Soft Launch กันเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ Potioneer นวัตกรรมใหม่ สำหรับ Private Dinging ที่พร้อมสร้างประสบการณ์การรับประทานอาหารด้วยระบบการจองมื้ออาหารส่วนตัว ที่สามารถเลือกเชฟพร้อมคอร์สเมนูอาหารซึ่งรังสรรค์ขึ้นเป็นพิเศษ จากเอกลักษณ์ของเชฟแต่ละคน ด้วยการจองผ่านแพลตฟอร์ม Potioneer ที่ง่ายและสะดวกรวดเร็ว แถมยังสามารถเลือกสถานที่รับประทานอาหารได้ด้วย จะเป็นที่ Potioneer House ณ Curator สุขุมวิท 24 ร้านอาหารของเชฟ หรือจะให้เชฟมาปรุงให้ที่บ้านก็ได้เช่นกัน ขณะเดียวกัน Potioneer ยังร่วมมือกับพระราชวังพญาไทเพื่อมอบประสบการณ์มื้ออาหารสุดพิเศษให้ผู้รับประทานได้อีกด้วย
ในวันงาน คุณพิตนิตสันติ์ สันติวราคม ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โพชั่นเนียร์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกเล่าถึงคอนเซ็ปต์ของธุรกิจ พร้อมแนะนำเชฟฮูโต๋ - เชฏฐ์ภูชิชย์ เถกิงศักดิ์ เชฟอาหารไทยผู้โด่งดังจากรายการ Top Chef Thailand และเชฟยังมีโอกาสปรุงอาหารเสิร์ฟราชวงศ์ของกษัตริย์จิกมีแห่งประเทศภูฏานเมื่อครั้งเสด็จมาเยือนประเทศไทยด้วย จึงเป็นความโชคดีที่เชฟจะมารังสรรค์อาหารมื้อพิเศษในค่ำคืนนี้
เชฟฮูโต๋เติบโตมากับอาหารตะวันตกในสายโรงแรม แต่มีความชื่นชอบและหลงใหลอาหารไทยและอาหารอินเดีย อาหารของเชฟจึงมีเครื่องเทศ เครื่องแกง ที่เชฟรักปรากฎให้เห็น และด้วยพื้นเพเป็นชาวนนทบุรี คุณพ่อ คุณแม่ คุณยายเป็นชาวสวน เติบโตมากับผลไม้ ดอกไม้ พืชพรรณธัญญาหารที่อยู่ในสวนของตนเอง เชฟจึงนำวัตถุดิบเหล่านั้นเข้ามาใช้ในทุกๆ ครั้งที่นำเสนอเมนู ซึ่งวันนี้เชฟนำเอาดอกดาหลาที่ปลูกเองมาเป็นไฮไลต์ ใครที่เคยติดตามงานจะทราบว่าดอกดาหลาเป็นซิกเนเจอร์ของเชฟฮูโต๋เลยทีเดียว
เมนูในครั้งนี้ เชฟให้คำจำกัดความว่า “รักจืดรักเค็ม” เป็นการใช้วัตถุดิบจากจังหวัดกึ่งน้ำจืดกึ่งน้ำเค็ม อย่างสัตว์น้ำที่อยู่ได้ทั้งน้ำกร่อย น้ำจืด น้ำเค็ม รวมถึงผลไม้ที่ปลูกได้ดีในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และแถบจังหวัดสมุทรสาคร โดยนำเข้ามาใช้ในคอนเซ็ปต์ “นางลอย”
“นางลอย” ในความหมายของเชฟหมายถึงเรื่องราวตอนหนึ่งในวรรณคดีรามเกียรติ์ ซึ่งคือนางเบญจกายแปลงร่างเป็นศพนางสีดาลอยน้ำมา หวังจะหลอกพระรามว่านางสีดาตายแล้ว จะได้ยกทัพกลับไม่ให้เกิดศึกใหญ่ แต่ด้วยความเป็นยักษ์ที่มีฤทธิ์ในเรื่องกลิ่นและไม่สามารถกลบกลิ่นหอมของตนเองได้ จึงเป็นศพที่มีกลิ่นหอม อีกทั้งยังลอยทวนน้ำ ทำให้หนุมานจับได้ อีกหนึ่งความหมายของ “นางลอย” ที่หลายคนคุ้นเคยกันคือนางเมฆขลาที่ลอยมาช่วยพระมหาชนกจากเรืออัปปาง นางลอยในรามเกียรติ์ลอยมาทางน้ำ แต่นางเมฆขลาลอยจากฟ้าไปยังผืนน้ำ เชฟจึงจับเอาคอนเซ็ปต์นี้ขึ้นมา และอีกสิ่งหนึ่งที่คุ้นกันดีคือกลิ่นของน้ำอบไทยยี่ห้อนางลอย คอนเซ็ปต์นางลอยจึงเกิดขึ้นในวัตถุดิบอาหารของเชฟ ที่จะให้ความสดชื่นแบบรักจืดรักเค็ม มีความหวานซ่อนเปรี้ยวในทุกเมนู และยังมีความเผ็ดลึกของเครื่องเทศผสมผสาน
ก่อนเริ่มมื้ออาหาร เชฟยังมีมิกกิมให้แขกทุกคนสนุกกับการสแกนภาพ AR บนแผ่นเมนู โลโก้ในแผ่นรองจาน และฉลากบนขวดน้ำ ผ่านแอป Artivive เกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวสวยงามตามคอนเซ็ปต์นางลอยข้ามสมุทรบนหน้าจอโทรศัพท์กันอย่างสนุกสนาน
จับไม้ปูเป็นอาหารจานแรกที่เสิร์ฟ ซึ่งเชฟทำให้แตกต่างจากจับไม้หรือทอดมันเสียบไม้ย่างทั่วไปโดยเลือกใช้เป็นปูนิ่ม ใส่ความเผ็ดร้อนของเครื่องแกง ทอดให้กรอบนอกนุ่มใน เสิร์ฟกับอาจาดซอสกระเทียมที่ทำให้เป็นครีมข้น ชูกลิ่นกระเทียมอ่อนๆ ส่วนตัวจับไม้ที่ปกติเป็นไม้ไผ่ธรรมดา เชฟเปลี่ยนมาใช้หน่อกะลาให้สามารถกัดกินแกล้มได้พร้อมกับใบผักติ้ว เป็นจานเรียกน้ำย่อยที่ให้รสเข้มข้น มีความเผ็ดร้อนของเครื่องเทศ และตัดรสด้วยหน่อกะลากรุบๆ ได้ดี แม้งานวันนี้จะเสิร์ฟเป็นคอร์สเมนูในแบบตะวันตก แต่เชฟก็อยากทุกคนได้ชิมในแบบสำรับไทยด้วย จึงขอให้ลองเก็บอาหารแต่ละจานไว้ 2-3 คำ วางเรียงไว้ เพราะจานสุดท้ายเชฟจะมีข้าวสวยให้ทุกคนได้ลองกินแบบเป็นสำรับด้วย
แกงคั่วลิ้นจี่เนื้อย่างกับปลาหวาน จานนี้คล้ายกับแกงกระด้างของทางเหนือ แต่มาพร้อมกับการเบิร์นไฟขณะเสิร์ฟ สร้างเสียงฮือฮาบนโต๊ะอาหารอีกครั้ง เชฟเลือกเป็นเนื้อวัวเกษตรกำแพงแสนจากนครปฐม เนื้อส่วนด้านนอกเป็นสันใน ตักเข้าไปตรงกลางจะเป็นเนื้อตุ๋นเย็นๆ ที่ใช้เอ็นตุ๋นของตัวน่องลายล้วนๆ ส่วนเจลาตินที่เกิดขึ้นก็มาจากตัวน่องลายของเนื้อวัวเอง เชฟแนะนำให้ตักชิมรสชาติก่อน จากนั้นเชฟก็นำซอสแกงคั่วร้อนๆ มาราดให้อีกครั้ง เป็นจานอาหารที่ให้รสชาติหลายมิติ ทั้งเนื้อย่าง เนื้อตุ๋นกับเจลาติน และเมื่อกินพร้อมแกงคั่วที่เผ็ดร้อนก็ได้ความอร่อยอีกแบบ ตัดด้วยลิ้นจี่รสหวานซ่อนเปรี้ยว ต้องยกนิ้วให้กับการผสมผสานรสชาติที่ซับซ้อนและลงตัวมาก
ดับความเผ็ดร้อนของแกงคั่วด้วยรสกลมกล่อมจากต้มสับปะรดหมึกแห้งมะพร้าวอ่อนกันต่อ ความฉ่ำหวานอมเปรี้ยวของเนื้อสับปะรดสายพันธ์สยามโกลด์จากประจวบคีรีขันธ์ ชูรสน้ำซุปร้อนๆ ให้กลมกล่อม ตักเนื้อสับปะรดกินพร้อมปลาหมึกไข่แดดเดียวทอด ได้ความสดชื่น คล่องคอ และไม่มีกลิ่นคาวปลาหมึกในน้ำซุปแม้แต่น้อย
ยำไตกุ้ง ฟังชื่อเมนูแล้วอาจจะไม่คุ้นเคยนัก เชฟเล่าว่าไตกุ้งคือน้ำที่ออกมาระหว่างการหมักกุ้ง ซึ่งมีปริมาณไม่มากจึงไม่นิยมใช้ในเชิงพาณิชย์ หลายๆ บ้านมักเก็บไว้ใช้ในครัวเรือนแทนน้ำปลา จะมีความเค็มอ่อนๆ และรสหวานนวลจากตัวกุ้ง ซึ่งต้องนำมาเคี่ยวให้สุก และหมักกับส่าซึ่งก็คือเนื้อข้าวหมาก เมนูนี้เทคนิกการทำจะเหมือนกุ้งสะดุ้งของภาคกลาง เชฟเสิร์ฟให้กินเคียงกับผักอีสานอย่างยอดกระโดน ตาลปัตรฤาษี ลองกินเป็นชั้นๆ และเหมาะจะกินเป็นสำรับกับข้าวด้วยเช่นกัน หรือกินกับไวน์ขาวก็เข้ากันได้ดี
เชฟเล่าให้ฟังว่าในช่วงหน้าร้อนซึ่งอากาศจะเดี๋ยวร้อน เดี๋ยวชื้น ผู้คนจะมีโอกาสป่วยกันมาก คนพื้นบ้านจึงมีกุศโลบายให้ทุกคนในบ้านกินข้าวกับน้ำ หรือที่เรียกว่าข้าวจานน้ำ ซึ่งหากเป็นชาววังก็จะเป็นข้าวแช่ มีเครื่องข้าวแช่เป็นสำรับชัดเจน แต่ข้าวจานน้ำก็จะกินกับปลาแห้ง ปลาสลิด น้ำพริก เครื่องยำที่เหลือคาสำรับ ใส่น้ำเย็นๆ กิน ทำให้ย่อยง่าย ลดอาการวิตกได้ด้วย จัดว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาแต่โบราณ
สำหรับข้าวมันกะทิจานนี้เป็นข้าวสวยหุงด้วยหางกะทิ มีความมัน ความหวานเล็กน้อย เสิร์ฟพร้อมกระเทียมดอง น้ำดอกดาหลา ที่เชฟโพชในน้ำเชื่อมเล็กน้อย เพื่อดึงอินฟิวส์กลิ่นดอกดาหลาออกมา ให้ลองกินข้าวกับสำรับอาหารที่แบ่งเก็บไว้พร้อมกับปลาวงทอดและปลาหวานก่อน แล้วในคำท้ายๆ จึงรินน้ำดอกดาหลาใส่จาน กินเป็นข้าวจานน้ำ ส่วนน้ำดอกดาหลาที่เหลือสามารถดื่มเป็นน้ำได้เลย ซึ่งเมื่อได้ลองกินเป็นสำรับแล้วจะพบว่าทั้งข้าวและกับข้าวเสริมรสชาติกันได้พอดิบพอดี ความหวานของข้าวมันกะทิให้รสนวลๆ ดับความเข้มข้นเผ็ดร้อนของกับข้าว กินแนมกับปลาวงทอดและปลาหวานสร้างรสชาติที่กลมกล่อม แม้ว่าการเสิร์ฟอาหารไทยเป็นคอร์สจะสามารถทำให้อร่อยได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการกินอาหารไทยเป็นสำรับคือความลงตัวเป็นที่สุด
ของหวานปิดท้ายมื้อเป็นเมนูส้มฉุน ที่เปรี้ยวนิดหวานหน่อย กลมกล่อมลงตัว เชฟอธิบายว่าส้มฉุนเป็นเมนูที่นำของรสเปรี้ยวมาแช่อิ่มเก็บไว้กินในยามอากาศร้อนๆ หรือกระหายน้ำ ให้ความสดชื่นในฤดูร้อนได้ดี จะใช้ผลไม้ตามฤดูกาลแช่อิ่ม เช่น มะม่วง มะยงชิด ซึ่งช่วงนี้เชฟได้ลูกพีชจากภาคเหนือที่มีค่อนข้างล้นตลาด จึงนำมาแช่อิ่มและได้ช่วยเหลือเกษตรกรด้วย สิ่งที่ขาดไม่ได้ในเมนูส้มฉุนคือส้มซ่าที่มีกลิ่นเฉพาะตัว กลิ่นและรสจะกึ่งๆ ระหว่างมะกรูดและมะนาวแต่นุ่มนวลกว่า อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือหอมเจียวซึ่งเชฟเลือกใช้น้ำมันของหอมเจียวแทนเนื้อสัมผัสของหอมเจียว มีเจลลีที่ใช้ส่าจากน้ำข้าวหมากที่เหลือจากเมนูยำไตกุ้ง หมักต่อให้เกิดเป็นส่าเหล้านิดๆ ปริมาณแอลกอฮอล์ 2-3% ทำเป็นวุ้นกินคู่กับขนมส้มฉุน เรียกว่าเป็น Zero Waste จริงๆ
สนใจเปิดประสบการณ์การรับประทานอาหารแบบ Private Dining ผ่านแพลตฟอร์ม Potionier ได้ที่ www.potioneer.com, Instagram.com/potioneerth, Facebook.com/potioneer หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ บริษัท โพชั่นเนียร์ (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 08-1424-7887, 06-2447-4249
Tag:
แอพพลิเคชั่น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น