เซ็นทรัล จันทบุรี กับเบื้องหลังการดีไซน์ และสถาปัตยกรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์เมืองจันท์ได้อย่างลงตัว แลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่เป็นมากกว่าศูนย์การค้า

วันที่ 20 มิถุนายน 2565  716 Views

เซ็นทรัล จันทบุรี กับเบื้องหลังการดีไซน์ และสถาปัตยกรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์เมืองจันท์ได้อย่างลงตัว แลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่เป็นมากกว่าศูนย์การค้า

เมื่อพูดถึงจังหวัดจันทบุรี หลายคนนึกถึงทุเรียน แหล่งผลไม้ และแหล่งค้าพลอยของประเทศ แต่ความจริงแล้วเมืองจันท์มีอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจมากกว่านั้น เป็นเมืองทรงเสน่ห์ที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดที่โดดเด่น มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติทั้งทะเล ภูเขา ป่าโกงกาง แม่น้ำ ศิลปะ วัฒนธรรม และเสน่ห์เหนือกาลเวลาของชุมชนริมน้ำจันทบูร งานฝีมือจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น งานจักรสานเสื่อจันทรบูรที่ทำจากต้นกกที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเสื่อที่มีคุณภาพดีที่สุดในประเทศ และงานอัญมณีจากฝีมือการเจียระไนพลอยโดยช่างท้องถิ่นที่โด่งดังไปทั่วโลก และอีกความน่ารักที่สร้างเสน่ห์ให้กับเมืองอย่างมาก คือไอเดียในการหยิบยกเอา “กระต่าย และดวงจันทร์” มาเป็นสัญลักษณ์ของเมือง ที่ไม่ว่าไปที่ไหนก็จะได้เห็นสัญลักษณ์รูปกระต่ายอยู่ทั่วทุกแห่งในจังหวัด หากใครเคยลองไปเที่ยวจันทบุรีมาแล้ว เชื่อเลยว่าต้องหลงรักในสเน่ห์วิถีจันท์อย่างแน่นอน

เซ็นทรัลพัฒนา เล็งเห็นถึงศักยภาพของจังหวัดในจุดนี้ และมองว่าจันทบุรีเปรียบเหมือน “Hidden Gem” แห่งภาคตะวันออกที่รอการเจียระไนให้เฉิดฉาย จึงปักหมุดพัฒนาโครงการ “เซ็นทรัล จันทบุรี” ให้เป็นโครงการมิกซ์ยูสที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดในภาคตะวันออก แลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่สะท้อนอัตลักษณ์ และชูสเน่ห์ของเมืองจันท์รอบด้าน ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Charming Chanthaburi หรือ มหัศจรรย์จันทบุรี”

เซ็นทรัล จันทบุรี เป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ บนพื้นที่กว่า 40 ไร่ ประกอบด้วยศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม และคอนเวนชั่น ฮอลล์ สำหรับจัดงานแสดงสินค้าและรองรับงานอีเว้นท์ได้หลากหลายรูปแบบ มีสวนสีเขียวขนาดใหญ่ถึง 4 ไร่ ที่เป็นเหมือนสวนสาธารณะแห่งใหม่ของจังหวัด ข้อได้เปรียบของโครงการนี้ คือ ตั้งอยู่บน Prime location ของเมือง และอยู่ติดกับคลองภักดีรำไพ  เมื่อมองทอดสายตาไปจะพบกับวิวภูเขาและท้องฟ้า เพิ่มฉากความสวยงามให้กับโครงการได้เป็นอย่างดี เซ็นทรัลพัฒนา จึงออกแบบ format ของศูนย์การค้าในรูปแบบ semi-outdoor เชื่อมต่อตัวอาคารให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติรอบนอกอย่างลงตัว ให้บรรยากาศที่โปร่ง สบายผ่อนคลายจากอากาศที่ถ่ายเท โดยผู้คนที่อยู่ในศูนย์การค้าสามารถรับลมธรรมชาติ และรับรู้ความเป็นไปของสภาพอากาศด้านนอกได้อีกด้วย

สถาปัตยกรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์เมืองจันท์ได้อย่างลงตัว

โดยการออกแบบตกแต่งทั้งภายนอกและภายใน หยิบยกเอาเอกลักษณ์ต่างๆของเมืองจันท์มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ เริ่มตั้งแต่ Façade ของศูนย์การค้าที่ดีไซน์มาจากลวดลายของเปลือกผลไม้ และผนังอาคารที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากลายเสื่อ    จันทบูรผสานกับประกายของอัญมณีเมืองจันท์ โดยมีลูกเล่นเป็นดวงไฟที่ซ่อนอยู่ในผนัง เพื่อฉายแสงสร้างประกายโดดเด่นให้กับโครงการในเวลากลางคืน

สำหรับพื้นที่ด้านในตกแต่งให้เหมือนเป็นบ้านเรือนชุมชนริมน้ำจันทบูร ใช้เทคนิคการออกแบบที่ให้ความรู้สึกเป็นครึ่งปูนครึ่งไม้ แต่คงความโปร่ง โล่ง และทันสมัย มีการนำเอากระเบื้องที่พื้นผิวเหมือนผ่านการเผาแบบโบราณมาผสมกับสังกะสีประยุกต์ใช้ตกแต่ง ห้องน้ำให้อารมณ์ห้องน้ำแบบบ้านเรือนในชุมชน และบริเวณศูนย์อาหาร (Food Patio)   มีการนำลายของเสื่อจันทบูรมาประยุกต์ใช้กับวัสดุอย่างกระเบื้องให้ออกมาเป็นลายเสื่อที่น่าสนใจอีกด้วย ที่สำคัญ Food Patio มีพื้นที่สำหรับนั่งทานอาหารแบบ outdoor รับลม ชมวิวธรรมชาติ ภูเขา ต้นไม้ และเป็นส่วนที่เชื่อมไปสู่ “สวนเพลิน” พื้นที่สีเขียวของโครงการอีกด้วย

โซน ‘สวนเพลิน’ สวนขนาดใหญ่กว่า 4 ไร่ ออกแบบมาให้เป็นพื้นที่ Multi-Purpose ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่มอายุและทุกไลฟ์สไตล์ ตั้งแต่ เด็ก วัยทำงาน กลุ่มครอบครัว คนมีสัตว์เลี้ยง ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนที่ชอบออกกำลังกาย ประกอบด้วย ลู่วิ่งรอบสวนความยาวกว่า 400 เมตร, จุดจอดจักรยาน, ลานสเกต, สนามบาส, เครื่องออกกำลังกาย, สนามเด็กเล่น และพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นสวนสาธารณะสำหรับทุกคน โดยมีโจทย์สำหรับการออกแบบว่า ทำอย่างไรให้สามารถใช้พื้นที่ส่วนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และมีการเชื่อมโยงพื้นที่แต่ละส่วนได้อย่างลื่นไหล ชัดเจน พร้อมกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งไปกับธรรมชาติรอบโครงการ

นอกจากนี้ ยังมีจุดไฮไลต์ที่ดีไซน์สะท้อนเอกลักษณ์ต่างๆของเมืองจันท์ เรียกได้ว่าเป็นจุดเช็คอินถ่ายรูปแห่งใหม่ของเมืองที่พลาดไม่ได้ ได้แก่

  1. เรือนจันทบูร จุดนั่งพักชมวิวหลักล้านของแม่น้ำและภูเขา และเป็นจุดถ่ายรูปสุดเก๋ ด้วยดีไซน์ที่ชูเสน่ห์สุดคลาสสิกของท้องถิ่น
  2. จุดชมจันท์ ที่ได้แรงบันดาลใจจากบ้านต้นไม้ในวัยเด็ก ด้วยความพิเศษของวิวรอบด้านโครงการ จึงออกแบบจุดนี้ให้ส่วนด้านบนเป็นจุดชมวิวที่เห็นคลองภักดีรำไพได้แบบ 360 องศาและด้านล่างมีคาเฟ่จำหน่ายเครื่องดื่ม โดยมีต้นไม้เป็นแกนกลางของพื้นที่ดังกล่าว
  3. บ้านชานจันท์ Co-working space พร้อมคาเฟ่ร้านกาแฟ และจุดนั่งพักที่ตกแต่งเป็นรูปทรงผลไม้ประจำถิ่น โดยมีน้องกระต่ายที่แอบอยู่ตามเสาต่างๆ สร้างบรรยากาศสนุกมากยิ่งขึ้น โดยด้านล่างมีพื้นที่ตลาดจันท์เจ้า ที่ตกแต่งโดยนำเอากลิ่นอายของจันทบุรีมาผสานไปกับความทันสมัยอย่างลงตัว พร้อมกับมีร้านค้าของคนในท้องถิ่นผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาจำหน่ายของดีของเด่นเมืองจันท์
  4. Art Feature รูปกระต่าย สุดน่ารักสัญลักษณ์ของเมืองจันท์ ที่มาในหลากหลายอิริยาบถ ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณ amphitheater ที่ทำเป็นขั้นระดับ โดยจุดนี้เป็นเหมือนจุดศูนย์รวมของทุกคน สามารถจัดงานดนตรีกลางสวน จัดกิจกรรมออกกำลังกาย หรือแม้แต่การดูหนังในสวนก็ได้ โดยพื้นที่นี้เชื่อมต่อกับบริเวณสนามเด็กเล่นเพื่อให้สะดวกกับกลุ่มครอบครัว และยังสะดวกในการเดินเข้าไปในส่วนของศูนย์อาหาร (Food Patio) อีกด้วย
  5. ลานจันอิน พื้นที่นั่งพักที่นำต้นไม้ประจำจังหวัดอย่างต้นจันอิน และผลไม้อย่างมะปี๊ด มังคุด ทุเรียนมาตกแต่ง และสินค้าออร์แกนิกให้เลือกช้อป โดยพื้นที่นี้เชื่อมต่อกับโซนสัตว์เลี้ยง (Woof Club) และพื้นที่นอกโครงการที่เป็นจุดจอดรถจักรยานและลู่วิ่งจักรยานอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ คือความตั้งใจจริงของเซ็นทรัลพัฒนา ที่วางเป้าหมายให้โครงการเซ็นทรัล จันทบุรี ช่วยปลุกปั้น ยกระดับเมืองจันท์รอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สร้างโอกาส สร้างงาน กระจายรายได้สู่ชุมชน ไปจนถึงการสร้าง Local pride โดยร่วมมือกับท้องถิ่น ร่วมกันสร้างเสน่ห์ให้จังหวัดในหลากหลายรูปแบบ ส่งเสริมสินค้าชุมชนให้มีจำหน่ายในศูนย์การค้า เชิดชูศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งเสริมสำนึกรักบ้านเกิด สร้างความรู้สึกให้คนในชุมชนได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาจังหวัดของตัวเอง คนที่เคยต้องไปทำงานในจังหวัดอื่นๆ ก็สามารถกลับบ้านเกิดของตัวเองได้เพราะมีโอกาสมากมายรออยู่ เรียกได้ว่าเซ็นทรัลพัฒนา เป็นองค์กรตัวอย่างในการทำธุรกิจที่คำนึงถึงท้องถิ่นในทุกมิติอย่างแท้จริง ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการพัฒนาโครงการของเซ็นทรัลพัฒนา ที่สามารถสร้างความมหัศจรรย์ให้กับจังหวัด สมกับคอนเซ็ปต์ “มหัศจรรย์จันทบุรี”


Tag : จันทบุรี, เซ็นทรัล

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed