ประเทศไทยมีการผลิตและส่งออกเนื้อไก่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก โดยมีประเทศคู่ค้าที่สำคัญ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ โดยล่าสุดประเทศซาอุดิอาระเบียอนุญาตนำเข้าไก่สดแช่เย็น-แช่แข็ง และแปรรูปจากประเทศไทย นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ซาอุฯ นับเป็นตลาดที่บริโภคเนื้อไก่ใหญ่อีกแห่งหนึ่งของโลก การได้รับการยอมรับจากนานาประเทศสะท้อนให้เห็นถึงตลอดห่วงโซ่การผลิตไก่เนื้อไทยที่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยอาหาร การตระหนักและยึดหลักสวัสดิภาพสัตว์ ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาประยุกต์ใช้ จนเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสูงเป็นที่ยอมรับระดับโลก
อุตสาหกรรมการเลี้ยงและผลิตสัตว์ปีกในประเทศไทยมีมาตรฐาน Good Agricultural Practices (GAP) เป็นแนวทางด้านการปฏิบัติที่ดีทางด้านการเกษตรเกี่ยวข้องกับฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ ซึ่งเป็นมาตรฐานเทียบเท่ากับระดับสากล นอกจากนี้ยังมีการนำระบบคอมพาร์ตเมนต์ที่ใช้ในการควบคุมและป้องกันโรคโดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก โดยมีหลักการทางด้านมาตรฐานระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity System) และมาตรฐานการควบคุมและเฝ้าระวังโรค (Disease Surveillance System) เป็นแนวทางในการเลี้ยงสัตว์ปีก ดังนั้นระบบคอมพาร์ตเมนต์จึงเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนในการจัดการการเลี้ยงไก่ของไทยให้มีความปลอดภัย สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้
ส่วนข้อสงสัยจากคนบางกลุ่มที่ยังเชื่อว่ามีการฉีดสารฮอร์โมนเร่งโตในไก่นั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศเพิกถอนทะเบียนยาฮอร์โมนชื่อ Hexoestrol หรือที่เราคุ้นเคยในกลุ่มฮอร์โมนตระกูล Estrogen ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ซึ่งหากมีการลักลอบใช้ถือว่ามีความผิด และจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ขณะเดียวกันด้วยความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการผลิตไก่ไทย การปรับปรุงสายพันธุ์สัตว์ปีก มีการเลี้ยงในโรงเรือนที่เหมาะสม ให้อาหารและน้ำสะอาด เพียงพอ ไม่ทำให้สัตว์รู้สึกเครียด เจ็บป่วย ส่งผลให้ไก่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ตามพันธุกรรม จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้สารเร่งการเจริญเติบโต ที่สำคัญ ประเทศผู้นำเข้าไก่เนื้อของไทยทั้งญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป เข้มงวดกฎเกณฑ์ด้านสุขอนามัยสูงมาก (Sanitary and Phytosanitary : SPS)
นอกจากนี้ภายใต้กระบวนการเลี้ยงไก่ที่มีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นหลักสวัสดิภาพ ควบคู่กับการกำกับดูแลจากกรมปศุสัตว์ ในกระบวนการผลิตไก่เนื้อยังมีการสุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อทั้งในส่วนหัว คอ ปีก และอวัยวะภายในเพื่อส่งห้องปฏิบัติการในการวิเคราะห์ตรวจสารพิษ สารตกค้าง ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจำหน่ายไปยังผู้บริโภค โดยมีการควบคุมจากกรมปศุสัตว์ จึงสามารถยืนยันอีกเสียงเพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคว่า ไก่ที่เลี้ยงในปัจจุบันมีความปลอดภัยทางด้านอาหาร และมีคุณภาพสูง ในส่วนของผู้บริโภค ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ปรุงสุกก่อนรับประทาน เพื่อให้มั่นใจว่าเนื้อไก่ปลอดภัย ปลอดสาร ปราศจากเชื้อโรค
ผศ.น.สพ.ดร.เกรียงไกร วิฑูรย์เสถียร ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Tag :
เนื้อไก่
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น