ออรัม แกลเลอรี (Aurum Gallery) จัดนิทรรศการศิลปินเดี่ยวครั้งแรกกับงาน “Shattered” โดยไซมอน เบอร์เกอร์ ศิลปินร่วมสมัยชาวสวิสผู้สร้างสรรค์งานจากกระจก

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565  805 Views

ออรัม แกลเลอรี (Aurum Gallery) จัดนิทรรศการศิลปินเดี่ยวครั้งแรกกับงาน “Shattered”   โดยไซมอน เบอร์เกอร์ ศิลปินร่วมสมัยชาวสวิสผู้สร้างสรรค์งานจากกระจก

ออรัม แกเลอรี ได้รับเกียรติในการเปิดตัวนิทรรศการ “Shattered” โดยไซมอน เบอร์เกอร์ (Simon Berger) ศิลปินร่วมสมัยชาวสวิสผู้สร้างสรรค์งานจากกระจก ซึ่งงานนี้นับเป็นทั้งนิทรรศการศิลปินเดี่ยวครั้งแรกของแกลเลอรีและเป็นการเปิดตัวของศิลปินครั้งแรกในเอเชีย ภายในงานได้นำผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะมาจัดแสดงกว่า 30 ชิ้น

นางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา (H.E. Mrs. Helene Budliger Artieda) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ได้เข้าร่วมพิธีเปิดนิทรรศการที่แกลเลอรีในวันนี้ โดยศิลปินไซมอน เบอร์เกอร์ เจ้าของผลงาน ได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อนำเสนอการรังสรรค์ผลงานที่เขาคิดค้นขึ้นเพื่องานสุดพิเศษในครั้งนี้ และเพื่อให้แขกทุกท่านได้รับชมกันอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้เหล่าแขกผู้มีเกียรติยังได้ดื่มด่ำบรรยากาศไปพร้อมกับสปาร์คกลิ้งไวน์ (ด้วยความอนุเคราะห์จากสถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์) รวมไปถึงการบรรเลงดนตรีสดโดยนักเปียโนที่มากความสามารถ ร่วมโดย ชัญญา บาลลา สมบูรณ์เวชการ (9 ปี), ศิริมา พลเทพ (14ปี) และ หยูเฉียว เฉิน (14 ปี) ทั้ง 3 จะมาร่วมบรรเลงเพลงของ โมสาร์ทและบีโธเฟนคอนแชร์โต

ด้วยความหลงใหลในใบหน้าของผู้คน ไซมอน เบอร์เกอร์ พิจารณาเลือกใช้วัสดุอย่างกระจก เพื่อสร้างผลงานโดยการใช้ค้อนสร้างรอยร้าวแตกเป็นลวดลายบนกระจก เนรมิตออกมาเป็นภาพใบหน้าต่างๆ เล่นกับแสงและความโปร่งใส ดึงสายตาผู้ชมดิ่งลึกเข้าไปถึงแก่นที่เขานิยามว่า “มอร์โฟเจเนซิส” (Morphogenesis) ในฐานะศิลปินผู้บุกเบิกเทคนิคนี้ ไซมอนได้กลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่เป็นที่กล่าวขานและมีผู้สะสมผลงานมากที่สุดในวงการ “ศิลปะเมืองร่วมสมัย”(Urban Contemporary Art)

จากการฝึกฝนงานช่างไม้และความชื่นชอบในเครื่องยนต์กลไกต่าง ๆ ไม้และเศษเหล็กจึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจของผลงานชิ้นแรกที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมาจากท้องถนน เทคนิคเฉพาะตัวอันเป็นเอกลักษณ์ของไซมอนถือกำเนิดขึ้นจากการเปิดมุมมองทางศิลปะด้วยการใช้กระจกบังลมรถยนต์ ด้วยรูปแบบที่แหวกขนบอย่างเห็นได้ชัดของผลงาน ผลงานของไซมอน เบอร์เกอร์ได้สะท้อนแนวคิดตาม “ทฤษฎีหน้าต่างแตก” (Broken Windows Theory) กระจกที่แตกจากการทุบไม่ได้สื่อถึงการทำให้พังหรือเสื่อมลง หากแต่ตัวกระจกที่แตกนั้นเป็นสื่อกลางที่สะท้อนแสงออกมา ในขณะที่ค้อนไม่ได้นำมาใช้เพื่อทำลายแต่เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้แสงสะท้อนเด่นชัดขึ้น

“ความวุ่นวายไม่ได้นำไปสู่แค่อาชญากรรมเท่านั้น แต่ความวุ่นวายยังสามารถเป็นอาณาจักรแห่งแสงสว่างได้อีกด้วย เป็นเรื่องของความหวัง ไม่ใช่การทำลายล้าง แสงจะเผยออกมาให้เห็นจากการทุบให้แตกออก”

นิทรรศการนี้จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมในวันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565 โดยศิลปินชาวสวิสเจ้าของผลงานจะมาทำการรังสรรค์ชิ้นงานให้ทุกท่านได้รับชมกันอย่างใกล้ชิดตลอดช่วงสุดสัปดาห์แรก (วันศุกร์ที่ 1 - วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม)


Tag : แกลลอรี่

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed