อากาศร้อนจัด ไก่ไข่น้อย ผลผลิตเสียหาย แต่เพียงพอสำหรับคนไทย

วันที่ 17 เมษายน 2566  572 Views

อากาศร้อนจัด ไก่ไข่น้อย ผลผลิตเสียหาย แต่เพียงพอสำหรับคนไทย

ฤดูร้อนปีนี้ อากาศร้อนสาหัสกว่าทุกปีผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่าเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ร้อนที่สุดอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส และยังคงร้อนต่อเนื่อง อุณหภูมิระดับนี้เหมาะกับพ่อค้า-แม่ค้าที่ทำของแห้งขาย ปลาเค็ม กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง หรือหมู-เนื้อ แดดเดียว คงชื่นชอบไปตามๆ กัน เพราะตากของได้ไวและหลายรอบๆ ทำสต๊อกได้ ส่วนคนทั่วไปต้องเปิดเครื่องปรับอากาศกันเกือบ 24 ชั่วโมง อาบน้ำวันละ 3 เวลาหลังอาหาร บิลค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้าพุ่งสูงลิ่ว

สำหรับแม่ไก่ไข่ ความเป็นอยู่ในสภาพอุณหภูมิสูงจะทำให้ไก่เครียดง่าย เพราะไก่เป็นสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อช่วยระบายความร้อนเหมือนกับมนุษย์หรือสัตว์ประเภทอื่น นอกจากนี้ขนที่ปกคลุมอยู่บนตัวยังเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการระบายความร้อนของแม่ไก่ ถ้าอุณหภูมิในเล้าสูงเกิน 35 องศาเซลเซียส แม่ไก่จะมีอาการหอบ กางปีก หมอบกับพื้น เกิดภาวะเครียดจากความร้อน หรือที่เรียกว่า Heat Stress จากฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง และหากอุณหภูมิในเล้าสูงเกินกว่า 39 องศาเซลเซียส จะมีผลทำให้แม่ไก่เริ่มทยอยตาย เพราะปกติอุณหภูมิร่างกายของไก่อยู่ที่ 41.2 องศาเซลเซียส ดังนั้น เมื่อแม่ไก่เครียด (อุณหภูมิในเล้าประมาณ 26-32 องศาเซลเซียส) แม่ไก่จะกินอาหารได้น้อยลง แต่กินแต่จะกินน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อลดความร้อนที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย

ผลจากการที่แม่ไก่กินอาหารลดลง ทำให้แม่ไก่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อการสร้างไข่ จะทำให้ผลผลิตไข่ลดลง ขนาดฟองไข่เล็กลง ยิ่งอากาศร้อนมากแม่ไก่จะแสดงอาการหอบ ทำให้สูญเสียพลังงานและสูญเสียคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่จะแม่ไก่จำเป็นต้องใช้ในขบวนการการสร้างไข่ คุณภาพเปลือกไข่ด้อยลง เช่น เปลือกบางลง สีซีดลง เป็นต้น นอกจากนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ในช่วงฤดูร้อน ต้องปรับอุณหภูมิในเล้าหรือโรงเรือนให้เหมาะสมในช่วง 18-25 องศาเซลเซียสให้สัตว์มีความสบาย ซึ่งเกษตรกรมีต้นทุนค่าน้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องพ่นละอองน้ำเพื่อลดความร้อนในโรงเรือน ลดจำนวนการตายในภาวะอากาศร้อนจัด

ข้อมูลจากสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่และสมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง เป็นไปในทิศทางเดียวกันย้ำว่า ช่วงฤดูร้อนอุณหภูมิสูงมาก ส่งผลให้แม่ไก่มีความเครียด กินอาหารได้น้อย ผลผลิตไข่ลดลงจากปกติประมาณ 10-15% และยังมีผลต่อขนาดของไข่ได้เพียงขนาดกลางและเล็กประมาณเบอร์ 3-4-5 เท่านั้น จากปกติไข่ไก่มี 6 ขนาด คือ ตั้งแต่เบอร์ 0 ใหญ่สุด และเบอร์ 5 เล็กสุด กระทบต่อรายได้ของเกษตรกรเนื่องจากขายไข่ได้ราคาลดลง สวนทางกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่ผลผลิตลดลงจากที่ออกไข่ตามปกติวันละ 1 ฟอง อาจไม่ออกเลย รวมถึงมีผู้เลี้ยงบางส่วนตัดสินใจเลิกอาชีพไป 10% เพราะต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ผู้บริโภคเห็นได้จากข้อมูลข้างต้น ว่า เป็นวัฏจักรของไข่ไก่ที่ช่วงฤดูร้อนผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง และไข่ฟองเล็กจะอยู่ในตลาดมากกว่าไข่ฟองใหญ่ ตลอดจนไข่จะเสียหายง่ายกว่าช่วงอากาศเย็น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไข่ไก่มีราคาสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน ราคาจึงมีการปรับขึ้นตามกลไกตลาดแต่อยู่ในระดับที่เหมาะสม ประกอบกับมีการนำไข่ไก่บางส่วนส่งออกไปช่วยไต้หวันและประเทศที่ขาดแคลนอย่างหนัก เนื่องจากต้องทำลายสัตว์ปีกจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก อย่างไรก็ตาม คนไทยไม่ต้องกังวลว่าจะเจอสภาวะขาดแคลนเหมือนประเทศอื่นๆ เพราะไทยมีการบริหารจัดการอย่างดีในช่วงที่มีผลผลิตส่วนเกินโดยรัฐบาลขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตรายใหญ่ เก็บไข่ไว้ในห้องเย็น เพื่อรักษาสมดุลอุปสงค์-อุปทาน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศไม่ให้ตกต่ำตลอดปี

หากเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการระบาดของไข้หวัดนก สหรัฐอเมริกาสถานการณ์สาหัสที่สุด เพราะผู้บริโภคต้องซื้อไข่ไก่ในราคาสูงเป็นประวัติการณ์ที่โหลละ 165 บาท ขณะที่ญี่ปุ่นราคาไข่ขนาดกลางที่โตเกียวสูงขึ้น 86% อยู่ที่ 327 เยนต่อ 1 กิโลกรัม (ประมาณ 86 บาท) ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 30 ปีของญี่ปุ่น และทั้ง 2 ประเทศยังจำกัดปริมาณการซื้อต่อครั้ง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน เห็นแบบนี้แล้วราคาเฉลี่ยที่ขายในท้องตลาด 4-5 บาทต่อฟอง ผลผลิตก็มีเพียงพอต่อความต้องการบริโภคของคนไทย ราคาไข่ไก่ขณะนี้ปรับขึ้นเพราะผลผลิตน้อยและต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งราคาไข่ไก่ช่วงที่ผ่านมาก็มีการปรับลงบ้างตามกลไกตลาด ขอเพียงผู้บริโภคเข้าใจว่าไม่ใช่การปรับตามอำเภอใจ แต่เป็นการปรับอย่างเหมาะสมให้เกษตรอยู่ได้ ผู้บริโภคอยู่ได้


Tag : ไข่ไก่

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed