“โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ช่วยให้ชุมชนในพื้นที่ห่างไกลและในถิ่นทุรกันดาร เข้าถึงโปรตีนคุณภาพสูงจากไข่ไก่ได้ โดยเฉพาะช่วงโรงเรียนปิดเทอมจะบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่ จำหน่ายชุมชนรอบข้าง ในราคาย่อมเยาและพอเพียง แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ในสถานการณ์ที่คนไทยต้องร่วมด้วยช่วยกันฝ่าวิกฤติโควิด-19
“โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” เป็นโครงการที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบันมีโรงเรียนจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการฯ 824 โรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้บริโภคอาหารโปรตีนคุณภาพ คือ ไข่ไก่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงปิดเทอมโรงเรียนไม่ต้องนำผลผลิตไข่ไก่ไปทำเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน จึงมีการบริหารจัดการผลผลิตที่สดและปลอดภัยขายให้กับคนในชุมชน
ร.ต.อ. กำจัด ผาใต้ ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนค็อกนิสไทย จ.สกลนคร กล่าวว่า โรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯป็นมาเป็นปีที่ 18 แล้ว โดยทางซีพีเอฟและมูลนิธิฯมอบไก่พันธุ์ไข่ให้ 200 ตัว ปัจจุบันเก็บผลผลิตไข่ไก่ได้วันละ 185 ฟอง เพื่อนำเข้าโครงการอาหารกลางวันนักเรียน แต่ในช่วงปิดเทอม ก็จะนำผลผลิตไปจำหน่ายให้กับชุมชน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ค่ายศรีสกุลวงศ์ ในราคาย่อมเยา แผง (30 ฟอง) ราคา 100 บาท ซี่งถูกกว่าราคาตลาด
นอกจากนี้ ผลผลิตไข่ไก่อีกส่วนหนึ่งโรงเรียนนำไปแลกกับปุ๋ยคอกของชุมชน เนื่องจากพื้นที่ทำเกษตรที่โรงเรียนมีพื้นที่ถึง 85 ไร่ จึงต้องใช้ปุ๋ยจำนวนมากเพื่อใส่แปลงเกษตร โดยไข่ไก่ 1 แผงแลกปุ๋ยได้ 10 กระสอบ
“โรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน 18 ปีแล้ว เป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก โดยวัตถุประสงค์หลักคือช่วยให้นักเรียนได้บริโภคไข่ไก่เป็นอาหารกลางวัน แก้ปัญหาทุพโภชนาการของนักเรียน ทำให้มีสุขภาพแข็งแรง ขณะเดียวกันเราขยายผลของโครงการสู่ชุมชนรอบๆข้าง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งราคาไข่ไก่ในท้องตลาดมีราคาแพงมาก แต่ชุมชนซื้อในราคาถูกกว่าตลาด” ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนค็อกนิสไทยกล่าว
ด้านคุณครูเรวดี โรจน์ประโคน ครูชำนาญการพิเศษ และผู้ดูแลโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน โรงเรียนบ้านดู่ (สหราษฎร์พัฒนาคาร) ต.บ้านดู่ อ. เมือง จ. เชียงราย กล่าวว่า ในช่วงปิดเทอมซึ่งโรงเรียนยังคงเลึ้ยงไก่ต่อเนื่อง จึงนำไข่ไก่ขายให้ชุมชนและผู้ปกครองนักเรียนในราคาเดิม คือ แผงละ 70 บาท โดยมีผลผลิตไข่ไก่เพื่อจำหน่ายวันละประมาณ 8 แผงต่อวัน เนื่องจากไก่ที่เลี้ยงไว้ 300 ตัว ผลผลิตไข่ได้วันละ 240-250 ฟอง ช่วยให้มีไข่ไก่เลี้ยงชุมชนอย่างพอเพียงช่วงที่ความต้องการสูงขณะนี้
นายบรรจรงค์ วรเศรษฐสุขศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแสนสุข ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว กล่าวว่า โรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เมื่อปี 2562 โดยได้รับมอบแม่พันธุ์ไก่ไขให้ 100 ตัว เก็บผลผลิตไข่ไก่ได้เฉลี่ยวันละ 95 ฟอง ในช่วงปิดเทอม ทางคุณครูเวรจะมาช่วยดูแลเก็บผลผลิตไข่ไก่ รวมทั้งผู้พิการที่ทางซีพีเอฟจ้างไว้ให้ช่วยงานที่โรงเรียนช่วยดูแลความสะอาดของโรงเรือนเลี้ยงไก่ โรงเรียนนำผลผลิตไข่ไก่จำหน่ายให้แก่ชุมชนแผงละ 100 บาท แต่จำกัดการขายให้ซื้อได้ครอบครัวละ 1 แผงต่อสัปดาห์ เพื่อกระจายผลผลิตไข่ไก่ให้แก่ชุมชนได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกิดการระบาดของโควิด –19 ซึ่งความต้องการไข่ไก่เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า ราคาก็แพงขึ้น โรงเรียนภูมิใจและดีใจที่โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน สามารถช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของคนในชุมชนได้บ้าง
นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนอีกหลายแห่งที่มีการบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่ในช่วงปิดเทอม เพื่อจำหน่ายให้ชุมชนในราคาย่อมเยา อาทิ โรงเรียนบ้านแปดอุ้ม จ.อุบลราชธานี เลี้ยงไก่ไข่ 100 ตัว เก็บผลผลิตไข่ไก่ได้วันละ 67-70 ฟอง จำหน่ายให้ชุมชนได้วันละ 2 แผงในราคาแผงละ 90 บาท โรงเรียนบ้านบ่อหลวง จ.น่าน เลี้ยงไก่ไข่ 100 ตัว มีผลผลิตไข่ไก่เฉลี่ย 90 ฟองต่อวัน หรือประมาณ 3 แผงต่อวัน ขายให้ชุมชนราคาแผงละ 90 บาท โรงเรียนวัดบางปิดล่าง ศูนย์ปัญจวิทยาคาร อ.แหลมงอบ จ.ตราด เลี้ยงไก่ไข่ 100 ตัว ให้ผลผลิตวันละ 90-95 ฟอง จำหน่ายไข่ไก่ให้กับชุมชนและผู้ปกครอง แผงละ 100 บาท คละไซส์ ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด โรงเรียนบ้านไทรงาม ต.สวนขัน อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช เลี้ยงไก่ไข่ 170 ตัว ผลผลิตไข่ไก่ 130 ฟอง ขายไข่ไก่ให้ชุมชน 80-90 บาทต่อแผงขึ้้นกับขนาดของไข่ไก่ เป็นต้น
โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน มีเป้าหมายหลัก คือ เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลและในถิ่นทุรกันดารได้บริโภคไข่ไก่เป็นอาหารกลางวัน และมีประสบการณ์ ทักษะอาชีพ เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และอื่นๆ ส่งผลให้นักเรียนมากกว่า 160,000 คน และชุมชนมากกว่า 1,000 แห่ง ได้รับประโยชน์ โดยได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ จัดผู้ชำนาญการและสัตวบาล ติดตามให้ความรู้และให้คำแนะนำในการเลี้ยงไก่ไข่ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแก่ครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งขยายผลการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน และกระจายผลผลิตไข่ไก่ให้ชุมชนได้บริโภคไข่ที่สะอาด ปลอดภัย และราคาย่อมเยาอีกด้วย
Tag :
CPF, ซีพีเอฟ, ไข่ไก่
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น