ซิเนอร์เจีย แอนิมอล รณรงค์ให้ธุรกิจร้านอาหารหันมาใช้ไข่ไก่จากฟาร์มเลี้ยงไก่แบบปลอดกรง เพื่อสวัสดิภาพสัตว์และความปลอดภัยทางอาหาร

วันที่ 26 กรกฎาคม 2564  1,199 Views

ซิเนอร์เจีย แอนิมอล รณรงค์ให้ธุรกิจร้านอาหารหันมาใช้ไข่ไก่จากฟาร์มเลี้ยงไก่แบบปลอดกรง เพื่อสวัสดิภาพสัตว์และความปลอดภัยทางอาหาร

ซิเนอร์เจีย แอนิมอล องค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับสากล ได้เปิดตัวโฆษณาบนรถตุ๊กตุ๊ก 15 คันในกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้แมคโดนัลด์หยุดใช้วัตถุดิบไข่ไก่ที่มาจากแม่ไก่ที่ถูกเลี้ยงในกรงตับ ซึ่งถือเป็นระบบปศุสัตว์ที่โหดร้ายต่อสัตว์มากที่สุดระบบหนึ่ง รถตุ๊กตุ๊กทั้งหมดจะวิ่งวนผ่านย่านสำคัญใจกลางเมือง อาทิ สยามสแควร์ สะพานผ่านฟ้า ถนนข้าวสาร และสถานีรถไฟหัวลำโพง

การโฆษณานี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคซึ่ง ซิเนอร์เจีย แอนิมอล เริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 (www.change.org/McThaiEggs) โดยองค์กรฯ อธิบายว่าแมคโดนัลด์ ประเทศไทยควรใช้มาตรฐานเดียวกันกับที่ใช้ในอเมริกาเหนือและยุโรป ซึ่งบริษัทฯ ประกาศโยบายที่จะไม่ใช้ไข่ไก่จากฟาร์มที่เลี้ยงแบบกรงตับ “การไม่ประกาศใช้นโยบายดังกล่าวในประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าแมคโดนัลด์ใช้สองมาตรฐาน ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ที่บริษัทข้ามชาติอย่างแมคโดนัลด์จะปฎิบัติต่อสัตว์ทั่วโลกโดยใช้มาตรฐานที่ต่างกัน” วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้จัดการฝ่ายการรณรงค์ของซิเนอร์เจีย แอนิมอลประจำประเทศไทยกล่าว

การเลี้ยงแบบกรงตับ: ทั้งโหดร้ายต่อสัตว์และสร้างความกังวลด้านสาธารณสุข
การเลี้ยงแบบกรงตับเป็นระบบการผลิตไข่ไก่แบบอุตสาหกรรมที่ขังแม่ไก่จำนวนมากไว้ในกรงโลหะขนาดเล็ก ในลักษณะที่แม่ไก่แต่ละตัวใช้ชีวิตในพื้นที่ขนาดเล็กกว่ากระดาษ A4 ตลอดชีวิต และไม่สามารถเดินไปมาได้อย่างอิสระหรือกางปีกออกจนสุดได้ การไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานานทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนและสร้างความเจ็บปวดแสนสาหัสจากภาวะกระดูกเปราะบางและหักง่าย

กรงตับยังเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนอีกด้วย ตามรายงานขององค์การความปลอดภัยทางอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority) ซึ่งถือเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อทำการศึกษาครั้งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับปัญหานี้ เผยว่าการเลี้ยงแบบกรงตับมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะเกิดการปนเปื้อนของเชื้อแซลโมเนลล่า ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ “การหันไปทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบปลอดกรงจะช่วยให้มาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารสูงขึ้น” วิชญะภัทร์ อธิบาย

เนื่องจากความกังวลด้านสวัสดิภาพสัตว์และสุขภาพของผู้บริโภค กรงตับแบบดั้งเดิมจึงถูกห้ามใช้ในหลายประเทศ รวมทั้งสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเศร้าว่าในประเทศไทยแม่ไก่กว่า 60 ล้านชีวิตส่วนใหญ่ยังคงถูกเลี้ยงในระบบที่ล้าหลังนี้

หลายบริษัทตระหนักดีว่าระบบนี้ล้าสมัย โหดร้าย และเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในแง่ของความปลอดภัยทางอาหาร และได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะเลิกรับซื้อไข่ไก่จากฟาร์มเลี้ยงไก่แบบขังกรง” วิชญะภัทร์กล่าวพร้อมยกตัวอย่าง ซับเวย์, เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เล่อร์, แดรี่ควีน, บอนชอน และ เดอะ คอฟฟี่ คลับ แม้แต่ เบอร์เกอร์คิง ซึ่งเป็นคู่แข่งอันดับหนึ่งของ แมคโดนัลด์ก็ได้ประกาศนโยบายนี้ไปแล้วเช่นกัน

เราอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมแมคโดนัลด์ถึงปล่อยให้ตัวเองเดินตามหลังคู่แข่งทางธุรกิจแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้คนจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้บริษัทปรับปรุงนโยบายเสียใหม่” การยื่นคำร้องออนไลน์ที่เปิดตัวในช่วงปลายปี 2019 มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วมากกว่า 20,000 รายชื่อ ผู้บริโภคที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเรียกร้องนี้และอยากเข้าร่วมเรียกร้องให้บริษัทฯ ยกระดับมาตรฐานให้ดีขึ้นสามารถเข้าชมได้ที่ www.mcthai.org หรือ www.change.org/mcthaieggs


Tag : กรมปศุสัตว์, เลี้ยงไก่

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed