อายิโนะโมะโต๊ะ จับมือ พันธมิตรด้านสุขภาพ มุ่งส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคและสุขภาพที่ดีสู่สังคมไทย

วันที่ 18 เมษายน 2566  479 Views

อายิโนะโมะโต๊ะ จับมือ พันธมิตรด้านสุขภาพ มุ่งส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคและสุขภาพที่ดีสู่สังคมไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ มร.ทะกุมิ คะซะริโมะโตะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ รศ.ดร.ชลัท  ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผศ.ดร.ชนิดา ปโชติการ นายกสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of understanding: MOU) ในการร่วมพัฒนาระบบประเมินปริมาณสารอาหารสำหรับเมนูอาหารไทย (Nutrient Profiling System for Thai menus; NPS-M) เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสุขภาพและโภชนาการที่ดีให้กับคนไทย ผ่านพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม โดยภายใต้ความร่วมมือนี้ ทุกภาคส่วนจะร่วมกันพัฒนาNPS-M รวมถึงจัดทำคำแนะนำสำรับอาหาร เพื่อให้คนไทยสามารถเลือกรับประทานอาหารที่ชอบ อร่อย และเหมาะสมกับสุขภาพของตนเองได้พร้อมๆ กัน ซึ่งพิธีลงนามจัดขึ้น ณ ห้องประชุมอารี วัลยะเสวี ชั้น 2 สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในปัจจุบัน การส่งเสริมโภชนาการเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจทั่วโลก ทำให้ หน่วยงานด้านอาหารและโภชนาการของภาครัฐในประเทศต่างๆ และกลุ่มบริษัทผู้ผลิตอาหารต่างนำระบบการประเมินปริมาณสารอาหาร (Nutrient Profiling System-NPS) มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งกลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะเอง ได้พัฒนาระบบการประเมินปริมาณสารอาหารในผลิตภัณฑ์ (Ajinomoto Group Nutrient Profiling System for Products ;ANPS-P) ขึ้นในปี พ.ศ.2563 เพื่อเป็นเครื่องมือในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสารอาหารในผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ กว่า 500 รายการ จาก 9 กลุ่มบริษัทฯ ใน 7 ประเทศทั่วโลก (ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2564) ซึ่งช่วยให้เราสามารถประเมินคุณค่าผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงคุณภาพ และส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงขึ้น อันจะช่วยปรับปรุงสุขภาพที่ดีขึ้นของผู้บริโภคนั่นเอง แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของระบบ ANPS-P และ NPS ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกนั้น มีข้อจำกัดในการนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องปรุงรส ซึ่งปกติจะต้องนำไปประกอบอาหาร ซึ่งต่างจากผลิตภัณฑ์อาหารประเภทพร้อมทานอื่นๆ กลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และ สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมพัฒนาระบบ NPS-M ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประเมินคุณค่าทางโภชนาการของเมนูอาหาร อีกทั้งยังช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ การลดปริมาณการบริโภคโซเดียมและไขมัน และการบริโภคโปรตีนและผักในปริมาณที่เหมาะสม  ในขณะที่ยังคงความอร่อยกลมกล่อม และสำหรับความร่วมมือของอายิโนะโมะโต๊ะประเทศไทยในครั้งนี้ จะเป็นอีกจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญ ที่จะช่วยในการสนับสนุนให้คนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม สามารถคำนวนปริมาณสารอาหารและวางแผนการบริโภคให้มีความสมดุลทางโภชนาการ

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ มีความมุ่งมั่นในการสร้าง “คุณค่าร่วมให้กับสังคม” ผ่านการดำเนินการส่งเสริม “สุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน” ควบคู่ไปกับการลด “ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม” ในทุกกิจกรรมทางธุรกิจ ภายใต้ปณิธาณ “การสร้างคุณค่าร่วมกับสังคม” หรือ “The Ajinomoto Group Creating Shared Value: ASV” อย่างยั่งยืนของบริษัทฯ


Tag : การดูแลสุขภาพ, อายิโนะโมะโต๊ะ

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed