CPF คว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น ประจำปี 2564 สะท้อนความมุ่งมั่นนำนวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ

วันที่ 8 ตุลาคม 2564  723 Views

CPF คว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ  ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น ประจำปี 2564 สะท้อนความมุ่งมั่นนำนวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มอบรางวัลองค์กรนวัตกรรมดีเด่น ประจำปี 2564 (รางวัลเกียรติคุณ ประเภทองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ ) ให้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  ผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร  มุ่งมั่นในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภค และยกระดับศักยภาพของบุคลากร  ตอกย้ำการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งนวัตกรรม  เพื่อร่วมพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ในโอกาสวันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)  ร่วมกับองค์กรภาคเอกชนชั้นนำ ภาคสถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม จัดงานวันนวัตกรรมแห่งชาติ  เพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย"  และจัดให้มีการประกาศเกียรติคุณองค์กรที่สร้างสรรค์ผลงานที่มีความเป็นนวัตกรรมโดดเด่น และเกิดคุณค่าที่ชัดเจนต่อประเทศชาติ  ได้รับเกียรติจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  กล่าวแสดงความยินดีและปาฐกถาพิเศษ   และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ในรูปแบบ Virtual  ร่วมด้วย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน)   ซึ่งการจัดงานในปีนี้ เป็นการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยปีนี้  ซีพีเอฟ ได้รับรางวัลองค์กรนวัตกรรมดีเด่น ประจำปี 2564 ( รางวัลเกียรติคุณ ประเภทองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่)  มีนายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ และ นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิศวกรรมกลาง ซีพีเอฟ  เป็นผู้แทนบริษัทรับโล่เชิดชูเกียรติ

นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลนวัตกรรมประจำปี 2564 ถือเป็น “นวัตกร” และ “องค์กรนวัตกรรม” ที่เป็นแบบอย่างและเหมาะสมในการเชิดชูเกียรติในฐานะที่ประสบความสำเร็จด้านนวัตกรรม และเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคคลอื่น  ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชน ประกอบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทั่วโลก สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมไทยและอนาคตของประเทศ ทำให้ “นวัตกรรม” กลายเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งและถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องนำพาประเทศไปสู่ “ประเทศฐานนวัตกรรม” พร้อมทั้งได้กำหนดไว้ในเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ 20 ปี คือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

นายไพโรจน์ กล่าวว่า  ซีพีเอฟ  ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้วิสัยทัศน์ "ครัวของโลกที่ยั่งยืน" ทำหน้าที่สร้างความมั่นคงทางอาหาร  โดยให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรม คน และ สิ่งแวดล้อม ด้วยการนำความรู้ เทคโนโลยี ระบบดิจิทัล และความคิดสร้างสรรค์ มาประยุกต์ใช้เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งองค์กร ขับเคลื่อนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน  ทั้งในธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์และธุรกิจแปรรูปอาหาร   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการนวัตกรรมและบุคลากรภายในองค์กรอย่างเป็นระบบ ร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและยกระดับการแข่งขัน  รวมไปถึงการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals :SDGs)

ซีพีเอฟ  นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการเลี้ยงสัตว์ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ รวมทั้งการดูแลด้านสวัสดิภาพสัตว์ ยกระดับและส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ตามมาตรฐานสากลตลอดห่วงโซ่อุปทาน อาทิ  การเลี้ยงไก่แบบปล่อยอิสระในโรงเรือน (Cage Free) และแบบปล่อยอิสระ (Free Range) ในโรงเรือนแบบปิด Biosecurity High Tech Farming ที่ปลอดโรค 100% ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อไปยังเกษตรกร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ของไทยที่ยั่งยืน

ภายใต้กลยุทธ์ 2030 Sustainability in Action บริษัทฯมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีจาก 35% เป็น 50 % ภายในปี 2573  ด้วยความมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาของศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารของซีพีเอฟ นำนวัตกรรมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร  โดยร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ อาทิ ผลิตภัณฑ์ "เบญจา ชิคเก้น” (Benja Chicken) เป็นนวัตกรรมเนื้อไก่สดพรีเมียม ไก่ที่เลี้ยงไก่ด้วยข้าวกล้อง ทำให้ได้เนื้อไก่ที่ หอม นุ่ม ฉ่ำ กว่าไก่ทั่วไป และยังไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดู จนได้รับเลือกเป็นหนึ่งในนวัตกรรม Top Innovative Product ของงาน THAIFEX - World of Food Asia 2019  ผลิตภัณฑ์หมูชีวา หมูสายพันธุ์พิเศษ เลี้ยงด้วย Super food ชั้นดี Flax Seed, น้ำมันปลา และ สาหร่ายทะเลลึก จนได้หมูที่มีโอเมก้า 3 ได้รับรางวัลสุดยอดนวัตกรรมอาหาร จากงานแสดงสินค้าอาหารระดับโลก THAIFEX-Anuga Asia 2020  การนำโปรไบโอติกมาใช้การผลิตอาหารสัตว์เพื่อช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้สัตว์แข็งแรงตามธรรมชาติ ไม่ป่วยง่าย การพัฒนาโปรตีนทางเลือก Plant- Based Protein ภายใต้แบรนด์ Meat Zero ที่ผลิตจากพืช 100% ซึ่งเป็นความร่วมมือกับบริษัทด้าน Plant-based ระดับโลกจากหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐ และสิงคโปร์ รวมถึงสถาบันการศึกษาของไทยอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นนวัตกรรม PLANT-TEC หรือ เทคนิคการสร้างรสสัมผัสเสมือนเนื้อสัตว์รองรับกระแสผู้บริโภคที่สนใจมังสวิรัติยืดหยุ่น (Flexitarian) เพิ่มขึ้น     

นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งนวัตกรรม เน้นการพัฒนาและนวัตกรรมทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อตัวพนักงานและบริษัท อาทิ นำมาตรฐาน ISO 56002 ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดการนวัตกรรมที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมาใช้  พัฒนานวัตกรตามแนวทาง TRIZ ในองค์กรได้มากกว่า 1,000 คน และยังได้จัดตั้งคณะกรรมการนวัตกรรมขององค์กร เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ในทิศทางเดียวกันทั้งองค์กร จากความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนพัฒนาการบริหารนวัตกรรมขององค์กรอย่างจริงจัง ส่งผลให้ ซีพีเอฟ เป็นองค์กรรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 56002  จากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ริเริ่มโครงการเถ้าแก่เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่  ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจของซีพีเอฟตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ในการลงมือปฏิบัติจริง เป็นการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพ สร้างคนเก่งและคนดี  ให้กับประเทศชาติ   

ทั้งนี้ การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ  แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านเศรษฐกิจ 2.ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม 3.ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ 4.ด้านสื่อและการสื่อสาร และ 5.ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น ซึ่งในการพิจารณาคัดเลือกองค์กรนวัตกรรมดีเด่น พิจารณาถึงศักยภาพในการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน และการบริหารจัดการนวัตกรรมองค์กรภายใต้กรอบโมเดลการประเมินศักยภาพนวัตกรรมองค์กร (IOM) ใน 8 มิติ ได้แก่  มิติด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม (Innovation Strategy) มิติด้านการมุ่งเน้นธุรกิจ (Business Focus) มิติด้านบุคลากร (People)  มิติด้านองค์ความรู้ (Knowledge) มิติด้านวัฒนธรรมองค์กร (Culture) มิติด้านทรัพยากร (Resource)  มิติด้านกระบวนการนวัตกรรม  (Process) และ มิติด้านผลิตผลจากนวัตกรรม (Result) โดยในปีนี้  มีหน่วยงานท้ังภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ที่มีการบริหารจัดการนวัตกรรมที่โดดเด่นเข้าร่วมประกวด 81 องค์กร  ซึ่งมีการพิจารณาตัดสินรางวัลให้แก่องค์กรประเภทต่างๆ เพื่อเข้ารับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น ประจำปี 2564 จำนวน  15 องค์กร.


Tag : ซีพีเอฟ

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed