ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด เดินหน้าผลักดัน “ยามุ่งเป้า” เข้าถึงสิทธิบัตรทอง เพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย อย่างครอบคลุมและเท่าเทียม รวมถึงการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และการติดตามการรักษา ซึ่งจะช่วยให้การพยากรณ์โรคแม่นยำ เพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะแพร่กระจายได้นานขึ้น
รศ. นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ อัตราการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมว่า “มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง ซึ่งในแต่ละปีจะพบผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมเฉลี่ยราว 23,000 ราย จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า จำนวนผู้ป่วยใหม่ของมะเร็งเต้านมมักตรวจเจอในระยะที่ 2 และ 3 ส่วนระยะที่ 4 จะตรวจพบประมาณ 20% แต่มีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วยในระยะนี้เพิ่มขึ้น เพราะอาจขาดความตระหนักว่ามะเร็งเต้านมอันตราย ทำให้ไม่ได้ตรวจคัดกรองอยู่เสมอ มะเร็งเต้านมระยะที่ 4 เป็นระยะที่มะเร็งพ้นเต้านมไปแล้ว และแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ตับ กระดูก และสมอง โดยปกติมะเร็งเต้านมจะแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ก่อน แล้วจึงกระจายไปอวัยวะอื่นๆ ปัจจุบันการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม (Mammogram) ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ดังนั้น การสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเข้าใจว่า มะเร็งเต้านมจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ และจะทำให้ตรวจพบมะเร็งได้เร็วขึ้น”
ด้าน ผศ. พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ กล่าวว่า แนวทางการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมขึ้นอยู่กับการพยากรณ์โรคที่แม่นยำ โดยมีระยะของโรค ชนิดของมะเร็ง ประสิทธิภาพของยาที่จะใช้กับมะเร็งแต่ละชนิด และความสามารถในการเข้าถึงยาของผู้ป่วยเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งจากสถิติของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมพบว่า มะเร็งชนิดที่พบมากได้แก่มะเร็งชนิดที่มีตัวรับทางฮอร์โมน (Hormone receptor positive: HR Positive) ซึ่งลักษณะของโรคมีความรุนแรงน้อยกว่าและมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำต่ำกว่ามะเร็งเต้านมชนิดอื่น สามารถรักษาโดยใช้ยามุ่งเป้าได้
รองลงมาเป็นมะเร็งชนิดที่มีตัวรับเฮอร์ทู (Human epidermal growth factor receptor 2 positive: HER2 Positive) ซึ่งเป็นตัวที่กระตุ้นให้มะเร็งแพร่กระจาย สามารถใช้ยามุ่งเป้าที่เป็นยาต้าน HER2 ในการรักษาได้ และมะเร็งชนิดที่ไม่มีทั้งตัวรับฮอร์โมนและตัวรับเฮอร์ทู (Triple Negative) ซึ่งเป็นชนิดที่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำสูง และรักษาได้ด้วยวิธีเคมีบำบัดเท่านั้น
“ด้วยความแตกต่างของชนิดและลักษณะของมะเร็งนี้เองทำให้วิธีการรักษาและการใช้ยามีความแตกต่างกัน โดยหากพบว่าเป็นมะเร็งระยะที่ 1 แนวทางการรักษาทำได้ด้วยการผ่าตัด ส่วนระยะที่ 2-3 รักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับการรักษาเสริมหลังการผ่าตัด และระยะที่ 4 ระยะแพร่กระจาย เป้าหมายการรักษาคือการควบคุมโรคให้ได้นานที่สุด ซึ่งหากควบคุมได้ 3-5 ปีแล้วไม่มีอาการลุกลาม จึงจะเรียกว่าหายจากโรคมะเร็งเต้านม โดยปกติ 30% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีโอกาสเสียชีวิต ในขณะที่ 70% มีโอกาส
รอดชีวิต หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจากการตรวจพบในระยะแรกๆ ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย อาจไม่เสียชีวิตในเวลาอันสั้นและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ด้วยความก้าวหน้าของวิธีรักษาและยานวัตกรรมที่หลากหลาย จากการพยากรณ์โรคดีที่สุดพบว่า อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยสามารถอยู่ได้นานอีกหลายปี” ผศ.พญ.เอื้อมแข กล่าว
สำหรับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งภายใต้สิทธิบัตรทองนั้น นพ.ศุภกร พิทักษ์การกุล รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายมะเร็งรักษาได้ทุกที่ หรือ Cancer Anywhere มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถเข้าถึงการรักษาได้สะดวกรวดเร็วขึ้น สามารถรับบริการที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ที่ขึ้นทะเบียนรักษาโรคมะเร็งกับ สปสช. โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว ครอบคลุมตั้งแต่การวินิจฉัยโรค การรักษา รวมถึงการตรวจติดตาม ในช่วงสองปีที่ผ่านมา สถิติของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการผ่าตัดภายใน 4 สัปดาห์ ได้รับเคมีบำบัดหรือฉายรังสีรักษาภายใน 6 สัปดาห์หลังการวินิจฉัยโรค พบว่า ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น และในปี 2566 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ และหน่วยงานต่างๆ มีแนวทางเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งให้มากขึ้น เช่น การผลักดันยาและการรักษาโรคมะเร็งใหม่ๆ เข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ การร่วมมือกับรพ. ภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อแบ่งปันทรัพยากร เช่น คิวการตรวจทางรังสีวินิจฉัย คิวการฉายรังสีรักษา เป็นต้น การจัดทำระบบฐานข้อมูลโรคมะเร็ง (TCB 2023) เพื่อการส่งต่อข้อมูลการรักษาผู้ป่วยระหว่างรพ. และเป็นฐานข้อมูลโรคมะเร็งของประเทศ รวมถึงการจัดทำรายชื่อผู้ประสานงานด้านโรคมะเร็ง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการประสานงานส่งต่อผู้ป่วยระหว่างรพ. ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ นพ.กฤช ลี่ทองอิน ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า “สปสช. มีความมุ่งมั่นที่จะให้ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข รวมทั้งได้รับวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ในการรักษาที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันมียาเจาะจงเซลล์มะเร็ง หรือยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ที่ใช้ในการรักษาเสริมมะเร็งเต้านมระยะแรกอยู่แล้ว และในอนาคตหากมีกลุ่มยามุ่งเป้าที่มีประสิทธิผลดีกว่ายาเดิมที่ใช้รักษามะเร็งเต้านม มีความคุ้มค่า หรือมีราคาต่อการรักษาเท่าเดิม หรือถูกกว่าเดิม สปสช.ก็จะบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีสิทธิบัตรทองได้ใช้ แต่เนื่องจากยามุ่งเป้าเป็นยานวัตกรรมที่มีการลงทุนวิจัยสูง ทำให้มีราคาแพง ผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาอยู่ เช่น อาจปรับเกณฑ์การประเมินประสิทธิผลและความคุ้มค่า (Incremental cost-effectiveness ratio: ICER) ใหม่ เพื่อให้ยาราคาแพงที่มีประสิทธิผลเข้าสู่ระบบได้”
อย่างไรก็ตาม นางสาวไอรีล ไตรสารศรี รองประธานชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันการรักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายในทุกสิทธิครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด ฉายแสงและเคมีบำบัด แต่ยังไม่รวมถึงการใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษา ซึ่งจะช่วยยืดอายุ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย และลดอัตราการเสียชีวิตได้ มีเพียงสิทธิข้าราชการที่สามารถเข้าถึงการรักษานี้ ผู้ป่วยที่มีสิทธิอื่นยังต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเอง เพราะสิทธิการรักษาไม่ครอบคลุม เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมให้สามารถเข้าถึงการรักษาตามมาตรฐานด้วยยามุ่งเป้าอย่างเท่าเทียม ในฐานะตัวแทนผู้ป่วยจึงขอเสนอให้มีการพิจารณาสิทธิการรักษาให้ครอบคลุมการใช้ยามุ่งเป้า เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ยังรวมถึงการครอบคลุมสิทธิในการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือแพทย์ PET Scan, CT Scan, MRI, Genetic Testing รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่างๆ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ระบบข้อมูลผู้ป่วยที่เชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อและการส่งต่อข้อมูลการรักษาแบบองค์รวม ตลอดจนการเข้าถึง Support Group ซึ่งคอยดูแลผู้ป่วยร่วมกับทีมสุขภาพจิต”
“การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้รับฟังและร่วมกันแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการรักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย โดยผู้กำหนดนโยบายได้พิจารณาการเข้าถึงยามุ่งเป้า จะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายที่ยังขาดโอกาสในสิทธิการรักษาต่างๆ ได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน เพราะความหวังสูงสุดของผู้ป่วยคือ ต้องการการรักษาที่ได้ผลดี มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดูแลครอบครัว ใช้ชีวิตได้ตามปกติ และใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาทำประโยชน์ให้สังคมต่อไป” นางสาวไอรีล กล่าวทิ้งท้าย
Tag :
สุขภาพ, โรคมะเร็ง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น