วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.30 น. นายสุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานงานแถลงข่าวการจัดงาน “ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร” จังหวัดนครนายก โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ร่วมแถลงข่าว ณ มูลนิธิชัยพัฒนา กรุงเทพฯ โดยงาน “ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร” จะจัดให้มีขึ้น ณ เขื่อนขุนด่านปราการชล และศูนย์ฝึกอบรมสุดาเดือนเพ็ญและที่พักของมูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดนครนายก ระหว่างวันที่ 12 – 15 ธันวาคม 2567 เวลา 10.00 – 22.00 น.
ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน “ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร” ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 14.00 น. พร้อมทั้ง ทรงเปิดศูนย์ฝึกอบรมสุดาเดือนเพ็ญและที่พักของมูลนิธิชัยพัฒนา ทั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์จาก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ถ่ายทอดสดตลอดพิธีเปิดงาน ทางช่อง 9 MCOT HD (หมายเลข 30)
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นายกกิตติมศักดิ์และประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา พระราชทานพระราชานุญาตให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดงาน “ชัยพัฒนาแฟร์” ขึ้นเพื่อแสดงแนวคิดด้านการพัฒนา ผลงาน รวมทั้งผลิตผลต่างๆ จากโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนาทั่วประเทศ และเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้มีความร่มเย็นเป็นสุข อยู่ดีกินดี อันนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศจนเกิดเป็น “ชัยชนะจากการพัฒนา” โดยงาน “ชัยพัฒนาแฟร์” จัดครั้งแรกในปี 2559 ณ โครงการอุทยานการอาชีพชัยพัฒนา จังหวัดนครปฐม ต่อมาในปี 2565 จัดขึ้น ณ เมืองสุขสยาม ศูนย์การค้าไอคอนสยาม และในปี 2567 จัดขึ้นภายใต้ชื่อ “ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร” ณ จังหวัดนครนายก ด้วยมุ่งหมายที่จะสัญจรไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
“ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร” จังหวัดนครนายก นำขบวนของอร่อย และสินค้าคุณภาพ ทั้งผลิตภัณฑ์ของใช้ของที่ระลึก และงานหัตถกรรม ฯลฯ จากทั่วทุกภูมิภาคกว่า 170 ร้านมารวมไว้ในที่เดียว พร้อมเรื่องราวเบื้องหลังผลิตผลจากการพัฒนา บนพื้นที่ขนาดใหญ่ของสวนสาธารณะ บริเวณด้านหน้าเขื่อนขุนด่านปราการชล และศูนย์ฝึกอบรมสุดาเดือนเพ็ญและที่พักของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อให้นักท่องเที่ยวชอป ชิม ชิล ท่ามกลางบรรยากาศในสวนร่มรื่นและธารน้ำจากเขื่อนขุนด่านปราการชล ในช่วงฤดูหนาวปลายปี โดยได้รับการสนับสนุนการจัดงานเป็นอย่างดีจากจังหวัดนครนายก สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมชลประทาน กรมประชาสัมพันธ์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมถึงพันธมิตรภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท บีเอ็มดับเบิลยูแมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอช เซม มอเตอร์ จำกัด, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด, กลุ่มเซ็นทรัล, บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และกูร์เมต์ มาร์เก็ต, เมืองสุขสยาม ไอคอนสยาม, บริษัท กูร์เมท์ วัน ฟู้ดส์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) และไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี (องค์กรเพื่อสังคม) โดยภายในงานประกอบด้วย
โซนร้านค้าของมูลนิธิชัยพัฒนา นำเสนอผลิตผลจากการพัฒนาในโครงการพัฒนาต่างๆ ได้แก่ สินค้าตัวท็อปจาก “โครงการมูลนิธิชัยพัฒนา” กว่า 23 โครงการ ไม่ว่าจะเป็นกะปิปากจก ไข่ไก่อารมณ์ดี Happy Chicken ไข่โอเมก้ากล้วยตากบางกระทุ่ม เมล่อนหลากหลายสายพันธุ์ เห็ดหลินจือ อบแห้ง เมล็ดโกโก้อบ/โกโก้นิบส์ ชีสนมแพะ น้ำมันเมล็ดคามีเลีย ฯลฯ รวมทั้ง “ร้านภัทรพัฒน์” ซึ่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลผลิตในโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนาและชุมชนต่างๆ เช่น กระเป๋าและผลิตภัณฑ์จากเสื่อกก ผ้าไหมย้อมสีจากเปลือกเมล็ดคามีเลีย สินค้าแปรรูปอาหาร โลชั่น สบู่ ครีมอาบน้ำ ฯลฯ พร้อมทั้งกิจกรรมจับสลากสอยดาวลุ้นรับของรางวัลมากมาย และ “ร้านจันกะผัก” ซึ่งเป็นร้านที่ตั้งขึ้นเพื่อจำหน่ายพืชผักที่มาจากการพัฒนาพันธุ์ รวมถึงอาหารซึ่งใช้พืชผักที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริผลิตเอง โดยในงานจะจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่มาจากการพัฒนาพันธุ์ ข้าวหอมมะลิคุณภาพ ผักสด รวมถึงจำหน่ายอาหารซึ่งใช้พืชผักปลอดภัย
สำหรับเกษตรกรและผู้สนใจการเกษตร “โครงการทหารพันธุ์ดี” โดยโรงเรียนนายร้อย จปร., โรงเรียนทหารการสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก, กรมพลาธิการทหารบก และบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับทหารพันธุ์ดีเพื่อขยายผลสู่ชุมชน ได้จัดโซนเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะ ณ บริเวณศูนย์ฝึกอบรมสุดาเดือนเพ็ญและที่พักของมูลนิธิชัยพัฒนา “ทหารพันธุ์ดี”เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและกองทัพบกเพื่อให้ทหารกองประจำการมีความรู้และประสบการณ์ในการทำการเกษตรและขยายผลสร้างเครือข่ายในชุมชนที่อยู่อาศัย โดยนอกจากมีนิทรรศการความรู้ ในงานจะวางจำหน่ายสินค้าคุณภาพเพื่อการเกษตร เช่น ดินดำค้างคาว, ปุ๋ยหมักจากมูลล่อ, ปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน, น้ำส้มควันไม้ ฯลฯ รวมทั้งของกิน เช่น น้ำพริกปลานิลจิตรลดา ไข่เค็มใบเตย และผักปลอดภัย อีกทั้งจะนำพันธุ์สัตว์ต่างๆ มาจัดแสดง เช่น โคนม ไก่พันธุ์เบตง ไก่งวง แพะพันธุ์แบล็คเบงกอล แพะพันธุ์บอร์ และกบนา เป็นต้น
พิเศษสำหรับงานชัยพัฒนาแฟร์โดยเฉพาะ “บูธทหารพันธุ์ดี” จัด “กิจกรรมสอยดาวลุ้นรับของรางวัลพิเศษ” โดยเกษตรกรที่สนใจร่วมกิจกรรมสอยดอย สามารถลุ้นรับรางวัลเป็นพันธุ์สัตว์นานาชนิด กลับบ้านเพื่อนำไปขยายพันธุ์ เช่น ลูกไก่เบตง ไก่งวง แพะพันธุ์แบล็คเบงกอล-พันธุ์บอร์ โคนมเพศผู้ พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์กบ เป็นต้น
โซนสินค้าจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 ศูนย์ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสำนักงาน กปร. นำสินค้าวัตถุดิบอาหารพรีเมี่ยมและหายากมาจำหน่ายในงาน เช่น โคเนื้อภูพานแช่แข็งแพะขุนภูพานแช่แข็ง ไก่ดาภูพานแช่แข็ง ไส้กรอกกวาง ณ ภูพาน จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จ.สกลนคร, กุ้งขาวแวนนาไม และปูทะเล (ปูขาว) จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ จ.จันทบุรี, เป็ดปากน้ำและไก่เขาหินซ้อน จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ จ.ฉะเชิงเทรา, กบนา จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ จ.เชียงใหม่, ไข่มดแดงในน้ำเกลือ จากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งฯ จ.ยโสธร, ปลากระบอกร้า โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ตลอดจนสินค้าของกินของใช้ตัวเด่นๆ เช่น กาแฟคั่วภูสิงห์ อาหารและผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากสาหร่ายพวงองุ่นและสาหร่ายผักกาดทะเล, Booster Shot ผักและผลไม้, ธัญพืชชนิดแท่งผสมผลไม้, ผ้าพันคอ/ผ้าคุมไหล่ย้อมคราม, ผ้าใยสับปะรด กระเป๋าใยโตนด เป็นต้น
โซนสินค้าและบริการจากบริษัทพันธมิตร ซึ่งให้การสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ได้ยกสินค้ามาจัดแสดงและจำหน่ายภายในงาน อาทิ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท บีเอ็มดับเบิลยูแมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอช เซม มอเตอร์ จำกัด, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด, กลุ่มเซ็นทรัล, บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และกูร์เมต์ มาร์เก็ต, เมืองสุขสยาม ไอคอนสยาม, บริษัท กูร์เมท์ วัน ฟู้ดส์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) และไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี (องค์กรเพื่อสังคม)
โซนศิษย์เก่าหลักสูตร “ผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (นพย.) จัดแสดงผลงานของกลุ่มศิษย์เก่า นพย. ที่เป็นผู้นำในภาคธุรกิจ ผู้นำชุมชน อาจารย์ และเกษตรกร ซึ่งหลังจากเรียนจบหลักสูตรจนถึงปัจจุบันยังรวมตัวกันเพื่อนำความรู้ที่ได้จากหลักสูตรไปต่อยอดจากงานของตัวเองสู่งานพัฒนาสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยในงานจะจำหน่ายสินค้าจากชุมชนที่กลุ่มศิษย์เก่า นพย. ได้เข้าไปช่วยพัฒนาจนประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้มูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดตั้งหลักสูตร นพย. เพื่อสนองพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้พระราชทานพระราชกระแสให้พิจารณาจัดทำโครงการอบรมหลักสูตรผู้นำของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยได้น้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นกรอบในการจัดทำหลักสูตร
โซนของดีของอร่อยจังหวัดนครนายก คัดสรรของกินขึ้นชื่อจากร้านอาหารดังและผลิตภัณฑ์ OTOP ของจังหวัดกว่า 90 ร้าน เช่น มะยงชิดแปรรูป ไอศกรีมมะยงชิด กล้วยอบซอสมะยงชิด ข้าวเกรียบเห็ด น้ำพริกเห็ด อาหารสำเร็จรูปจากปลา ชามะดัน เนื้อโคขุนแฮมเบอร์เกอร์ กุ้งอบสมุนไพร ปลาเผ่าวังดอกไม้ ปลาจ่อม ปลาเบรคแตก ปลาดุกฟูผัดสมุนไพร กบแดดเดียว มัลเบอร์รี่ชีสเค้ก กล้วยอบซอสมะยงชิด ไข่เค็มมะดัน ขนมไหมฟ้า ไข่เค็มใบไผ่ หอยจ๊อยักษ์ ข้าวขาหมูน้ำจิ้มมะดัน ไก่กังหัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม DIY สำหรับเยาวชน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบูธสินค้าผลงานของเด็กนักเรียนในโรงเรียนในจังหวัดนครนายก
โซนกิจกรรมบันเทิงและความรู้
- เวทีกิจกรรม - เวลา 10.00 – 17.00 น. พบกับสาธิตการทำอาหารและเวิร์คชอปหลากหลายหัวข้อจากอุทยานการอาชีพชัยพัฒนา จังหวัดนครปฐม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกิจกรรมจากโรงเรียนและร้านอาหารในจังหวัดนครนายก ฯลฯ
- เวทีการแสดง - เวลา 17.00 – 22.00 น. พบกับการแสดงดนตรีในสวน โดยวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์, วงออร์เคสตร้าจากนักเรียนนายร้อย จปร, วงปี่สก็อตวชิราวุธวิทยาลัย และวงดนตรีไทยโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น สาธิตการประกอบอาหารจากเชฟชื่อดัง, กิจกรรม “You Hunt We Cook คุณเลือก เราปรุง” โดยกูร์เมต์ มาร์เก็ต ยกร้าน “You Hunt We Cook” ปรุงอาหารกันสดๆ ให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อวัตถุดิบจากบูธต่างๆ ภายในงานแล้วนำมาให้เชฟผู้มากประสบการณ์เป็นผู้ปรุง และนิทรรศการความรู้ อีกทั้งภายในงานมีจุดเช็กอินถ่ายภาพเก๋ๆ และพื้นที่นั่งชิลจิบกาแฟชมบรรยากาศริมน้ำ ที่นักท่องเที่ยวสายกินต้องฟินแน่นอน
Highlight กิจกรรม
- 12 ธันวาคม 2567 : สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดงาน “ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร” พร้อมทรงปรุงอาหารเมนูพิเศษ / การแสดงจากกลุ่ม 3 น้า (โย่ง พวง นงค์) และศิลปินจากรายการ “เพลงเอก” จาก Workpoint Entertainment / การแสดงดนตรีไทยโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา / วงปี่สก็อตวชิราวุธวิทยาลัย / และวงออร์เคสตร้าจากนักเรียนนายร้อย จปร.
- 13 ธันวาคม 2567 : สาธิตการประกอบอาหาร โดย เชฟนอร์เบิร์ต คอสต์เนอร์ (Norbert Kostner) / การแสดงโขน และการแสดงดนตรีโดยวงออร์เคสตร้าจากนักเรียนนายร้อย จปร.
- 14 ธันวาคม 2567 : สาธิตการประกอบอาหาร โดย เชฟพล ตัณฑเสถียร นักแสดงชื่อดังผู้ริเริ่มเว็บไซต์เกี่ยวกับอาหารชื่อ pholfoodmafia.com / ดนตรีในสวน โดยวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์
- 15 ธันวาคม 2567 : การประชันการทำอาหารระหว่างเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา, เลขาธิการ กปร. และผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก โดยมีเชฟชื่อดังเป็นกรรมการตัดสิน และปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรีในสวนโดยวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และศิลปินจากรายการ “เพลงเอก” ของ Workpoint Entertainment
นอกจากนี้ในแต่ละวันยังมีกิจกรรมมากมาย อาทิ กิจกรรมสำหรับผู้บริจาคที่ให้การสนับสนุนมูลนิธิชัยพัฒนา เพียงมาเที่ยวงานและแสดงการ์ดเชิญจะได้รับเครื่องดื่มเมนูพระราชทานฟรี และสำหรับผู้ร่วมงานและเช็กอินภายในงาน จะได้รับของที่ระลึกจากกลุ่มเซ็นทรัลและจากร้านค้าต่างๆ และถ้าสามารถเช็กอินได้ครบทุกจุดตามที่กำหนดมีสิทธิลุ้นรับรางวัล “รถจักรยานยนต์ยามาฮ่า” 1 คัน
“ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร” ยังมีกิจกรรม TikTok Contest เปิดให้ผู้เล่น Tiktok ร่วมประกวดคลิปลุ้นรางวัลพิเศษจากมูลนิธิชัยพัฒนา ได้แก่ ประกวดทำคลิป TikTok ทำอาหาร ที่ใช้วัตถุดิบจากโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา และประกวดทำคลิป TikTok ประชาสัมพันธ์การเที่ยวงาน “ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร” เพื่อร่วมบันทึกความประทับใจไปด้วยกัน ผู้สนใจสามารถติดตามได้ที่ TikTok มูลนิธิชัยพัฒนา หรือ chaipattana9 และ Facebook มูลนิธิชัยพัฒนา
Tag :
นครนายก, มูลนิธิชัยพัฒนา
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น