แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปีที่ผ่านมาจะส่งผลให้ธุรกิจทั่วโลกต้องหยุดนิ่ง แต่สำหรับสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) กลับรายงานตัวเลขรวมการส่งออกอาหารทะเลนอร์เวย์ที่เป็นที่น่าพอใจ ด้วยปริมาณ 2.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2 นับเป็นมูลค่ากว่า 3.77 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นยอดการส่งออกอาหารทะเลที่สูงที่สุดเป็นอันดับสองในรอบหลายปี และมีอัตราลดลงจากปีก่อนเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ในขณะที่ตัวเลขนำเข้าปลายอดนิยมของคนไทยอย่างแซลมอนนอร์เวย์มีปริมาณลดลงร้อยละ 1 เช่นกัน อยู่ที่ 16,771 ตัน มูลค่า 3.65 พันล้านบาท
อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) เผยว่า “อุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ได้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากและไม่แน่นอนที่สุดของโลก และยังคงความเป็นผู้นำในตลาดอาหารทะเลไทยไว้ได้ โดยอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรด้านธุรกิจ เพื่อปรับตัวและคิดค้นสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทำให้แซลมอนนอร์เวย์ยังเป็นที่ต้องการและเป็นวัตถุดิบยอดนิยมตลอดกาลของคนไทย แม้เทรนด์การบริโภคอาหารจะเปลี่ยนเป็นการทำที่บ้านและสั่งอาหารเดลิเวอรีมากขึ้นก็ตาม”
ตัวเลขปริมาณการนำเข้าอาหารทะเลสดและแช่แข็งโดยรวมของปลาสายพันธุ์ต่าง ๆ ในตลาดไทยปี 2563 มีอัตราลดลงเล็กน้อย โดยแซลมอนอยู่ที่ 14,083 ตัน (ลดลงร้อยละ 10) ฟยอร์ดเทราต์ 4,903 ตัน (ลดลงร้อยละ 12) และแมกเคอเรล 8,873 ตัน (ลดลงร้อยละ 1) เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งนับว่ามีอัตราการลดลงที่ต่ำมากเมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมของตลาดและเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับตัวเลขปริมาณการส่งออกอาหารทะเลนอร์เวย์ทั่วโลกอยู่ที่ 2.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 มีมูลค่าอยู่ที่ 3.77 แสนล้านบาท เทียบเท่ากับมื้ออาหาร 37 ล้านมื้อต่อวัน หรือ 25,000 มื้อต่อนาที
เทรนด์ของอาหารทะเลมีการเปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี 2563 แต่แนวทางต่าง ๆ ที่ออกมารองรับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ในปัจจุบันทำให้อาหารทะเลนอร์เวย์ยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้น มาตรการล็อกดาวน์ส่งผลให้ช่องทางรายได้จากร้านอาหารและโรงแรมหายไป การขนส่งสินค้าต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนมากขึ้น รายได้จากการจำหน่ายอาหารทะเลของนอร์เวย์รวมไปถึงแซลมอน จึงไปกระจุกตัวอยู่ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต บริการเดลิเวอรี และการสั่งอาหารกลับบ้าน
ปัจจัยหลัก 5 ข้อที่ทำให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ประสบความสำเร็จในยุคโควิด-19 มากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ประกอบไปด้วย:
- ค่าเงินโครนนอร์เวย์ที่อ่อนตัวลง
- ความสามารถในการปรับตัวที่ฉับไวของอุตสาหกรรม
- ปลาบางสายพันธุ์ที่มีอัตราการเติบโตมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น แมกเคอเรลและเฮร์ริง
- ตัวเลขการส่งออกแซลมอนที่สูงเป็นอันดับสองในรอบหลายปี
- ความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นของอาหารทะเลนอร์เวย์ในตลาดโลก
“ในยุคที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้บริโภคในไทยและทั่วโลกหันมาใส่ใจแหล่งที่มาและมาตรฐานความสะอาดของอาหารมากขึ้นกว่าเดิม ตลอดทั้งปีสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ได้ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับความกังวลด้านอาหารต่าง ๆ และสร้างความเชื่อมั่นว่าอาหารทะเลและแซลมอนสดจากนอร์เวย์ ปลอดภัย รับประทานได้ ในขณะเดียวกันยังผลักดันให้ผู้บริโภคปฎิบัติตามคำแนะนำด้านสุขอนามัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างเคร่งครัด และมีการอัพเดทข้อมูลจากหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารของนอร์เวย์และสถาบันวิจัยทางทะเลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พันธมิตรค้าปลีกและผู้บริโภคสามารถประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง” อัสบีเยิร์น กล่าว
ตลอดปี 2563 สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ได้จัดกิจกรรมการตลาดต่าง ๆ ด้วยวัตถุประสงค์ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารทะเลนอร์เวย์ให้กับผู้บริโภคไทยและกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรทางธุรกิจของประเทศไทย อีเว้นต์เด่น ๆ ในปีที่ผ่านมา ได้แก่ งานรับประทานอาหารค่ำประจำปี “Seafood under the Stars” เพื่อเปิดตัววัตถุดิบอาหารทะเลใหม่ ๆ งานสัมมนาอาหารทะเลนอร์เวย์ที่สืบเนื่องกับงานไทยเฟ็กซ์ - อนูก้า เอเชีย 2020 เพื่อแลกเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหารทะเลในประเทศไทย แคมเปญ Line Man x Wongnai เพื่อโปรโมทตราสัญลักษณ์ Seafood From Norway ร่วมกับ 7 ร้านอาหารญี่ปุ่นและอาหารทะเลชื่อดัง และแคมเปญ ฟยอร์ดเทราต์กับอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังอย่าง ปอนด์ ยาคอปเซ่น Bon Jakobsen ที่มาแชร์เรื่องราวสนุก ๆ แกล้มความรู้เกี่ยวกับฟยอร์ดเทราต์จากนอร์เวย์
“ในปี 2564 นี้ อุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ยังคงมุ่งมั่นที่จะผลิตอาหารทะเลที่ปลอดภัย ยั่งยืน และอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ให้กับผู้บริโภคไทย โดยเฉพาะในช่วงเวลาแบบนี้ ตัวเลือกด้านอาหารที่ดีต่อสุขภาพและความยั่งยืนเป็นที่ต้องการมาก ประเทศไทยเองเป็นตลาดที่ตอบรับกับกระแสนิยมและมีการปรับตัวได้รวดเร็ว ผู้บริโภคไทยเปิดรับไอเดียและสินค้าใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทางสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์จึงมีแผนที่จะส่งแคมเปญการตลาดออนไลน์ต่าง ๆ และกิจกรรมทางการตลาดกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรค้าปลีกทั้งหลาย เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง” อัสบีเยิร์น กล่าวปิดท้าย
Tag :
อาหารทะเล
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น