“ลำนำชีวิต (BALLAD OF LIFE)” การแสดงละครเวทีร่วมสมัย เฉลิมฉลองเนื่องในวาระ ๑๕๐ ปี ชาตกาล เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

วันที่ 16 สิงหาคม 2567  131 Views

“ลำนำชีวิต (BALLAD OF LIFE)” การแสดงละครเวทีร่วมสมัย เฉลิมฉลองเนื่องในวาระ ๑๕๐ ปี ชาตกาล เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

การแสดงละครเวทีร่วมสมัยเรื่อง “ลำนำชีวิต” (Ballad of Life) จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวาระ ๑๕๐ ปี ชาตกาล เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

โดยเนื้อหาของละครมิใช่เป็นการเล่าเรื่องราวชีวประวัติหรือผลงานของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีที่มีอยู่มากมายโดยตรง ไม่มีการระบุตัวบุคคลที่มีจริง แต่ศิลปินได้นำแนวคิดเนื้อหาจากผลงาน “ครูเทพ” และวิสัยทัศน์ของท่านมาเป็นตัวจุดประกายและสร้างสรรค์บทละครเรียงร้อยเนื้อหาของละครในครั้งนี้ ผู้ชมจะได้เห็นมุมมองของความคิดและสังคมในมิติต่าง ๆ ผ่านละครเวทีร่วมสมัยในรูปแบบละครพูดผสมการแสดงแบบภาษากาย (Physical Theatre)

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หรือที่รู้จักกันในนามปากกา “ครูเทพ” มีชื่อจริงว่า สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา เกิดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๙ ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านหลังศาลเจ้าหัวเม็ด ตำบลสะพานหัน พระนคร (กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน) เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบและโรงเรียนสุนันทาลัย ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๑- ๒๔๓๕ เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ท่านสามารถสอบประกาศนียบัตรครูรุ่นแรกของกระทรวงธรรมการได้อันดับที่ ๑ และได้ปฏิบัติหน้าที่สอนในราชการของกระทรวงธรรมการ

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๙ ครูเทพได้เป็นนักเรียนทุนหลวงกระทรวงธรรมการเดินทางไปศึกษาวิชาครูต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยเบอโรโรด (Borough Road College) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้กลับเข้ารับราชการกระทรวงธรรมการ โดยเป็นครูสอนวิชาครู และคำนวณวิธีในโรงเรียนฝึกหัดครู และรับหน้าที่แต่งแบบเรียนประจำศาลาว่าการกรมศึกษาธิการ ด้วยวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาที่ทันสมัยและจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู ท่านได้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานให้แก่ระบบการศึกษาไทย โดยในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับกระแสพระราชดำริเรื่องการวางแนวทางการจัดการศึกษาของชาติ อันนำมาสู่การจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งต่อมาคือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย พัฒนาระบบโรงเรียนข้าราชการพลเรือน อันเป็นต้นกำเนิดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นรากฐานของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย ในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ท่านดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการและได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาธรรมศักดิ์มนตรี” และ “เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี” ในเวลาต่อมา

คุโณปการสำคัญของครูเทพ คือ การพัฒนาการศึกษาในทุกระดับ ตั้งแต่ขั้นปฐมวัย จนถึงอุดมศึกษา การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา การ ให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเรียนหนังสือ และที่สำคัญคือ การออกพระราชบัญญัติประถมศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้การศึกษาเข้าไปอยู่ในรากฐานชีวิตของคนไทย การสร้างองค์ความรู้ในศาสตร์หลายแขนง การใช้จิตวิทยาพัฒนาการศึกษาปฐมวัย การแต่งตำราเรียน ประพันธ์งานร้อยกรองในรูปฉันทลักษณ์ต่าง ๆ รวมถึงบทละคร บทเพลง และข้อเขียนร้อยแก้ว ครูเทพมีชื่อเสียงในฐานะอรรถกวี เสนอแนวคิดผ่านบทกวี  โดยผลงานชิ้นสำคัญ ปรากฏใน “หนังสือโคลงกลอนของครูเทพ” และ “ความเรียงต่าง ๆ ของครูเทพ”

นอกจากการศึกษาสายสามัญ ท่านยังเห็นความสำคัญยิ่งของการศึกษาสายวิชาชีพ โดยวางรากฐานสนับสนุนให้เกิดการศึกษาสายช่าง อันพัฒนาเป็นวิทยาลัยอาชีวะในปัจจุบัน และเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาด้านเกษตรกรรม เพราะเล็งเห็นว่าประเทศไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ซึ่งสามารถนำพาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจหลักได้ เกิดการวางรากฐานสู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และขยายผลต่อเป็นมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และวิทยาลัยการเกษตร

การกีฬา โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล ถือเป็นเรื่องที่ท่านมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและนำกีฬามาสู่ประเทศไทย เพื่อสร้างเสริมด้านพลานามัยและเรียนรู้การทำงานเป็นทีม มีน้ำใจนักกีฬา ถือเป็นการศึกษาผ่านการกีฬา (Education through Sport) โดยส่งเสริมให้เล่นในโรงเรียน และจัดแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียน การแต่งเพลงกราวกีฬา เพื่อให้เห็นคุณค่าของกีฬาต่อชีวิต

ในปีพ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ และท่านได้ดำรงตนในฐานะ “ครูเทพ” สร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่องด้วยจิตวิญาณแห่งครู และเป็นครูสอนนักเรียนโรงเรียนสตรีจุลนาค สร้างตำราแบบฝึกหัดสอนอ่านเขียนบทประพันธ์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเรื่อยมา

เพื่อรำลึกถึงเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เนื่องในวาระ ๑๕๐ ปี ชาตกาล มูลนิธิเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีจึงจัดละครเวที เรื่อง “ลำนำชีวิต” (Ballad of Life) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องเล่าของทายาทรุ่นหลาน รวมถึงบทประพันธ์และแนวคิดของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ผ่านมุมมองและการตีความของนิกร แซ่ตั้ง ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดงปีพ.ศ. ๒๕๕๓ จากคณะละคร 8x8 (Theatre8x8) ซึ่งเป็นผู้กำกับละครเวที เขียนบท และนักแสดง ที่มีผลงานการกำกับละครเวทีมาแล้วมากมาย อาทิ ไร้พำนัก (Where should I lay my soul?), ใจยักษ์  Gi(ant), Mouth (เมาท์), พระเจ้าเซ็ง, สามสาวทราม ทราม, กรุงเทพน่ารักน่าชัง, ทารกจกเปรต ฯลฯ

“ลำนำชีวิต (BALLAD OF LIFE)” การแสดงละครเวทีร่วมสมัย เฉลิมฉลองเนื่องในวาระ ๑๕๐ ปี ชาตกาล เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

ลำนำชีวิต (Ballad of Life) เป็นละครเวทีร่วมสมัย กำกับและเขียนบทโดยนิกร แซ่ตั้ง ซึ่งในการแสดงนี้ คุณนิกรได้มาพร้อมกับทีมงาน นักแสดง ทั้งรุ่นใหญ่ และรุ่นใหม่ ที่มีชื่อเสียง ด้านคุณภาพ อาทิ ดวงใจ หิรัญศรี, สุชาวดี เพชรพนมพร, สุมณฑา สวนผลรัตน์, ตรึงตรา โฆษิตชัยมงคล, ศักดิ์ชาย เกียรติปัญญาโอภาส, วิภู บุนนาค, ณัฐวุฒิ เมืองมูล และประพันธ์ดนตรีโดย สินนภา สารสาส 

ลำนำชีวิต (Ballad of Life) เป็นละครสั้น ๓ ตอนต่อกัน ความยาว ๖๐ นาที ละครชวนให้นึกถึงความเปลี่ยนแปลงจากยุคเก่าสู่ยุคใหม่ กะเทาะเปลือกของความเป็นมนุษย์ ผ่านสถานการณ์ที่แตกต่างกัน โดยมีเรื่องย่อ ในแต่ละตอน ดังนี้

ตอนที่ ๑ ตัวละคร (Role)
เรื่องราวของคณะละครที่กำลังซ้อม ฉากพระรามที่กำลังระลึกถึงนางสีดาหลังพิธีลุยไฟ ในขณะที่คณะละครกำลัง ประสบปัญหาไม่มีโรงละครสำหรับเปิดการแสดง ในตอนที่ ๑ ได้หยิบยกบทกลอน “รามรันทด” ซึ่งเป็นหนึ่งในเนื้อหาของหนังสือ “โคลงกลอนครูเทพ” ขึ้นมาตีความใหม่ให้เกิดความร่วมสมัยผ่านวัฒนธรรมการรำฟ้อนและการดนตรี     

ตอนที่ ๒ วิชาชีวิต (Wisdom)
เรื่องราวของบรรดาแม่ ๆ ทั้งหลาย จะรับมือกับความเปราะบางของลูก ๆ Generation ใหม่ ที่เลือกเรียนหรือไม่เลือกเรียนตามใจตน ตามใจพ่อแม่อย่างไร ปริญญาจำเป็นไหม จริงเหรอ เป็นตอนที่กล่าวถึงกระแสความคิดของมนุษย์ ที่ตั้งคำถามต่อโครงสร้างการศึกษาที่ถูกวางไว้มา ๑๐๐ กว่าปีแล้ว

ตอนที่ ๓ รอยมนุษย์ (Legacy)
การแสดงที่เน้น Impression เป็นภาพบรรยากาศ และความรู้สึกมากกว่าเรื่องราวที่จับต้องได้ เมื่อมนุษย์จากโลกนี้ไป สิ่งที่เหลือไว้เป็นร่องรอยคืออะไร เราจำเป็นต้องทิ้งอะไรไว้ให้คนรุ่นหลังไหม เป็นตอนที่ได้แรงบันดาลใจจากชีวิตของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ที่ทิ้งผลงานไว้ให้คนรุ่นหลังมากมาย ซึ่งสะท้อนกลับมาว่าเราควรคิดที่จะต้องทิ้งอะไรไว้ในวันที่จากลาหรือไม่

รอบการแสดง

  • วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ เวลา ๑๙.๓๐ น.
  • วันศุกร์ที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ เวลา ๑๙.๓๐ น. (เวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนหลังการแสดง)
  • วันเสาร์ที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ เวลา ๑๔.๐๐ น. (เวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนหลังการแสดง) และ ๑๙.๓๐ น.

โดยทุกรอบการแสดงมีบทบรรยาย (Subtitle) ภาษาอังกฤษประกอบ

สถานที่จัดแสดง
ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล ชั้น ๖ อาคารมหาจักรีสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ราคาบัตร
บุคคลทั่วไปราคา ๕๐๐ บาท และนักเรียน / นักศึกษาราคา ๓๕๐ บาท
* หมายเหตุ : นักเรียน / นักศึกษาต้องแสดงบัตรนักศึกษาเพื่อรับบัตรเข้าชมก่อนเข้าโรงละคร

ช่องทางการสำรองที่นั่ง
เว็บไซต์ : www.ticketmelon.com/ballad-of-life/theatre8x8
โทร : ๐๘๒-๐๙๓-๔๖๕๐


Tag : ละครเวที

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed