อาหารไทย ยังคงเป็นอาหารที่มีมนต์เสน่ห์ในตัวเองด้วยพื้นฐานของวัตถุดิบ เครื่องปรุง และรสชาติที่แตกต่าง และบางครั้งยังแฝงเรื่องราวที่น่าสนใจไปสู่ผู้รับประทานด้วย ถือว่าเป็นอีกหนึ่ง Soft Power อันทรงพลังของไทยที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก แต่ไม่ใช่แค่เพียงอาหารไทยที่ปรุงสุกใหม่จากร้านอาหารเท่านั้นที่ได้รับความนิยม ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันทำให้อาหารไทยสำเร็จรูปเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภคต่างประเทศ สามารถรับประทานอาหารไทยที่ยังคงคุณค่าของรสชาติและคุณภาพเอาไว้ได้อย่างดี ซึ่งทุกปีจะมีผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูปที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อรับมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) โดยสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการการันตีให้ผู้บริโภคทั่วโลกได้มั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่าจะมีรสชาติตามต้นตำรับอาหารไทยอย่างแน่นอน
ตอบโจทย์คนไทยและคนเอเชียในต่างแดน
ข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียน ข้าวเหนียวน้ำกะทิมะม่วง ข้าวเหนียวเปียกลำไย และข้าวเหนียวมูน เป็นอาหารหวานยอดนิยมของคนไทยมาทุกฤดูกาล ซึ่งแน่นอนว่าคนไทยที่ไปอาศัยอยู่ต่างประเทศคงจะคิดถึงรสชาติอาหารหวานเหล่านี้อยู่ไม่น้อย และวันนี้ แบรนด์ ดิลิเชียส เดสติเนชั่น (Delicious Destination) ได้ตอบโจทย์ความต้องการนั้นแล้ว ด้วยการส่งผลิตภัณฑ์แช่เยือกแข็งกลุ่มนี้ไปเสิร์ฟกันถึงต่างประเทศ พร้อมประทับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT สร้างความเชื่อมั่นให้แบรนด์อาหารไทยได้เป็นอย่างดี
นายไกรธวัช ศรีเบ็ญจรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอลเคมมิสท์ จำกัด เล่าว่า "จากจุดเริ่มต้นของการทำฟาร์มผลไม้ส่งออกในนาม FINNLAND SMART FARM ที่ส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ให้ใช้เทคโนโลยีในการควบคุมดูแลจนได้ผลผลิตคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน ต่อยอดสู่การพัฒนาแปรรูปผลไม้และถนอมอาหารภายใต้ชื่อ Delicious Destination เพื่อส่งต่อความสดอร่อยของผลไม้ไทยแท้ หลากหลายรสชาติสู่ตลาดโลก โดยทางบริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีแช่เยือกแข็งเพียง 5 นาทีในการแปรรูปผลิตภัณฑ์กลุ่มข้าวเหนียวเพื่อส่งออก ซึ่งหลังจากนำเข้าไมโครเวฟ 800 วัตต์ เพียงแค่ 2 นาที แม้จะทิ้งไว้จนเย็นแต่ยังคงความนุ่มของข้าวเหนียว รสชาติเข้มข้น และคุณค่าทางโภชนาการไว้ถึง 95% ถือเป็นการแก้ Pain Point ของข้าวเหนียวอย่างแท้จริง ส่วนตัวเนื้อผลไม้เองก็ไม่เละ ไม่เปลี่ยนรูป แม้จะผ่านความร้อน ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยและชาวเอเชียทั่วโลกได้รับประทานอาหารเหล่านี้ประหนึ่งได้เดินทางมาทานที่เมืองไทยโดยตลาดเป้าหมายสำคัญ อาทิ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ส่วนโซนยุโรปจะส่งสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายที่เนเธอร์แลนด์ซึ่งสามารถกระจายสินค้าไปได้แทบทุกประเทศในยุโรป และตลาดตะวันออกกลาง ส่วนสหรัฐอเมริกายังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้นำเข้า
บริษัทใช้เวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้่ประมาณ 1 ปีครึ่ง เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน อีกทั้งยังเล็งเห็นโอกาสเติบโตในต่างประเทศที่มีค่อนข้างสูงหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ต้องการใช้เวลาทำอาหารทานที่บ้านและอยู่กับครอบครัวมากขึ้น จริงๆ แล้วอาหารไทยนั้นไม่ว่าจะคาวหรือหวานก็ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในต่างประเทศอยู่แล้ว แต่อาจจะเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพของผู้ผลิตซึ่งควบคุมได้ยากเนื่องจากมีผู้ผลิตหลากหลายในตลาดทั้งจากประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เมื่อผู้บริโภคซื้อไปรับประทานแล้ว ไม่พึงพอใจเท่าที่ควร จึงมักจะเหมารวม ส่งผลให้เกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์อาหารไทย ด้วยเหตุนี้ ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT จึงช่วยการันตีในคุณภาพ รสชาติตามต้นตำรับไทยแท้ และสร้างความเชื่อมั่นในให้แก่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นการสร้างความเข้มแข็งของการส่งออกสินค้าอาหารไทยสำเร็จรูปในภาพรวม”
ปลาเค็มรวน..อาหารไทยโบราณไปนอก
จากธุรกิจกงสีร้านเครื่องเขียนรายใหญ่ของจังหวัดชุมพรและกาฬสินธุ์ และการเป็นตระกูลที่ออกเรือมาหลายชั่วอายุคนที่สมุทรสาคร แต่พอมาเจอกับสถานการณ์โควิด-19 และการเติบโตที่ชะงักลงของธุรกิจการศึกษาทำให้ นางสาวไพรินทร์ อัศวทวีโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ริน อินเตอร์ฟู้ด จำกัด เปลี่ยนวิธีคิดและหาธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต จึงหันกลับมามองที่ความชื่นชอบและความคุ้นเคยกับอาหารทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ปลาอินทรีเค็ม" ที่กลายเป็นตัวเลือกแรกของการพัฒนาสินค้า เพื่อตอบโจทย์ Pain Point เรื่องกลิ่นเมื่อต้องนำไปประกอบอาหาร ผนวกกับการใช้องค์ความรู้เรื่องการรวนปลาเค็มซึ่งถือเป็นกรรมวิธีโบราณตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ชูจุดเด่นถึงกรรมวิธีการคั่วรวนกับสมุนไพรไทย อาทิ กระเทียม พริกแห้ง ไม่ใส่สารกันเสีย ไม่ใส่ผงชูรส ไม่ปรุงแต่งน้ำตาล จึงดีไซน์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อแจกจ่ายไปยังคนใกล้ชิดและลูกค้าได้ทดลองทาน จากการสำรวจตลาด (survey) ทำให้ทราบว่าลูกค้าชื่นชอบเพราะ "อร่อย แปลก แตกต่างจากที่เคยทาน" และมีการขอซื้อซ้ำทันที แต่ผู้บริโภคหลายท่านยังเรียกว่า "น้ำพริกปลาเค็ม" ซึ่งคลาดเคลื่อนจากคอนเซ็ปต์ของปลาเค็มรวน จึงต้องสร้างการรับรู้ใหม่ที่ชัดเจนและตรงไปตรงมาภายใต้สโลแกนที่ว่า "ปลาเค็มรวนไม่ใช่น้ำพริก" และเริ่มต้นเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ
"หลังจำหน่ายไปได้สักระยะ มีสายตรงจากลูกค้าท่านหนึ่งโทรมาจุดประกายว่าสินค้าของแบรนด์เราส่งไปจำหน่ายต่างประเทศได้ เพราะตอบโจทย์ Pain Point ของผู้ที่ต้องการทานปลาเค็มแต่ไม่สามารถทอดทานเองที่บ้าน เพราะประสบปัญหาเรื่องกลิ่นที่กระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในต่างประเทศ สินค้าของเราจึงเข้มงวดเรื่องมาตรฐานด้านอาหารและสุขภาพในหลายมาตรฐานก่อนส่งไปจำหน่าย และได้ตัดสินใจกับครอบครัวในการลงทุนทำโรงงานผลิต ศึกษาเรื่องมาตรฐานอาหารต่างๆ ควบคู่ไปกับการเข้าร่วมกิจกรรมของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงทราบรายละเอียดโครงการ Thai SELECT จึงตัดสินใจสมัครขอรับตราสัญลักษณ์ทันที เพราะมั่นใจว่าจะทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในสินค้า สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผลิตภัณฑ์ โดยได้กำหนดกลยุทธ์ในการทำการตลาดไว้ 2 แบบ คือ กลุ่ม Business-to-Customer (B2C) จะเป็นแบบซื้อแล้วทานเลย หรือ Ready to eat และกลุ่ม Business-to-Business (B2B) ซึ่งจะเป็นกลุ่มร้านอาหารที่นำสินค้าไปประกอบในเมนูอาหาร หรือ Easy to cook
ตลาดเป้าหมายแรกคือประเทศในเอเชียที่ใกล้กับประเทศไทยอย่างเมียนมาร์ ผ่านทาง Thai Town Supermarket และมาเลเซีย ที่จะไปในรูปแบบการจับคู่ธุรกิจกับร้านอาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ซึ่งมีถึง 13 ร้าน ในลักษณะของการสร้างสรรค์เมนูอาหารสไตล์ฟิวชั่นใหม่ๆ ของร้าน และยังมองไปถึงการไปสู่ตลาดที่ไกลมากขึ้นอย่างสหรัฐอเมริกา โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทส่งออกสินค้าไทยซึ่งได้เข้ามาดูโรงงานเพื่อพิจารณาการนำไปจำหน่ายให้กับคนเอเชียที่นั่น ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่พอสมควร สำหรับการที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ร่วมกิจกรรมโปรโมทของทาง DITP ทั้งในและต่างประเทศ เพราะการขยายตลาดไปต่างประเทศนั้นนับว่ายังมีโอกาสอยู่มาก แต่จะต้องเข้าไปในช่องทางที่ถูกต้องและมีหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุน สำหรับผู้ประกอบการที่มีสินค้าที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย มีกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน อยากให้ลองพิจารณาการขอรับตราสัญลักษณ์นี้ ซึ่งในปีหน้า ริน อินเตอร์ฟู้ด ก็เตรียมผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อจะขอรับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ด้วยเช่นกัน"
ทำไม “โลโบ” ถึงขอใช้ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT อย่างต่อเนื่อง
ด้าน นางสาวศจี เสือขำ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท โกลโบ ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตสินค้าเครื่องปรุงอาหาร ตราโลโบ ที่ต่ออายุตราสัญลักษณ์ THAI SELECT มาอย่างต่อเนื่องเล่าว่า "บริษัทฯ ได้นำสินค้าเข้าประกวดขอรับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT มาตั้งแต่พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการขยายขอบเขตตราสัญลักษณ์ เข้ามาในกลุ่มเครื่องปรุงอาหารไทย ผลิตภัณฑ์โลโบก็เข้าพิจารณารับตราสัญลักษณ์และต่ออายุทุกๆ 3 ปี มาโดยตลอด ปัจจุบัน “โลโบ” มีสินค้าที่ได้รับตราสัญลักษณ์ แล้วถึง 74 รายการ ซึ่งปีนี้มีการขอต่ออายุ 39 รายการ และขอใช้ใหม่อีก 4 รายการ ได้แก่ ผงทำข้าวหมกไก่ เครื่องแกงฮังเล ผงทำอาหารทอดกระเทียมพริกไทย และผงปรุงน้ำราดหมูแดง เพราะในตลาดต่างประเทศนั้นอาหารไทยเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ทำให้มีผู้ผลิตอาหารไทยหลายราย ทั้งจากประเทศไทยเองและประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซียก็ผลิตเครื่องต้มยำ หรือประเทศทางยุโรปก็ผลิตแกงเขียวหวานหรือผัดไทย ผู้บริโภคจึงมีตัวเลือกมากมาย นอกจากราคาจะเป็นปัจจัยในการตัดสินใจซื้อแล้ว เรื่องคุณภาพและมาตรฐานด้านรสชาติไทยแท้ก็เป็นปัจจัยสำคัญด้วย ดังนั้นการมีตราสัญลักษณ์ Thai SELECT จึงทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในผลิตภัณฑ์ รสชาติต้นตำรับและอัตลักษณ์ความเป็นไทย เป็นการช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านภาพลักษณ์ของสินค้าอาหารไทย ที่ไม่ใช่แค่เป็นผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีมาตรฐานโดยเฉพาะด้านรสชาติที่เป็นที่นิยมและได้รับรองจากหน่วยงานที่ได้รับความเชื่อถือ"
สำหรับผู้ประกอบการอาหารไทยสำเร็จรูปสามารถติดตามรายละเอียดการขอใช้ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ได้ทาง อีเมล tsproduct.ditp@gmail.com
Tag :
เครื่องปรุง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น