ชายจุกต้องบอกว่าไม่ได้มาเสียนมนานตั้งแต่แวะมาสัมภาษณ์คุณสกุล อินทกุล เมื่อครั้งที่เปิดพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ ที่นี่ยังคงอบอวลด้วยเรื่องราวดีๆ ที่คุณสกุลเรียกว่า “โลกสวยๆ ของเรา” รวมถึงการเปิดประสบการณ์ในรูปแบบของ “Artist Table” อาจฟังดูแปลกสักหน่อยเพราะชายมักจะได้ยินแต่คำว่า “Chef Table” แต่ก็พอจะเดาได้ว่าหมายถึงอะไร
“Midnight Moon” คือชื่อสั้นๆ ของ “จันทรานารี มาลีเมรัย ผูกใจดวงน้อยของฉันไว้ ใต้แสงเดือนงามยามเที่ยงคืน” ร้านอาหารภายในพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ที่เปิดบริการเพียง 3 วัน วันศุกร์ถึงอาทิตย์ เฉพาะมื้อค่ำ ในแบบเซ็ตเมนู หัวละ 1,450 บาท รองรับได้ราว 12-20 คน เมนูเปลี่ยนทุก 3 เดือน อาหารส่วนใหญ่ขยายมาจากเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ พูดง่ายๆว่าเป็นไซด์สตอรี่ของดอกไม้ที่มีมากกว่าการโรยดอกไม้ แต่ในทุกจานจะมีเรื่องราวเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไป ซึ่งคุณสกุลเรียกว่า “โคดาวาริ” ที่ผ่านกระบวนการคิดประมวลออกมาจากใจ ตั้งแต่เลือกวัตถุดิบ ปรุง เล่าผ่านประสบการณ์ เล่าผ่านความรู้เรื่องดอกไม้จนออกมาเป็นอาหาร 1 จาน
ชายแนะนำให้จองเข้ามาก่อน เนื่องจากพ่อครัวจะเตรียมวัตถุดิบในตอนเช้าวันนั้นเลยรับรองว่าสดใหม่ หน้าตาอาหารเรียบง่ายแต่ชายการันตีเรื่องรสชาติหลังจากได้กินทั้งมื้อ ใจชายอยากให้คุณสกุลเปิดพิพิธภัณฑ์ให้ชมหรือเวิล์คชอปสอนจัดดอกไม้ก่อนด้วยซ้ำ แต่คุณสกุลว่าเป็นคนละประสบการณ์ ถ้าให้ดีแนะนำว่ามาชมพิพิธภัณฑ์ฯ ก่อน จะทำให้เรื่องราวบนโต๊ะอาหารสนุกขึ้น
ความน่าสนใจของ Artist Table อยู่ที่อาหารทั้งหมดเกิดขึ้นจากการคาดเดาว่าอร่อย และคิดนอกกรอบของคนทำอาหารซึ่งชายว่าแปลกดี จานแรก เต้าหู้ย่างมิโซะ ได้ไอเดียมาจากการไปพักเรียวกังในทาคายาม่า เต้าหู้ย่างกับมิโซะบนใบแมคโนเลีย เป็นอาหารมื้อเช้าของที่นี่ คุณสกุลศึกษาเรื่องดอกไม้มาจึงเข้าใจว่าแมคโนเลียของไทยก็คือจำปีจำปา จึงนำมาทำอาหารจานนี้ เต้าหู้ย่างแล้วราดมิโซะก่อนวางบนใบจำปาแห้งแล้วอบในเตาอบอีกครั้ง มาพร้อมดอกจำปี แนะนำให้ดมดอกจำปีก่อนกินเต้าหู้ที่ออกเค็มตัดด้วยรสเปรี้ยวของขมิ้นดอง จะแอบกินใบจำปาที่รองเต้าหู้ด้วยก็ได้ อร่อยดี
จานต่อมา MMM&M (Mumbai Masala Mango & Marigold) ดอกดาวเรืองสื่อความเป็นอินเดีย เล่าเรื่องราวการเดินทางของมาลัย โดยนำมะม่วงสุกปรุงกับมาซาล่าสูตรของคุณยายเพื่อนในมุมไบ มะม่วงหวานเปรี้ยวตัดด้วยรสเผ็ดแต่ไม่ฉุนของมาซาล่า โรยด้วยกลีบดอกดาวเรืองเอาเนื้อสัมผัส
มาที่ซุปใส ต้มตะไคร้ กุ้ง เห็ด และดอกชมจันทร์ คุณสกุลว่าดอกชมจันทร์เป็นสกุลเดียวกับดอกผักบุ้ง ซุปนี้หอมอบอวลด้วยกลิ่นตะไคร้ รสชาติคล้ายแกงเลียงที่รสไม่จัด แนมด้วยดอกชมจันทร์ ชายว่าอาหารของคุณสกุลไม่ได้ให้ดอกไม้เด่น แต่เด่นที่สตอรี่ระหว่างทางและกระบวนการคิดก่อนเป็นอาหาร 1 จานมากกว่า เพราะชายไม่ได้เห็นการถมเทเอาดอกไม้ใส่ลงในจานอาหารเลย
จานนี้ชายว่าอร่อยที่สุด สลัดเมืองหลวง หรือสลัดหลวงพระบาง หน้าตาเรียบมากแต่รสหนักแน่น ใช้ผักพื้นบ้านเอเชียอย่าง โหระพา สะระแหน่ ผักชีใบเลื่อย ผักชี ต้นหอม ดอกไม้ใส่แต่ดอกโสนและดอกขจร คลุกเคล้ากับเดรสซิ่งถั่ว โรยด้วยข้าวตัง ทุกคำที่ตักเข้ามาให้รสชาติต่างกันไปตามกลิ่นรสของผักแต่ละชนิด
อีกจานชายก็ว่าดี ไก่ย่าง แมงโก้มัสตาร์ดซอส ไอเดียมาจากแกงมัสตาร์ดของกัลกาต้าใส่เนื้อมะม่วงสุก กินต้นมัสตาร์ดเล็กๆบนไก่ย่างก่อนแล้วค่อยกินไก่ตาม ไก่เนื้อนุ่มมีรสชาติในตัวเอง จะจิ้มกับซอสมัสตาร์ดหรือไม่ก็ได้ ชายว่าอร่อยเหมือนกัน จบจานนี้คุณสกุลพาชายเดินดูสวนรอบบ้านเล่าถึงสิ่งที่ชายกินเข้าไป และอนาคตของพิพิธภัณฑ์ฯ ท่ามกลางลมเย็นสบายของแมกไม้ที่ดูแลกันมานานกว่า 5 ปี
กลับจากชมนกชมไม้ คุณสกุลโปรยกลีบกุหลาบเตรียมความพร้อมสำหรับของหวาน โรสทีซอร์เบต์ ใช้ชากุหลาบที่ปลูกในพุชการ์ อินเดีย ทำเป็นซอร์เบต์รสหวานหอมมีเนื้อกลีบกุหลาบแทรกในทุกคำ ก่อนปิดท้ายด้วยชาหอมหมื่นลี้ พร้อมกับคำพูดของคุณสกุลว่า “เป็นยังไงบ้างโลกสวยๆ ของเรา”
พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ เลขที่ 315 ถนนสามเสน ซอยสามเสน 28 แยกองค์รักษ์ 13 เขตดุสิต กรุงเทพฯ
วันศุกร์-อาทิตย์ 18.00 น. เป็นต้นไป
Tag:
, ดอกไม้, พิพิธภัณฑ์, อาหารดอกไม้,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น