการจาก SB ประเทศสเปน และ ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการจาก SB ประเทศไทย
คุณมาร์ค บัคลีย์ (Marc Buckley) นักคิด และนักปฏิบัติการด้านอาหารและตัวแทนความยั่งยืนจาก UN SDG พูดคุยในหัวข้อ “Regenerating Local Food & Future” กล่าวว่า “เมื่อคุณได้เข้าใจถึงแนวคิดของการฟื้นสร้างคุณค่าในด้านต่างๆ (regeneration) แล้ว และถ้าพูดเรื่องอาหาร และระบบนิเวศน์ของอาหาร สิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ของอาหาร ก็คือ ภาคเกษตรกรรมทั้งการปลูกพืชพันธุ์และการทำฟาร์มต่างๆ Regenerative Agriculture จึงเป็นเรื่องสำคัญ มากๆที่เราทุกคนต้องเข้าใจจริงๆ และจะสามารถลงมือแก้ปัญหาทั้งระบบ การเกษตรเพื่อฟื้นฟู เพื่อสร้างคุณค่าจึงเป็นวิธีการที่ไม่ใช่แค่รักษาสิ่งที่มีอยู่ไม่ให้หมดไป แต่ยังนำสิ่งที่หายไปให้กลับมามีชีวิตที่สมบูรณ์ ผ่านกระบวนการต่างๆ อาทิ การพลิกฟื้นคุณภาพดินที่ถูกทำลายไป การเพิ่มความหลากหลายในผืนดิน การลดภาวะโลกร้อนด้วยการลดคาร์บอนต่างๆ รวมทั้งพัฒนาวงจรการใช้น้ำในการทำการเกษตร เป็นต้น
“ผมอยากนำเสนอแนวทางปรับปรุงและแก้ไข ที่เป็นนวัตกรรมที่มีศักยภาพจริงๆ ที่จะช่วยกำหนดอนาคตที่มีมนุษยชาติ รวมถึงโลกของเราจะฟื้นตัวได้จริง ได้ยั่งยืน ผ่านแนวคิดของ Regenerative Agriculture หรือเกษตรกรรมแบบฟื้นฟู ที่ผมกล่าวไปแล้วข้างต้น นอกจากนี้ Regenerative Agriculture จะเป็นส่วนสำคัญมากในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ การกักเก็บคาร์บอนไว้ในดินสามารถช่วยชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยทำให้สภาพอากาศมีเสถียรภาพมากขึ้นได้ และยังจะสามารถสร้างงาน สนับสนุนเกษตรกรรายย่อย และส่งเสริมความสามารถที่จะฟื้นตัว (Resilient) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลที่ยั่งยืนอีกด้วย” คุณมาร์ค บัคลีย์ กล่าว
คุณเจนนี่ แอนเดิร์สสัน (Jenny Andersson) ซีอีโอจาก We Activate The Future, ผู้ร่วมก่อตั้ง The Really Regenerative Centre พูดคุยในหัวข้อ “The Regenerative Future : Real Business Cases” ไว้ว่า วันนี้เราทำลายเมืองของเราโดยไม่รู้ตัว ผ่านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณ เพื่อรายได้ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว การพัฒนาศักยภาพของเมือง ของสถานที่ คือ การพัฒนาสถานที่ พัฒนาเมืองผ่านการฟื้นฟู การหาหัวใจของสถานที่ ของเมืองที่โดนทำลายไปให้ฟื้นคืนชีวิตใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางที่มีพลวัต (Dynamic) และช่วยกำหนดรูปแบบให้ เมือง สถานที่ ให้ประเทศไทยหรือชุมชนท้องถิ่นดีขึ้นได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน เราจะเรียนรู้ร่วมกันถึงหลักการพื้นฐาน ที่มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่ที่ไม่เพียงแต่แค่ดำรงชีวิตของตนเองเท่านั้น แต่เพื่อการดำรงของทุกชีวิตรอบๆ อย่างเกื้อกูลเพราะแนวคิด Regenerative Placemaking เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิด และ สนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมโดยรอบอย่างสม่ำเสมอตลอดไป
คุณซานดร้า พิน่า (Sandra Pina) ผู้อำนวยการจาก SB ประเทศสเปน และ ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการจาก SB ประเทศไทย กล่าวสรุปในหัวข้อ “Role of The Regenerative Brands” ว่า “ความยั่งยืนเป็นหนี่ง ในเป้าหมาย หลักขององค์กรในการกำหนดกลยุทธ์ การผลิตสินค้า การทำการตลาด และการสื่อสาร แล้วองค์กรจะรู้ได้ อย่างไรว่า เส้นทางที่กำลังดำเนินอยู่นั้นเป็นเส้นทางที่ ‘ถูกทาง’ หรือ ‘หลงทาง’ ทาง SB Worldwide จึงได้ออกแบบเครื่องมือใหม่ที่จะช่วยธุรกิจ และ แบรนด์ในการวัดระดับความยั่งยืนภายในของแบรนด์ ของธุรกิจ ขององค์กร ของตนเองอย่างเจาะลึก ภายใต้ชื่อ SB Brand Transformation RoadmapTM (SB BTR) โดยเครื่องมือนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้นำ ในการสร้างแบรนด์ระดับโลกพัฒนา เพื่อให้องค์กรสามารถประเมินตนเองผ่านชุดคำถามออนไลน์ครอบคลุม 5 แกนหลัก ของแบรนด์ที่ยั่งยืนคือ Purpose, Brand Influence, Operations & Supply Chain, Products & Services และ Governance” ซึ่งทาง SB Thailand ได้ทำการเปิดตัวทดลองกับ 5 แบรนด์ใหญ่ของประเทศไทยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพร้อมจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการให้กับทุกแบรนด์ที่สนใจ ในต้นปี 2567”
ภายในงาน ได้มี 3 ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องความยั่งยืน ได้แก่ คุณพิรญาณ์ วิภูษณวรรณ, คุณณนนท์ กาญจนจารี, คุณกลิกา สารสิน ตั้งคำถามกับบนักคิดและนักปฏิบัติการด้านแนวคิดและการสร้าง Regenerative ระดับโลก คุณมาร์ค บัคลีย์ (Marc Buckley) และ เจนนี่ แอนเดิร์สสัน (Jenny Andersson) เพื่อฟังจากประสบการณ์และกรณีศึกษาจริงในเรื่อง regenerative ของโลก และ 4 Mini Workshops ในช่วงบ่าย ได้แก่ Regenerative Food กับ คุณมาร์ค บัคลีย์ (Marc Buckley), Regenerative Place กับ (เจนนี่ แอนเดิร์สสัน) Jenny Andersson, Regenerative Branding กับคุณซานดร้า พิน่า (Sandra Pina) และ ดร.ศิริกุล เลากัยกุล, Regenerative THAI กับ ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ และสนุกสนานกับการชิม The Regenerative Food Cocktail Reception กับ เชฟเนตร (เนตรอำไพ) สาระโกเศศ Judge & Commentator จากรายการ Iron Chef Thailand
พร้อมกันนี้ SB ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับหอการค้าจังหวัดจันทบุรี จัดงาน Regenerating Local Food & Future เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง โดยได้เริ่มกระตุ้นให้เกิดความสนใจต่อความอุดมสมบูรณ์ที่กำลังจะหายไปจากระบบอาหาร ผ่านงานเลี้ยงภาคค่ำภายใต้ชื่องานว่า รสจันท์ที่จางหาย (The Lost Recipe) เรียนรู้ผ่านมื้ออาหารค่ำของรสจันท์ที่จางหายภายใต้แนวคิดการกู้คืนสูตรตำหรับอาหารเมืองจันท์ที่แท้จริงให้ฟื้นกลับคืนมา The Regenerative Dinner – The Lost Recipe “Herb - Heritage - Hope” โดยมีนิทรรศการบอกเล่าสิ่งที่จะจายหายของเมืองจันท์ อาทิ ตำรับอาหารจันท์ การทำเสื่อจันทบูร ศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น
คุณอุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้า จันทบุรี กล่าวว่า รสจันท์ที่จางหาย (The Lost Recipe)” เป็นกิจกรรมที่เกิดจากการบูรณาการการทำงานร่วมกันที่จะรื้อฟื้นตำรับอาหารพื้นเมืองจันทบูรที่กำลังจางหายให้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง และในครั้งนี้ ได้นำ พริกไทยปางถี่ และกระวานจันท์ มาเชิดชูอยู่ในตำรับอาหาร เรามุ่งหวังกันว่ามื้อพิเศษนี้จะให้ทุกคนสัมผัส รู้สึก และสำนึกต่อพลังของถิ่นที่จันทบุรี (Power of Place) ในฐานะของ “ห้องนั่งเล่นของภาคตะวันออก (Living Room of the East)” และช่วยกันเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การฟื้นฟูของคนกับธรรมชาติให้อยู่ร่วมกันอย่างที่เคยเป็น และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ได้เรียนรู้ในห้องเรียนธรรมชาติที่ สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม จันทบุรี โดยจะมีการทำกิจกรรมเวิร์คชอปแบบลงพื้นที่จริง เรียนรู้การนำแนวคิด Regenerative ไปใช้จริงในระบบเกษตร และอาหาร และระบบการฟื้นฟูเมือง ที่เป็นการกอบกู้ชีวิตและเสน่ห์ที่แท้จริงของเมืองจันท์ให้กลับมาอีกครั้ง ผ่านเรื่องราวของวัตถุดิบหลักของจันทบุรี คือ พริกไทยและกระวาน พืชสำคัญของประเทศไทย ที่อุดมคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ใน 2 หัวข้อสำคัญ คือ การกู้คืนระบบอาหารของพริกไทยจันท์และลูกกระวานจันท์ โดยคุณ คุณมาร์ค บัคลีย์ (Marc Buckley) และหัวข้อคือ การเรียนรู้เรื่องการฟื้นคืนอนาคตของจันทบุรีผ่านการท่องเที่ยว หรือ Regenerative Placemaking โดยคุณเจนนี่ แอนเดิร์สสัน (Jenny Andersson)
ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ SB ประเทศไทย กล่าวปิดท้ายว่า “เหมือนทุกครั้งที่เราจัดงาน SB ในประเทศไทย จะเน้นการสร้างผลงานที่จับต้องได้ มิใช่แค่การมาประชุมพูดจากันอย่างแลกเปลี่ยนความรู้แต่ไม่มีผลงานที่ยั่งยืน เราจึงได้เลือกจันทบุรี เป็นหนึ่งในที่จัดงานของเรา เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของจันทบุรีในการที่จะทำเป็นจังหวัดต้นแบบแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยแนวคิดแบบ Regenerative ความพร้อมของคนจันทบุรีและศักยภาพของแผ่นดิน ผสานกับพลังของแบรนด์ จะทำให้งานประชุมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นการจุดประกายสิ่งที่มีอยู่แล้วและกำลังจะจางหายถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่อย่างน่าสนใจอีกครั้ง”
Tag :
Sustainable Brands, จันทบุรี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น