คุณพร้อมรับคำท้าหรือยัง? องค์กรพิทักษ์สัตว์ ซิเนอร์เจีย แอนิมอล ขอเชิญชวนชาวไทยให้กินอาหารจากพืชเป็นเวลา 22 วัน เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ โลก และสวัสดิภาพสัตว์
หลังการดำเนินงานเพียง 2 ปี โครงการ ท้าลอง 22 วัน ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่คนรักสุขภาพ สิ่งแวดล้อม รวมถึงชาวไทยที่รักสัตว์ในระยะเวลาที่ผ่านมานี้ กว่า 27,500 คน ได้เข้าร่วมโครงการและให้คำปฏิญาณว่าจะรับประทานอาหารจากพืชเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นและความยั่งยืน
ชิสากัญญ์ อารีพิพัฒน์ ผู้จัดการโครงการท้าลอง 22 วัน จากซิเนอร์เจีย แอนิมอล กล่าวว่า “จุดมุ่งหมายของเรา คือการทำให้ผู้คนได้เห็นว่า อาหารที่เน้นพืชเป็นหลักนั้นทำง่าย ราคาไม่แพง มีประโยชน์และยังอร่อยอีกด้วย กระแสการตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมโครงการแสดงให้เห็นว่าเรามาถูกทางแล้ว”
เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ
งานวิจัย โดยนักวิทยาศาสตร์จากภาควิชาสาธารณสุขของมหาวิทยาลัย จอห์น ฮอปกินส์ (John Hopkins University) เผยว่า ผู้คนที่รับประทานอาหารจากพืชเป็นหลัก และไม่รับประทานผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อแดง ไก่ ปลา ไข่ และนมวัว มีความเสี่ยงจากโรคหัวใจน้อยลงถึง 16 เปอร์เซ็นต์ และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง 32 เปอร์เซ็นต์
อีกหนึ่งงานวิจัย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute) เผยว่า การงดบริโภคเนื้อสัตว์และรับประทานอาหารจากพืช เช่น ผัก และถั่ว ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ยังสามารถป้องกันการเกิดขึ้นของมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย
ชนิตา เพ็ชรดำ หรือคุณตาล อายุ 22 ปี ผู้เข้าร่วมโครงการท้าลอง 22 วัน ในรอบเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แสดงความเห็นต่อโครงการว่า “เรียกได้ว่าเปิดโลกใบใหม่ของเราเลยล่ะค่ะ ก่อนเป็นวีแกนเราไม่เคยมองอาหารในด้านสารอาหารเลย มองแค่รสชาติและรสสัมผัสเท่านั้น เรื่องสุขภาพก็ไม่สนใจค่ะ วีแกนทำให้เรากลายเป็นคนที่สนใจเรื่องสารอาหารและสุขภาพ เดี๋ยวนี้เราไม่ได้มองผักเป็นแค่ผักแล้ว แต่จะมองเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากเลยอย่างเรามองคะน้า เราก็มองเค้าว่าเค้าวิตามินซีสูงมากทานเค้าป้องกันหวัดได้ด้วย หลังเป็นวีแกนเรารู้สึกว่า เราชื่นชมและเคารพพืชที่มอบสารอาหารและพลังงานให้เรามากขึ้นมาก ๆ เราคงเป็นวีแกนไปตลอดชีวิตเพราะเราคิดว่าวีแกนมีแต่สวิตช์เปิด ไม่มีสวิตช์ปิดค่ะ” ชนิตากล่าว
เปลี่ยนแปลงโลกทีละมื้อ
ชิสากัญญ์ กล่าวถึงความสำคัญของโครงการท้าลอง 22 วัน ต่อสวัสดิภาพสัตว์และสิ่งแวดล้อม โดยอ้างอิง งานวิจัยล่าสุดจาก Nature food ซึ่งเผยว่า การผลิตเนื้อสัตว์มีส่วนรับผิดชอบถึง 57% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจากการผลิตอาหาร นอกจากนี้การผลิตเนื้อสัตว์ ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับการผลิตอาหารที่มาจากพืช “การใช้ชีวิตเป็นวีแกนเพียง 1 เดือน คุณสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 281 กิโลกรัม ประหยัดพื้นที่ป่า 85 ตารางเมตร ประหยัดน้ำประมาณ 126740 ลิตร และช่วยชีวิตสัตว์นับไม่ถ้วน เราภูมิใจกับความคืบหน้าของโครงการเรามาก” ชิสากัญญ์ กล่าว
ทางด้านผู้เข้าร่วมโครงการ ชนันธร นาคศรี อายุ 31 ปี หรือคุณแซนดี้ ก็ได้พูดถึงผลกระทบของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ต่อสิ่งแวดล้อม “เหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจกินแพลนต์เบสเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมค่ะ เคยอ่านเจอว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น พอเราเริ่มศึกษา ดูสารคดีต่างๆ ก็ยิ่งรู้ว่าการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างโหดร้ายและทารุณต่อสัตว์จริงๆ ก็เลยยิ่งอยากเลิกกินเนื้อสัตว์ค่ะ” คุณแซนดี้กล่าว
ถึงแม้ว่าระยะเวลาในโครงการมีเพียง 22 วันเท่านั้น ผู้เข้าร่วมหลายคนก็ไม่กลัวที่จะมุ่งมั่นกินวีแกนตลอดชีวิต นายสรวัฒน์ สว่างอารมณ์ หรือคุณอิง อายุ 24 ปี ผู้เข้าร่วมโครงการรอบเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กล่าวทิ้งท้ายว่า “การเข้าร่วมโครงการทำให้เราคิดว่าเป็นวีแกนไม่ได้ยากอย่างที่คิด เห็นเพื่อนๆ แชร์ประสบการณ์ต่างๆ ก็ยิ่งรู้สึกว่าเราทำได้ไม่ยากครับ เรารู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่ามาถูกทางแล้ว ถึงแม้ว่าคนรอบข้างจะยังไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำตอนนี้ก็ตั้งใจว่าจะกินวีแกนต่อไปตลอดชีวิตครับ ยิ่งได้รับข้อมูลมากขึ้น ผมก็ยิ่งอินกับวิถีชีวิตวีแกนถึงขั้นไปสักที่ข้อมือว่า ‘วีแกน’ แล้วครับ (หัวเราะ)”
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง เพื่อระบบอาหารที่ยั่งยืน ดีต่อสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ ผู้เข้าร่วมโครงการ ท้าลอง 22 วันจะได้รับสิทธิพิเศษเช่น คำแนะนำจากนักกำหนดอาหาร สาระและเกร็ดความรู้สุขภาพ สูตรอาหารรายวันและกิจกรรมร่วมกับวีแกนมากประสบการณ์ในกลุ่มเฟสบุ๊ค รอบเดือนตุลาคมพร้อมเปิดรับสมัครแล้ว คนไทยทั่วประเทศสามารถเข้าร่วมโครงการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ผ่านการลงทะเบียนออนไลน์ที่ thaichallenge22.org/
Tag :
อาหารจากพืช
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น