สิ่งที่คนไทยมีความถนัดและถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ การรังสรรค์อาหารจานอร่อยหลากหลายเมนู เพื่อสู้กับการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ในโลกออนไลน์โชว์ไอเดียจับวัตถุดิบธรรมดาแปรรูปเป็นของอร่อย ชวนกิน มีคุณค่าทางโภชนาการ ขายได้ เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส “กิน” ปราบปลาหมอคางดำ
อาจารย์จากสองมหาวิทยาลัยชื่อดัง ผศ.ดร.ภูธฤทธิ์ วิทยาพัฒนานุรักษ์ รักษาศิริ อาจารย์ประจำคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี และผศ.ดร.นันทิภา พันธุ์สวัสดิ์ ภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนออาหารจากปลาหมอคางดำที่ทำได้ตั้งแต่ของทานเล่น จนถึงอาหารจานหรู องค์ความรู้ และภูมิปัญญาชาวบ้านนำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าสูงสุด สร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกร และคนในพื้นที่
ผศ.ดร.ภูธฤทธิ์ วิทยาพัฒนานุรักษ์ รักษาศิริ อาจารย์ประจำคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ออกมาให้ความรู้ว่า ปลาหมอคางดำมีคุณค่าทางโภชนาการไม่น้อยกว่าปลาชนิดอื่น มีโปรตีนและไขมันเทียบเท่ากับปลานิล รสชาติก็เหมือนปลาทั่วไป ไม่อันตราย เมนูปลาหมอคางดำทำได้มากมาย มหาวิทยาลัยร่วมกับชุมชนพัฒนาเมนูอาหารร่วม 20 รายการ ตั้งแต่ ลูกชิ้น กรรเชียง ปลาร้าเป็นตัว ปลาร้าผง น้ำซุป น้ำสต๊อก น้ำบูดู น้ำหมักปรุงรส ปลาแดดเดียว ปลาสามรส ปลาสวรรค์ เป็นต้น ช่วยให้ชาวบ้านจำหน่ายเป็นของฝากจากชุมชนได้
ผศ.ดร.นันทิภา พันธุ์สวัสดิ์ ภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโครงการ รังสรรค์เมนูปลาหมอคางดำ ช่วย “กู้แหล่งน้ำ” นำปลาหมอคางดำมาทำเมนูอาหารง่ายๆ คนไทยชื่นชอบอย่าง “ขนมจีนน้ำยาปลาหมอคางดำ” อร่อยจนบอกไม่ได้ว่ามาจากปลาหมอคางดำ เป็นเมนูได้รับการตอบรับจากบุคลากร นิสิต และบุคคลทั่วไปเป็นอย่างดี และเสียงสะท้อนส่วนใหญ่บอกว่าก็ไม่ต่างจากน้ำยาปลาปกติ นอกจากนี้ คณาจารย์ในภาควิชายังคิดค้นเมนูอาหารอีกหลายเมนู ตั้งแต่อาหารไทยพื้นบ้าน ปลาร้าทรงเครื่อง ผงโรยข้าว น้ำพริกปลากรอบ อาหารชาววัง อย่างข้าวแช่ ไปจนเมนูญี่ปุ่น ข้าวปลาเทริยากิ ปลาหมอคางดำก็ทำได้
เมนูอร่อยจากปลาหมอคางดำ ดูจะเหมาะเป็นอย่างยิ่งกับไลฟ์สไตล์คนไทยที่ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร ต้องได้กินอาหารอร่อย เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง แถมยังสามารถต่อยอดทำเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้กับชุมชน และการกินเป็นการใช้ประโยชน์ปลาหมอคางดำที่ยั่งยืน ช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะทุกคนสามารถร่วมมือช่วยกันปรุง ช่วยกันกิน เช่นเดียวกับกรณีหอยเชอรี่ที่เคยระบาดอย่างหนักเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา รวมถึงการรุกรานของตั๊กแตนปาทังก้าที่เคยสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรอย่างหนัก ที่วันนี้ หอยเชอรี่ และตั๊กแตนปาทังก้ากลายเป็นหนึ่งในเมนู Soft Power ของไทย ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องมาลิ้มลอง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้คิกออฟ โครงการรังสรรค์เมนูเด็ดจากปลาที่รับซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่บางขุนเทียน ได้แก่ ปลาหมอคางดำราดซอสเปรี้ยวหวาน ปลาหมอคางดำทอดเกลือ ห่อหมกปลาหมอคางดำ ฉู่ฉี่ปลาหมอคางดำ แกงส้มปลาหมอคางดำ พร้อมทั้งยังได้ชักชวน 2 เชฟมือทอง อย่าง เชพชุมพล- ชุมพล แจ้งไพร และเชฟชีส เมธัส ปาทาน ที่มาช่วยรังสรรค์เมนู Fine Dining อย่าง ปลาหมอคางดำราดพริกสมุนไพร และปลาหมอคางดำราดซอสมะขามอีกด้วย
Tag :
อาหารไทย, ปลาหมอคางดำ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น