สินค้าอาหารและเครื่องดื่มเยอรมนีสดใส สวนทางภาวะวิกฤตโควิด-19

วันที่ 28 พฤษภาคม 2563  1,059 Views

สินค้าอาหารและเครื่องดื่มเยอรมนีสดใส สวนทางภาวะวิกฤตโควิด-19

กระทรวงพาณิชย์แนะวิกฤตสร้างโอกาส ตลาดเยอรมนีสดใส ผู้บริโภคต้องการสินค้าอาหารและเครื่องดื่มสำหรับการอยู่บ้านในช่วงล็อคดาวน์ และคาดว่าจะยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง SMEs ไทยควรคว้าโอกาสขยายส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ ขณะเดียวกันต้องรักษาพื้นที่ตลาดเดิมของผักและผลไม้แม้ช่วงนี้ยอดขายลดลงเนื่องจากเน้นช่วยเหลือผู้ผลิตท้องถิ่น

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดเยอรมนีถือเป็นตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปและเป็นตลาดสำคัญของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากประเทศไทย เนื่องจากเป็นตลาดที่ใหญ่ มีจำนวนผู้บริโภคมาก ผู้บริโภคมีรายได้เฉลี่ยค่อนข้างสูงและมีกำลังซื้อ และมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะตลาดค้าปลีกที่มีสาขาตั้งอยู่ทุกหนแห่ง

ในปี พ.ศ. 2561 อุตสาหกรรมอาหารของเยอรมนีมียอดผลประกอบการของภาคการผลิตอาหาร 179.6 พันล้านยูโร ถือเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ จากข้อมูลของ Food Federation Germany พบว่าหากนับรวมทั้งสายพานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ภาคการเกษตร การค้าส่ง การค้าปลีก การบริการ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจนถึงมือผู้บริโภคแล้ว (From farm to fork) มีผู้ทำงานกว่า 5.8 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนประชากรในประเทศ ในธุรกิจจำนวน 700,000 ธุรกิจ มีสินค้าอาหารและเครื่องดื่มกว่า 170,000 ผลิตภัณฑ์ โดยอุตสาหกรรมอาหารที่มียอดจำหน่ายสูงสุด คือ การแปรรูปเนื้อสัตว์ การผลิตสินค้าที่ทำจากนม ขนม และอาหารอบ และการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนกลุ่มอาหารอื่น ๆ ที่มีความสำคัญรองลงมาตามลำดับ ได้แก่ การแปรรูปผักและผลไม้ น้ำแร่ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

แต่แม้ว่าเยอรมนีเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญประเทศหนึ่งของโลก ก็ยังมีอัตราการนำเข้าสูงเช่นเดียวกัน เพราะสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกพืชผักบางชนิด และด้วยต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้น รวมทั้งความกดดันจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น จึงต้องนำเข้าสินค้าจำพวกผักและผลไม้สดที่ขาดแคลน อาหารสำเร็จรูป และวัตถุดิบที่เป็นส่วนผสมอาหารจากต่างประเทศ เพื่อใช้สำหรับการผลิตอาหารแปรรูป รองรับความต้องการของประชากรกว่า 82 ล้านคน โดยประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าไปเยอรมนีปีละกว่า 1.5 แสนล้านบาท 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ  สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

“สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ของประเทศเยอรมนี ทำให้ธุรกิจหลายภาคส่วนของประเทศเผชิญกับภาวะซบเซาและถดถอย แต่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะภาคการค้าปลีกนั้นกำลังอยู่ช่วงตักตวงรายได้ สืบเนื่องมาจากผู้บริโภคระดมซื้ออาหารและของใช้ในครัวเรือนเพื่อบริโภคและกักตุนในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน จึงทำให้สินค้าอาหารหลายประเทศขาดตลาดเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังมีการกักตุนต่อเนื่องไปอีกเรื่อย ๆ จนกว่าวิกฤตนี้จะผ่านพ้นไป จึงเป็นโอกาสของสินค้าอาหารของไทย” นายสมเด็จ กล่าว

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการในการส่งออกสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งมีทั้งโอกาสและข้อควรระวัง โดยศึกษาจากพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งมาตรการล็อคดาวน์ของประเทศที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นสถานการณ์ที่สร้างโอกาสทางการค้าให้กับกลุ่มสินค้าอาหารแห้ง อาหารที่เก็บไว้ได้นาน อาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat) อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง ฯลฯ แต่สำหรับกลุ่มอาหารสดและผลไม้จะมีแนวโน้มลดลงเพราะผู้บริโภคเน้นการบริโภคสินค้าสินค้าในท้องถิ่นหรือพื้นที่ใกล้เคียงเป็นหลัก เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตในช่วงเผชิญภาวะวิกฤต แต่อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกสินค้าผักและผลไม้สดของไทยควรพยายามส่งสินค้าไทยเข้าไปอย่างต่อเนื่องไม่ให้ขาดช่วง เพื่อเป็นการรักษาพื้นที่สินค้าไทยในตลาด ตลอดจนป้องกันการยกเลิกการสั่งสินค้าอย่างถาวรในอนาคตของลูกค้าหรือร้านค้าปลีก ซึ่งการนำสินค้ากลับเข้าไปในภายหลังอาจจะเกิดความยุ่งยากและใช้เวลา หรือลูกค้าอาจเปลี่ยนไปสั่งสินค้าจากประเทศอื่นทดแทน

นอกจากกลุ่มสินค้าที่สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการนั้น กฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับสินค้าอาหารยังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรศึกษาและปฏิบัติตาม เพื่อให้การส่งสินค้าไปจำหน่ายนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาของกฎระเบียบในการให้ข้อมูลและติดฉลากอาหารชื่อ Food Information Regulation (FIR) ที่บัญญัติโดยสหภาพยุโรป ฉลากของเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อสุกร เนื้อแกะ และเนื้อแพะ รวมทั้งเนื้อสัตว์ปีก จะต้องแสดงข้อมูลถิ่นกำเนิด ที่เพาะเลี้ยง และโรงเชือด การขายสินค้าอาหารระยะทางไกล หรือการขายออนไลน์ จะต้องใช้ข้อกำหนดการติดฉลากสินค้าอาหารเดียวกันกับการขายตามร้านค้า หรือกฎระเบียบเกี่ยวกับอาหารใหม่ (Novel food) เป็นต้น

งานแสดงสินค้านานาชาติซึ่งถือเป็นช่องทางสำคัญให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ต้องการขยายตลาดสู่เยอรมนี อาทิ งาน ISM Cologne 2021 ระหว่างวันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2564, งาน Fruit Logistica 2021 ระหว่างวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ 2564 และงาน Veganfach เป็นงานแสดงสินค้าวีแกนที่ใหญ่และสำคัญที่สุดงานหนึ่งในยุโรป และเป็นตลาดที่มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นต้น ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการ SMEs Pro-active โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-507-7783 หรือ 02-507-7786


Tag : โควิด-19

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed