คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ SCI-TU เปิดตัว “GreenTien” (กรีนทีน) แบรนด์เครื่องดื่มโปรตีนทางเลือกใหม่ สกัดจากถั่วเขียว 100% เจาะตลาดกลุ่มผู้รักสุขภาพ ผู้แพ้กลูเตน-แลคโตส และวีแกน ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัว ไม่มีสารประกอบที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ท้องอืด ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในห้องแล็บและทดสอบรสชาติพบ ‘GreenTien ดื่มง่ายกว่านมถั่วเหลือง ด้วยรสสัมผัสที่หวานน้อย ไม่แต่งกลิ่น-รส แคลลอรีต่ำ’ ตอกย้ำศักยภาพด้วยรางวัลเหรียญทอง จากเวทีประกวดและแข่งขันสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ITEX 2023 ด้วยเงื่อนไข SDG2 มุ่งขจัดความหิวโหยและความอดอยากทุกรูปแบบ
รองศาสตราจารย์ ดร.เทพปัญญา เจริญรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. เปิดตัว ‘GreenTien’ (กรีนทีน) เครื่องดื่มโปรตีนทางเลือกสกัดจาก ‘ถั่วเขียว’ เอาใจคนรักสุขภาพ สายวีแกน หรือมังสวิรัติ รวมถึงผู้บริโภคที่แพ้โปรตีนกลูเตนจากธัญพืชและน้ำตาลแลคโตสในนม ได้รับแรงบันดาลใจจากการมองหาแหล่งโปรตีนใหม่ทดแทน ‘ถั่วเหลือง’ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแต่มีกลิ่นเฉพาะตัวที่แตกต่าง โดยจากการศึกษาพบว่า ‘ถั่วเขียว’ มีกลิ่นหอมอ่อนตามธรรมชาติ มีปริมาณโปรตีนประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ถั่วเหลืองจะมีปริมาณโปรตีนประมาณ 34 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นถั่วเขียวยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินที่หลากหลาย ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่ม ‘สารประกอบฟีนอลิก’ (Phenolic Compounds) รวมถึงยังปราศจากกลูเตน นอกจากนั้น ยังพบว่าถั่วเขียวเป็นธัญพืชที่มีฤทธิ์เย็นและเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นที่นำมาใช้เป็น ‘อาหารยาตำรับโบราณ’ ที่สอดแทรกวัฒนธรรมอาหารในหลากหลายเชื้อชาติ อาทิ จีนและเกาหลี
‘GreenTien’ (กรีนทีน) หรือ ‘Alternative plant-based protein drink for healthiness’ ผ่านการวิเคราะห์คุณค่าทางอาหาร รวมถึงทดสอบทางประสาทสัมผัส พบว่า ‘GreenTien หนึ่งขวด (240 มล.) มีโปรตีน 5.3 กรัม ซึ่งนมวัวปริมาตรเท่ากันมีโปรตีน 8.0 กรัม อย่างไรก็ตาม ด้วยกรรมวิธีผลิตที่พัฒนาขึ้นทำให้ ‘GreenTien มีแคลอรี่ต่ำ โดยมีคาร์โบไฮเดรตเพียง 1.7 กรัม และไขมันเพียง 0.2 กรัม ซึ่งน้อยกว่านมวัวที่มีคาร์โบไฮเดรตมากถึง 12 กรัม และไขมันมากถึง 9 กรัม นอกจากนี้ ด้วยกลิ่นที่เฉพาะและรสหวานน้อย ๆ ทำให้ ‘GreenTien เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภคโปรตีนจากพืช ทั้งนี้ GreenTein เป็นผลผลิตจากการนำถั่วเขียวมาผ่านกระบวนการทางเทคโนโลยีเอนไซม์ เพื่อเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบในถั่วเขียวให้ดูดซึมได้ง่าย มีรสหวานตามธรรมชาติโดยไม่ต้องใส่น้ำตาลหรือสารเพิ่มความหวาน ซึ่งกระบวนการดังกล่าว ได้รับการจดอนุสิทธิบัตร เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายใต้ความร่วมมือกับทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. และ รองศาสตราจารย์ ดร.สร้อยสุดา พรภักดีวัฒนา คณะอุตสาหกรรมเกษตร (สาขาวิชาเทคโนโลยีการหมัก) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
สำหรับ ‘GreenTien’ สามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง จากเวทีประกวดและแข่งขันสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม “The 34th International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2023) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย ด้วยเงื่อนไขของการพัฒนานวัตกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสังคม รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG ในเป้าหมายที่ 2 (SDG 2: Zero Hunger) ที่มุ่งขจัดความหิวโหยและความอดอยากทุกรูปแบบ เนื่องจาก ‘โปรตีน’ เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยเฉพาะในวัยเด็กและผู้สูงอายุ โปรตีนช่วยเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีในวัยเด็ก ขณะที่ผู้สูงอายุหากขาดสารอาหารประเภทโปรตีน อาจส่งผลกระทบให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะสมองถดถอยและนำไปสู่โรคอัลไซเมอร์ในที่สุด โดยคาดว่าในปี 2573 ไทยจะมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สูงถึง 1,117,000 ราย ดังนั้น ทีมวิจัยจึงได้นำถั่วเขียวมาพัฒนาเป็น เครื่องดื่มโปรตีนจากพืชแบบบรรจุขวด เพื่อเพิ่มทางเลือกสำหรับความต้องการบริโภคโปรตีนที่หลากหลายของผู้คน
ถั่วเขียว ถือเป็นผลผลิตทางการเกษตรไทยที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น เพาะปลูกได้ง่ายในทุกสภาพดิน ทั้งยังมีคุณสมบัติสำคัญในการฟื้นฟูและสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรดิน นอกจากนั้นยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในการรังสรรค์เมนูขนมหวาน อาทิ ถั่วเขียวต้มน้ำตาล ขนมกง ขณะที่ต่างประเทศอย่าง อินเดีย ได้มีการนำถั่วในตระกูลเดียวกันทำเมนูอาหารคาว ดังนั้น หากภาครัฐมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตถั่วเขียวที่เหมาะสมในแต่ละฤดูกาล คณะวิทย์ มธ. คาดว่าถั่วเขียวจะสามารถก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างผู้ประกอบการเกษตรยุคใหม่ ตลอดจนยกระดับภาคการเกษตรไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้ ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกถั่วเขียวในช่วงครึ่งปีแรก 2566 (เดือนมกราคม-เดือนพฤษภาคม) 535.29 ล้านบาท หรือราว 15,447.50 เมตริกตัน (ข้อมูล: กองมาตรฐานสินค้านำเข้าส่งออก กรมการค้าต่างประเทศ, มิถุนายน 2566)
สำหรับการเรียนการสอนของสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ที่ได้รับการปรับปรุงหลักสูตรล่าสุดในปี 2566 จะมุ่งเน้นการบ่มเพาะศักยภาพและผลิต ‘นักเทคโนโลยีชีวภาพ’ ให้มีหลักคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ผ่านการเชื่อมโยงหลักการพื้นฐานของเทคโนโลยีชีวภาพ การมองเห็นโอกาสทางการตลาด การบริหารจัดการ การออกแบบนวัตกรรม สู่การสร้างสรรค์ผลงานเชิงนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่พร้อมจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะ ‘ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ’ เนื่องจากสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว รับเทรนด์สุขภาพที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลค่าทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชที่มีการขยายตัวสูงถึง 7.4 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 14 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2568 อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการก้าวสู่เส้นทางอาชีพผู้ประกอบการแล้ว ปัจจุบันตลาดงานในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) ยังมีความต้องการนักเทคโนโลยีชีวภาพจำนวนมาก อาทิ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ รองศาสตราจารย์ ดร.เทพปัญญา กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจศึกษาต่อคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.tuadmissions.in.th ทางเพจเฟซบุ๊ก คณะกรรมการนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี - กน.วท. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือติดต่อ 02-5644490 ต่อ 2094
Tag :
ถั่วเขียว, เครื่องดื่ม, เครื่องดื่มโปรตีน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น