ชาวจันทบุรี-กรมประมง-ซีพีเอฟ ร่วมปฏิบัติการล่าปลาหมอคางดำอ่าวคุ้งกระเบน นำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง

วันที่ 22 สิงหาคม 2567  124 Views

ชาวจันทบุรี-กรมประมง-ซีพีเอฟ ร่วมปฏิบัติการล่าปลาหมอคางดำอ่าวคุ้งกระเบน  นำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง

จังหวัดจันทบุรี พร้อมกับ สำนักงานประมงจังหวัดจันทบุรี  ผนึกพลังทุกภาคส่วน จัดกิจกรรม “ลงแขก-ลงคลอง” ขึ้นครั้งที่ 2 ณ บริเวณอ่าวคุ้งกระเบน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ล่าปลาหมอคางดำได้ 649 กิโลกรัม แต่ยังพบปลาชนิดอื่นๆ อาทิ ปลากะพง ปลานวลจันทร์ ปลาสาก ปลาขนุน เป็นต้น ส่งมอบปลาที่จับได้ให้สำนักงานพัฒนาที่ดินจันทบุรีเพื่อผลิตน้ำหมักชีวภาพ และแบ่งปันให้กับจิตอาสานำกลับไปบริโภคที่บ้าน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ พร้อมหนุนจันทบุรีเดินหน้า 3 ยุทธวิธีตัดวงจรปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศให้เร็วที่สุดอย่างต่อเนื่อง

ที่บริเวณด้านหน้าอาคารแสดงพันธุ์สัตว์เฉลิมพระเกียรติอ่าวคุ้งกระเบน นายวิสุทธิ์ ประกอบความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานเปิดกิจกรรม "ลงแขก ลงคลอง...ล่าปลาหมอคางดำ โดยมี นายสมพร รุ่งกำเนิดวงศ์ ประมงจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วย หน่วยงานประมงในจังหวัดจันทบุรี ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคีเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดจันทบุรี เครือข่ายประมงพื้นบ้าน และทีมล่าปลาหมอคางดำร่วมกิจกรรมประมาณ 200 คน โดยมี ซีพีเอฟ นำพนักงานจิตอาสา ร่วมสนับสนุนอุปกรณ์การจับปลา ช่วยเตรียมอาหารกลางวัน และน้ำดื่มให้กับผู้ร่วมกิจกรรมอีกด้วย

นายสมพร รุ่งกำเนิดวงศ์ ประมงจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า กรมประมง โดยประมงจันทบุรี ร่วมมือกับทุกภาคส่วน เปิดปฏิบัติการครั้งที่ 2 ในพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบน ซึ่งเป็นการจัดต่อเนื่องจากการปฏิบัติการครั้งแรกที่อำเภอนายายอามเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมาซึ่งสามารถจับปลาหมอคางดำได้ 3 กิโลกรัมแต่จับปลาชนิดอื่นๆ ได้มากกว่า 30 กิโลกรัม สะท้อนให้เห็นว่าในอำเภอนายายอามยังมีความหลากหลายของสัตว์น้ำพื้นถิ่น

ชาวจันทบุรี-กรมประมง-ซีพีเอฟ ร่วมปฏิบัติการล่าปลาหมอคางดำอ่าวคุ้งกระเบน  นำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง

กิจกรรมในวันนี้ แบ่งทีมจับปลาในพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบนออกเป็น 3 จุด ได้แก่ พื้นที่อ่าวคุ้งกระเบน คลองชลประทานที่ส่งน้ำให้ผู้เลี้ยงกุ้ง และบ่อเลี้ยงกุ้งที่รกร้าง ควบคู่กับการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับพื้นที่  ส่งผลให้สามารถจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำได้ 549 กิโลกรัม ขณะเดียวกันยังพบปลาชนิดอื่นอีกหลายชนิด อาทิ ปลานวลจันทร์ ปลาสาก ปลาขนุน ปลากะพง ประมงจันทบุรีนำปลาที่จับได้ส่งมอบให้สำนักงานพัฒนาที่ดินสำหรับผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง และแบ่งปันปลาให้กับชาวบ้านนำกลับไปบริโภค

ชาวจันทบุรี-กรมประมง-ซีพีเอฟ ร่วมปฏิบัติการล่าปลาหมอคางดำอ่าวคุ้งกระเบน  นำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง

นายสมพรกล่าวต่อว่า จังหวัดจันทบุรี ได้บูรณาการทุกภาคส่วนดำเนิน 3 ยุทธวิธีแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ประกอบด้วย การจัดกิจกรรมล่าปลาหมอคางดำใน 2 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอนายายอาม และอำเภอท่าใหม่ การปล่อยปลาผู้ล่าเพื่อกำจัดลูกอ่อนของปลาหมอคางดำ โดยประมงจันทบุรีปล่อยปลาหลายชนิด ทั้งปลากะพง ปลาอีกง ปลาปิ่นแก้ว เป็นต้น รวมถึงการสร้างการรับรู้ของประชาชน ขอความร่วมมือชาวประมงให้ช่วยกันจับปลาชนิดนี้ขึ้นมาจากแหล่งน้ำให้เร็วที่สุด

ชาวจันทบุรี-กรมประมง-ซีพีเอฟ ร่วมปฏิบัติการล่าปลาหมอคางดำอ่าวคุ้งกระเบน  นำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง

ด้านนายอดิศร์ กฤษณวงศ์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานรัฐกิจและเอกชนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟตระหนักถึงความเร่งด่วนของการจัดการปลาหมอคางดำ เดินหน้า 5 โครงการเชิงรุกอย่างจริงจัง บูรณาการความร่วมมือกับหลายภาคส่วนทั้งกรมประมง โรงงานปลาป่น ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และสถาบันการศึกษาเพื่อเร่งกำจัดและตัดวงจรของปลาชนิดนี้ออกจากแหล่งน้ำของไทยให้มากและเร็วที่สุด ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนกรมประมงรับซื้อปลาหมอคางดำผลิตปลาป่น 2,000,000 กิโลกรัม ที่ผ่านมาร่วมกับโรงงานศิริแสงอารำพีรับซื้อไปแล้วมากกว่า 605,860 กิโลกรัม โครงการสนับสนุนปลานักล่า 200,000 ตัว ให้ประมงจังหวัดต่างๆ ปล่อยลงแหล่งน้ำโดยส่งมอบไปแล้ว 54,000 ตัว การสนับสนุนกรมประมงจัดกิจกรรมจับปลาออกจากระบบนิเวศไปแล้ว 12 จังหวัดและยังเดินหน้าสนับสนุนจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีโครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึง โครงการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและมหาวิทยาลัยในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีควบคุมปริมาณปลาหรือตัดวงจรการแพร่พันธุ์ในระยะยาว


Tag : ซีพีเอฟ

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed