อิคาโน่ รีเทล เป็นหนึ่งในผู้ได้รับสิทธิ์อนุญาตแฟรนไชส์อิเกียจาก 12 รายทั่วโลก ปัจจุบันมีสโตร์อิเกีย 13 แห่ง และศูนย์การค้าอีก 5 แห่ง กวาดรายได้เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับรายได้ปีที่ผ่านมา โดยมีผลประกอบการที่หลากหลายในตลาดทั้ง 5 แห่ง แม้ว่าในปีนี้จะมีจำนวนผู้เยี่ยมชมมากขึ้นทั้งในสโตร์อิเกียและศูนย์การค้าก็ตาม
“ขณะนี้ยังคงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากทางเศรษฐกิจสำหรับกลุ่มผู้ค้าปลีก ซึ่งรวมถึงอิคาโน่ รีเทลเช่นกัน ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (value chain) หรือกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ สถานการณ์เงินเฟ้อ และพฤติกรรมการใช้จ่ายที่รัดกุมมากขึ้นของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม สโตร์อิเกียและศูนย์การค้ายังสามารถดึงดูดจำนวนผู้เยี่ยมชมได้มากถึง 119.6 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เรายังคงมุ่งมั่นสร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับชุมชนที่อาจเผชิญความฝืดเคืองทางการเงิน ด้วยการนำเสนอวิธีการรวมถึงสินค้าตกแต่งบ้านในราคาที่จับต้องได้ การมอบแรงบันดาลใจต่างๆ ผ่านสโตร์ และการสร้างประสบการณ์ดีๆ ร่วมกันที่ศูนย์การค้าของเรา” มร. คริสเตียน รอยเคียร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อิคาโน่ รีเทล กล่าว
สำหรับในประเทศไทย อิคาโน่ รีเทล เป็นเจ้าของและดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางออมนิชาแนล (ominchannel) หรือการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าที่หลากหลายช่องทาง พร้อมบริหารจัดการสโตร์อิเกีย 3 แห่ง ได้แก่ อิเกีย บางนา อิเกีย บางใหญ่ และอิเกีย ภูเก็ต บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในตลาดประเทศไทยด้วยยอดขายที่โตขึ้น 4.4 % และสามารถปิดยอดปีงบประมาณ 2565 ณ วันที่ 31 สิงหาคม ด้วยรายได้รวมทั้งสิ้น 10.22 พันล้านบาท
“แม้ว่าจะเผชิญความท้าทายมากมาย สโตร์ของเรายังคงสร้างสรรค์ประสบการณ์แบบออมนิชาแนล ในขณะที่เราเดินหน้าพัฒนาเว็บไซต์ ikea.co.th และคิดค้นวิธีใหม่ๆ เพื่อช่วยให้ลูกค้าได้รู้จักและเลือกช้อปสินค้าของเรา เราได้เพิ่มจำนวนฟลีทรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศสิงคโปร์ โดยปัจจุบันคิดเป็น 20% ของรถที่ใช้ในบริการจัดส่งถึงบ้านทั้งหมด และยังได้เปิดตัวจุดรับสินค้าเพิ่มอีก 3 จุดในประเทศมาเลเซียเพื่อให้บริการลูกค้าได้โดยไม่ต้องมีสโตร์อิเกีย อีกทั้งยังได้เปิดตัวบริการออกแบบ remote planning โดยนำบริการออกแบบออนไลน์ของอิเกียไปให้บริการลูกค้าในพื้นที่ห่างไกลในประเทศฟิลิปปินส์ และเร็วๆ นี้ เราพร้อมประกาศเปิดสโตร์แห่งใหม่อีก 2 สโตร์ด้วยกัน ได้แก่ อิเกีย สุขุมวิท สโตร์อิเกียแห่งแรกของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ และอิเกีย กัวดาราจารา เอ็กซ์โป สโตร์ในรูปแบบ สแตนด์อโลนแห่งแรกในเม็กซิโก” มร. รอยเคียร์ กล่าวเพิ่มเติม
สินค้าประเภทการจัดเก็บมียอดขายสูงสุดกว่าประเภทอื่นๆ ทั้งหมด สำหรับสโตร์อิเกียภายใต้การดำเนินงานของอิคาโน่ทั้ง 13 สโตร์ นำโดย 3 สินค้าหลัก ได้แก่ ตู้ 4 ลิ้นชัก MALM/ มาล์ม ตู้หนังสือ BILLY/ บิลลี่ สุดไอคอนิก และตู้เสื้อผ้า KLEPPSTAD/ เคลมปป์สตัด ลูกค้าของอิคาโน่ รีเทลทั่วทั้ง 5 ตลาดยังได้เปลี่ยนภาชนะบนโต๊ะอาหารใหม่ โดยได้จำหน่ายสินค้าประเภทจาน จานแบ่ง และชามในคอลเล็คชั่น OFTAS/ ออฟตาสท์ กว่า 5.5 ล้านชิ้น ในขณะเดียวกัน ธุรกิจอาหารของอิเกียยังคงได้รับความนิยมจากนักช้อปในตลาดต่างๆ ของอิคาโน่ รีเทล จากการที่บริษัทบันทึกยอดผู้เข้าใช้บริการกว่า 14.5 ล้านคน สำหรับร้านอาหารอิเกีย คาเฟ่ บิสโทร และมุมอาหารและขนมสวีเดน โดยเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 13% และมีรายได้เพิ่มขึ้น 11.7%
นอกจากสโตร์อิเกียแล้ว อิคาโน่ รีเทล ยังพัฒนาที่ดินและลงทุนด้านการสร้างที่อยู่อาศัย สำนักงาน และโครงการมิกซ์ยูสต่างๆ ผ่านธุรกิจอิคาโน่ เซ็นเตอร์ ซึ่งมีการดำเนินงานภายในห้างสรรพสินค้า 5 แห่ง ที่ประเทศมาเลเซีย ประเทศไทย ได้แก่ ศูนย์การค้า IPC และ MyTOWN ในกัวลาลัมเปอร์ ศูนย์การค้า Toppen ในยะโฮร์บาฮ์รู ศูนย์การค้า Klippa ในปีนัง และศูนย์การค้าเมกาบางนาในกรุงเทพฯ สถานที่เหล่านี้สร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร อีกทั้งยังเป็นแหล่งนัดพบของผู้คนในชุมชน เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ปีที่แล้ว ศูนย์การค้าเมกาบางนาได้ต้อนรับผู้ที่มาเยี่ยมชมคอนเสิร์ตนับถอยหลังส่งท้ายปีกว่า 350,000 คน นับเป็นสถานที่เคานต์ดาวน์ยอดฮิตติด 3 อันดับแรกของกรุงเทพฯ และในเดือนมกราคม 2566 อิคาโน่ เซ็นเตอร์ยังได้เปิดตัวดีแคทลอน (Decatholon) สาขาแรกในมาเลเซียใต้ที่ศูนย์การค้า Toppen
ในช่วงปีงบประมาณล่าสุด อิคาโน่ รีเทล ได้พัฒนาเป้าหมายด้านบุคลากรอีกระดับท่ามกลางตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มร. รอยเคียร์ กล่าวว่า “เราอยากให้เพื่อนร่วมงานทั้ง 5,254 คน มีความก้าวทันสถานการณ์ ได้รับแรงบันดาลใจ พร้อมมีศักยภาพเชิงดิจิทัลที่เพียบพร้อมในโลกค้าปลีกที่ไม่หยุดนิ่ง เราได้ก้าวไปอีกขั้นด้วยการส่งมอบโอกาสที่เท่าเทียมกันทั้งในการเลื่อนตำแหน่งงาน การฝึกอบรม การบรรยาย และการพัฒนาต่างๆ โดยเรามีพนักงานระดับบริหาร 51% เป็นเพศหญิง นอกจากนี้ ในทุกตลาดที่เราดำเนินธุรกิจอยู่ เราสามารถกล่าวได้อย่างภาคภูมิใจโดยมีหลักฐานจากผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอกว่าเราจ่ายเงินเดือนพนักงานอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพ และเราจะเดินหน้าพันธกิจ ‘เงินเดือนและหน้าที่การทำงานที่เท่าเทียมกัน’ โดยเรายังได้มอบสวัสดิการที่เหมือนกันทั้งสำหรับพนักงานพาร์ทไทม์ พนักงานสัญญาจ้าง และพนักงานประจำ”
ปีที่ผ่านมายังเป็นปีแห่งการเรียนรู้ด้านความยั่งยืนและการลดปริมาณขยะที่อิคาโน่ รีเทล “เราได้ริเริ่มความพยายามในการสานสัมพันธ์กับชุมชน พร้อมกับการสร้างเครือข่ายพันธมิตรชุมชนใหม่ๆ โดยได้จัดกิจกรรม Social Day สำหรับพนักงานกว่า 1,000 คน และได้อบรมพนักงานอีกกว่า 2,000 คน ภายใต้หัวข้อด้านความยั่งยืน ในทุกๆ ตลาดของเรา พนักงานได้คิดค้นวิธีการใหม่ๆ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะในการจัดส่งสินค้าขั้นตอนสุดท้าย (last mile delivery) โดยใช้ถุง FRAKTA/ ฟรัคต้า สีน้ำเงินที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ มาทดแทนลังกระดาษ และนำเศษลังกระดาษที่ใช้แล้วมาใช้เป็นวัสดุกันกระแทกแทนพลาสติก” มร. รอยเคียร์ กล่าวเพิ่มเติม
Tag :
IKEA
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น