จังหวัดสงขลา วันนี้ (วันที่ 18 มีนาคม 2565) นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความเห็นระหว่าง 7 องค์กรพันธมิตร เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานและเป้าหมาย ของศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (Fishermen Life Enhancement Center หรือ ศูนย์ FLEC) ในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2564-2568) พร้อมกันนี้ ตัวแทนองค์กรพันธมิตรร่วมเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ฯ โดยมี นายชาญชัย โชติชูทิพย์ หัวหน้าสำนักงานท่าเทียบเรือประมงสงขลา นายสมเจตน์ ศรีกนก สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และนางสาวนาตยา เพชรรัตน์ ผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา ในฐานะกรรมการศูนย์ FLEC ร่วมให้การต้อนรับและพานำชมศูนย์ฯ ณ ท่าเทียบเรือประมงสงขลา
ขณะเดียวกัน นายวุฒิชัย ร่วมกับตัวแทนจากธุรกิจสัตว์น้ำ สนับสนุนหน้ากากอนามัยซีพี เพื่อเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ท่าเทียบเรือประมงสงขลาที่ปฏิบัติงานอยู่ด่านหน้า
นางสาวนาตยา กล่าวว่า การดำเนินงานของศูนย์ FLEC ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ได้มีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานประมงและครอบครัวในพื้นที่จังหวัดสงขลา ช่วยลดการเอาเปรียบแรงงาน แรงงานมีศูนย์รวมในการขอคำปรึกษาในการทำงาน สุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน ขณะที่ บุตรหลานของแรงงานยังได้มีโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้น ได้รับความรู้และฝึกทักษะที่เหมาะสมของเด็ก เป็นการป้องกันการใช้แรงงานเด็กควบคู่กัน ขณะเดียวกัน แรงงานประมงและครอบครัวมีสุขภาวะดีขึ้น ได้เข้าถึงยารักษาโรคพื้นฐาน และมีความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ศูนย์ FLEC ได้มีส่วนช่วยให้แรงงานและครอบครัวได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งการดูแลสุขภาพและเข้าถึงวัคซีน ขณะที่ การส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์ช่วยให้แรงงานมีอาหารปลอดภัยบริโภคอย่างเพียงพอในช่วงวิกฤติ ที่สำคัญ แรงงานยังตระหนักและเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรม สนับสนุนให้การดำเนินงานของศูนย์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นายชาญชัย ได้กล่าวขอบคุณ ซีพีเอฟ ที่ให้ความสำคัญกับแรงงานในภาคประมงจังหวัดสงขลา เป็นการช่วยเหลือสังคมและประเทศไทย โดยผนึกพลังร่วมกับองค์กรภาครัฐ ภาคประชาสังคม ในการป้องกันปัญหาค้ามนุษย์ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในห่วงโซ่ประมง ผ่านการจัดตั้งศูนย์ FLEC ซึ่งเป็นศูนย์รวมของการช่วยเหลือและให้โอกาสต่างๆ แก่แรงงานประมง ครอบครัว และลูกหลานของแรงงาน สำหรับการดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 2 นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการจัดการปัญหาขยะในทะเลต่อไป
ศูนย์ FLEC ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม 2559 โดย บูรณาการความชำนาญของ 5 องค์กร ได้แก่ 1). องค์การสะพานปลา 2).กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 3).สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย 4).ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (บ้านสุขสันต์) และ 5). ซีพีเอฟ และในการดำเนินการ ศูนย์ FLEC ในระยะที่ 2 (พ.ศ.2564-2568) เพื่อเดินหน้าการป้องกันการค้ามนุษย์ ควบคู่กับส่งเสริมการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยขยายความร่วมมือกับ 2 องค์กร ได้แก่ บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด หรือ GEPP สตาร์ทอัพไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านข้อมูลการบริหารจัดการขยะ และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี ซึ่งจะมาช่วยจัดการปัญหาขยะในทะเลและชายฝั่ง โดยสนับสนุนถ่ายทอดองค์ความรู้การบริหารจัดการข้อมูลการจัดการขยะในชุมชนแบบครบวงจร และนำเทคโนโลยีมาต่อยอดการเพิ่มมูลค่าขยะ ควบคู่กับการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานประมงและครอบครัว ลดความเหลื่อมล้ำ และร่วมยุติปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ในประเทศที่ยั่งยืน
Tag :
ซีพีเอฟ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น