30 ปีแห่งความยั่งยืน จาก “ไร่มันฝรั่ง” สู่ “เลย์” ภารกิจสร้างความมั่นคงทางอาหารของเป๊ปซี่โค ประเทศไทย

วันที่ 10 เมษายน 2568  179 Views

TH
EN
CN

30 ปีแห่งความยั่งยืน จาก “ไร่มันฝรั่ง” สู่ “เลย์” ภารกิจสร้างความมั่นคงทางอาหารของเป๊ปซี่โค ประเทศไทย

บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) ผู้ผลิตเลย์ มันฝรั่งทอดกรอบยอดนิยมของเมืองไทย เริ่มต้นส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งของไทยอย่างยาวนาน เพื่อลดการพึ่งพามันฝรั่งที่นำเข้าต่างประเทศ ปัจจุบัน “เลย์” ที่ผลิตในไทยใช้มันฝรั่งที่ปลูกได้เองในประเทศไทยเฉลี่ยปีละเกือบ 100,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 70 จากผลผลิตทั้งหมดที่นำมาผลิตมันฝรั่งทอดกรอบเลย์ที่จำหน่ายในประเทศ ที่เหลืออีกร้อยละ 30 นำเข้าจากต่างประเทศ และปีนี้เป็นอีกปีที่คาดว่าจะได้ผลผลิตมันฝรั่งจากเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมจากเป๊ปซี่โค ประเทศไทย ถึง 100,000 ตัน

เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 โดยส่งเสริมห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากตั้งแต่การปลูกมันฝรั่ง ด้วยการส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกร เพิ่มผลผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นการติดตั้งระบบชลประทานน้ำหยด การใช้เทคโนโลยีอินฟราเรดเพื่อตรวจสอบสภาพดิน รวมถึงการใช้โดรนเพื่อประเมินโรคและตรวจสอบสภาพพื้นที่ปลูกมันฝรั่ง ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพส่งเข้ากระบวนการแปรรูปเป็นมันฝรั่งทอดกรอบ

30 ปี จาก “ไร่มันฝรั่ง” สู่ “เลย์”

30 ปีแห่งความยั่งยืน จาก “ไร่มันฝรั่ง” สู่ “เลย์” ภารกิจสร้างความมั่นคงทางอาหารของเป๊ปซี่โค ประเทศไทย

นางสุริวัสสา สัตตะรุจาวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจประจำประเทศไทยและเวียดนาม กล่าวว่าเป๊ปซี่โค ดำเนินธุรกิจอาหาร ดังนั้นจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสนับสนุนผู้ที่อยู่ต้นทางของการผลิตก็คือเกษตรกร ยิ่งไปกว่านั้นคือการผลักดันการทำเกษตรด้วยวิถียั่งยืน เพื่อให้ระบบอาหารของไทยแข็งแกร่งขึ้น

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาของการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทย เป๊ปซี่โค และเกษตรกรต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ในช่วง 10 ปีแรก การปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยจึงต้องเผชิญกับความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ

“ที่ผ่านมา เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเกษตรกร ทั้งการพัฒนาพันธ์มันฝรั่ง วิธีการปลูก การจัดเก็บ ทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ ในช่วง 10 ปีแรก เป็นช่วงเวลาที่มีความท้าทายอย่างมาก เป็นช่วงเวลาแห่งการล้มลุกคลุกคลาน และการทดลองหลายๆ ครั้ง ผิดมากกว่าถูก กว่าที่จะค่อยๆ ตั้งหลักได้ ซึ่งใน 10 ปีถัดมา น่าจะเป็นช่วงที่การเติบโตเข้าที่เข้าทาง ก็ต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรอย่างหนัก ความพยายามที่ผ่านมาก็มาถึงจุดเปลี่ยนในช่วง 10 ปีหลัง ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากเดิม 1-2 ตัน มาเป็น 3 ตัน 4 ตัน และบางไร่มีผลผลิตสูงถึง 5 ตัน ซึ่งนี่คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับเกษตรกร”

จุดเปลี่ยนสู่มั่งคงและยั่งยืน

30 ปีแห่งความยั่งยืน จาก “ไร่มันฝรั่ง” สู่ “เลย์” ภารกิจสร้างความมั่นคงทางอาหารของเป๊ปซี่โค ประเทศไทย

ปัจจุบัน พื้นที่ของเกษตรกรที่เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ได้ส่งเสริมให้มีการปลูกมันฝรั่งนั้นมีทั้งหมดกว่า 38,000 ไร่ ใน 9 จังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา ตาก เพชรบูรณ์ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกรวมแล้วประมาณร้อยละ 90 ส่วนอีก 2 จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สกลนคร นครพนม มีพื้นที่ปลูกรวมร้อยละ 10 และมีเกษตรกรรวม 5,800 คน

30 ปีแห่งความยั่งยืน จาก “ไร่มันฝรั่ง” สู่ “เลย์” ภารกิจสร้างความมั่นคงทางอาหารของเป๊ปซี่โค ประเทศไทย

นายอานนท์ สุนทรนนท์ ผู้จัดการฝ่ายเกษตรประเทศไทย เป๊ปซี่โค ประเทศไทย กล่าวถึงความสำเร็จในการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งนี้ ประกอบด้วยหลายปัจจัย สำหรับปีนี้สภาพอากาศที่เหมาะสมทำให้ได้ผลผลิตมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา ซึ่งสภาพอากาศและอุณหภูมิในการปลูกมันฝรั่งให้มีผลผลิตดีนั้นในช่วงเวลากลางวันและกลางคืนจะต้องมีอุณหภูมิที่ต่างกันประมาณ 10-12 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมในช่วงกลางวันอยู่ที่ประมาณ 24 - 26 องศาเซลเซียส ส่วนกลางคืนน้อยกว่า 18 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ปัจจัยที่ส่งผลให้การปลูกมันฝรั่งในไทยประสบความสำเร็จ ยังประกอบด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ทั้งการปรับปรุงคุณภาพดิน การพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบน้ำหยด การนำเทคโนโลยี โดรนร่วมกับ AI มาใช้ในการประเมินความสมบูรณ์ของพืช และระบุโรค-แมลงศัตรูพืช ซึ่งมีความแม่นยำ และ ประสิทธิภาพสูง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นแนวทางการส่งเสริมวิถีเกษตรยั่งยืน

"ปีนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทย เราเห็นผลผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปีนี้สภาพอากาศเป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญ แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เป๊ปซี่โค ได้นำมาใช้พัฒนาการปลูกมันฝรั่ง จนสามารถเป็นต้นแบบให้เป๊ปซี่โคในประเทศอื่นๆ เช่นอินโดนีเซีย มาดูงานจากประเทศไทย และเรายังคงมุ่งมั่นที่ส่งเสริมเกษตรกรทั้งในแง่ของความรู้และเทคโนโลยี ที่จะขยายโอกาสให้มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง และสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตร”

และอีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้ คือ “การปลูกพืชหมุนเวียน” ที่ส่งเสริมเกื้อกูลกัน โดยนายอานนท์ กล่าวว่าเป๊ปซี่โค ประเทศไทย ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมันฝรั่งสลับกับ ข้าวโพด และ ข้าว ในแนวทางที่บูรณาการกันในพื้นที่ปลูกของตน ซึ่งนอกจากจะเพิ่มรายได้แล้วยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคพืช จากการปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน ฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดิน ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ต่อปีของครัวเรือน โดยรายได้หลักจะมาจากมันฝรั่ง ข้าวโพด และ ข้าว ตามลำดับ ทำให้เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นางภัทราพร ทะกา เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่ง ที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงรายกล่าวว่า ในช่วงเริ่มแรกของการหันมาปลูกมันฝรั่งมีความยากและต้องเข้าใจกระบวนการปลูกที่ต้องใส่ใจอย่างมาก แต่ด้วยการสนับสนุนและการถ่ายทอดความรู้ในการเพาะปลูกมันฝรั่งของเป๊ปซี่โค ประเทศไทย ทุกวันนี้สามารถขยายพื้นที่ปลูกรวมแล้ว 10 ไร่ มีรายได้ที่มั่นคง เนื่องจากมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอนและเป๊ปซี่โค ก็มีการตกลงราคารับซื้อตามสัญญาที่แน่นอน ซึ่งจากเกษตรกรตัวเล็กๆ วันนี้ก็เป็นหนึ่งในเกษตรกรต้นแบบที่สนับสนุนและถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกมันฝรั่งเพื่อเพิ่มรายได้

ความท้าทายและเป้าหมายสูงสุด  

30 ปีแห่งความยั่งยืน จาก “ไร่มันฝรั่ง” สู่ “เลย์” ภารกิจสร้างความมั่นคงทางอาหารของเป๊ปซี่โค ประเทศไทย

เส้นทางในการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยที่กำลังเติบโตขึ้น ได้สร้างความมั่งคงด้านรายได้ให้กับเกษตรกร แต่เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ก็ยังคงตระหนักถึงปัจจัยและความท้าทายที่จะมีผลกระทบต่อผลผลิตมันฝรั่งในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย จากข้อมูลพบว่าร้อยละ 49 ของเกษตรกรไทยมีอายุระหว่าง 40-60 ปี และกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่เกษตรกรที่มีอายุระหว่าง 15-40 ปีลดลง 32%

นางสุริวัสสากล่าวว่าการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในภาคเกษตรถือว่าเป็นความท้าทายไม่เพียงกับเป๊ปซี่โค แต่ยังเป็นความท้าทายของที่ประเทศไทยในภาพรวมเช่นเดียวกัน การสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกมันฝรั่ง หรือพืชอื่นๆ ทำให้เกตรกรผู้สูงอายุสามารถทำเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดภาระการใช้แรงงาน ในขณะที่ยังคงมีผลผลิตและรายได้ที่สามารถดูแลความเป็นอยู่ที่ได้อย่างต่อเนื่อง 

“เป๊ปซี่โค มุ่งมั่นที่จะสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับภาคการเกษตรทั่วโลก และสำหรับเป๊ปซี่โค ประเทศไทย เรามีเป้าหมายสูงสุด ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ผ่านการสนับสนุนเกษตรกรไทยให้สามารถผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม” นางสุริวัสสากล่าวทิ้งท้าย


Tag : มันฝรั่ง, เป๊ปซี่โค, เลย์

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed