กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP เปิดตัวกิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทย รุ่นที่ 5 หรือ IDEA LAB 5 ส่งเสริม SMEs ไทยมุ่งสู่การเป็นแบรนด์ BCG Heroes สร้างจุดแข็ง ชูอัตลักษณ์แบรนด์รับ Megatrends ในตลาดสากล และสอดคล้องกับรูปแบบชีวิต Next Normal ปีนี้ผู้ประกอบการให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมกว่า 293 แบรนด์
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย สร้างจุดแข็งให้กับสินค้าและบริการไทย เพื่อตอบสนองความต้องการ Megatrends และความต้องการของผู้ประกอบการในยุค Next Normal โดยเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้มีศักยภาพสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของตนเองได้ มีความพร้อมด้านการค้าและเศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อสร้างผู้ส่งออกรายใหม่ (New Faces) และยกระดับผู้ประกอบการท้องถิ่นในทุกภูมิภาคของไทยสู่ตลาดโลก หรือ Local To Global จึงเกิดเป็นกิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทย หรือ IDEA LAB ขึ้นมา
“กรมฯ ได้ผลักดันให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ทางการค้าที่ดี เป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลก โดยยกโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นแนวทางที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพ SMEs ไทยในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากการค้าออนไลน์ระหว่างประเทศ ช่วยขยายตลาดสินค้ากลุ่ม BCG ในยุค Next Normal ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยคาดหวังให้กิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทยนี้ ช่วยสร้างผู้ประกอบการที่มีมูลค่าเพิ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น สร้างแบรนด์ภูมิภาคให้เป็นแบรนด์ต้นแบบประจำท้องถิ่น ได้นำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม การออกแบบ และการสร้างแบรนด์ มาส่งเสริมเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ ให้แบรนด์ไทยเป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลก มุ่งยกระดับสู่การเป็นแบรนด์ BCG Heroes ซึ่งจากการดำเนินงานโครงการ 4 รุ่นที่ผ่านมาได้สร้างผู้ประกอบการจำนวน 65 ราย และทำให้ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในด้านการสร้างแบรนด์อย่างเป็นรูปธรรม โดยแต่ละรายได้แนวทางกลยุทธ์แบรนด์ของตนเอง ค้นพบอัตลักษณ์จุดแข็ง และความท้าทายของตนเอง สามารถเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในเวทีสากล”
สำหรับ กิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทย รุ่นที่ 5 หรือ IDEA LAB 5 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Local Brand Building for Global Market” เน้นส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในทุกภูมิภาค ในด้านการสร้างคุณค่าของแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับและให้สามารถขยายมูลค่าการค้าระหว่างประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด กรมทรัพย์สินทางปัญญา กองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในปีนี้ มีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 293 แบรนด์ โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เน้น 3 กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพในทางการตลาด ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร กลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม และกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์และหัตถกรรม ซึ่งมีกิจกรรมใน 2 รูปแบบ ได้แก่ ช่วงที่ 1 การสัมมนาด้านการสร้างแบรนด์ เพื่อสร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางด้านการสร้างแบรนด์ ได้รับเกียรติจากผู้บริหารองค์กรธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ชั้นนำ ระดับแนวหน้าของประเทศ ที่จะมาให้ความรู้ด้านการสร้างแบรนด์แบบรอบด้าน อาทิ นางสาวศศิภาส์ มงคลนาวิน ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท โอกิลวี่ ประเทศไทย จำกัด, นายทรงพล เนรกัณฐี แบรนด์และนักการตลาดเชิงกลยุทธ์, นายสุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบและสื่อสารแบรนด์ชุมชน, นายณทัต ณ สงขลา ผู้ก่อตั้ง The Double Rabbits Creation Agency, นายดำรงค์ พิณคุณ ประธานกรรมการเครือ บริษัท เรสเตอร์ กรุ๊ป, นายอธิคม วัชชลาพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้า, นายสุทธิเกียรติ สุทธิธรรม ที่ปรึกษาด้านประสบการณ์ผู้บริโภค องค์กรขนาดใหญ่ (Enterprise CX Advisor), Twilio, นายสมชนะ กังวารจิตต์ ผู้ก่อตั้ง Prompt Design เป็นต้น จากนั้นผู้ที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 2 ช่วงจะถูกคัดเลือกเหลือ 30 แบรนด์ เพื่อเข้าสู่กิจกรรมใน ช่วงที่ 2 การอบรมเชิงลึก และคัดเลือกเหลือ 15 แบรนด์สุดท้าย ซึ่งจะรับการพัฒนากลยุทธ์การสร้างแบรนด์เฉพาะราย โดยให้ผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันค้นหาจุดแข็งและการสร้างความแตกต่าง รวมไปถึงแนวทางการสื่อสารแบรนด์เพื่อนำไปสู่การสร้างคู่มือแบรนด์ (Brand Bible) ต่อไป
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร.1169
Tag :
เศรษฐกิจ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น