กลายเป็นอีกหนึ่งร้านซูชิโอมากาเสะที่น่าจับตามองสำหรับ MIZU by San.Kyo.Dai แบรนด์ใหม่ในเครือซันเคียวได หลังจากดันจนโรลฟิวชันให้เป็นที่รู้จักกัน ทางร้านจึงถือโอกาสต่อยอดแนะนำให้ฟู๊ดดี้อาหารญี่ปุ่นได้ลองทำความรู้จักกับซูชิโอมากาเสะสไตล์เอโดะมาเอะ
“ในสมัยเอโดะยังไม่มีตู้เย็นเหมือนสมัยนี้ คนญี่ปุ่นจึงหาวิธีเพื่อเก็บถนอมอาหารให้อยู่ได้นาน จึงเกิดวิธีการแช่โชยุ ห่อคอมบุ หมักสาเก หรือหมักเกลือ เพื่อยืดอายุให้ปลา ซูชิแบบเอโดะมาเอะ 80% จึงเป็นปลาที่ผ่านการเอจจิงด้วยวิธีการต่างๆ มาแล้ว” เชฟเอ็ม หนึ่งในเชฟของร้านเล่าถึงที่มา เราสงสัยว่าแล้วเชฟแต่ละคนจะปั้นซูชิออกมาต่างกันไหม “สูตรของการเอจจิงเหมือนกัน แต่ผมกับเชฟคริสโตเฟอร์ (เชฟซูชิอีกคน) ตกแต่งและปรุงรสต่างกัน ปลาบางชนิดผมปรุงด้วยยูซุ แต่เชฟคริสใช้สึดาชิแทน”
เชฟแนะนำว่าถ้ามากินซูชิโอมากาเสะมื้อกลางวัน 12.30 น. มื้อค่ำ 18.30 น. จะเป็นช่วงที่ข้าวกำลังอร่อยที่สุด มีหลายราคาตามวัตถุดิบและจำนวนคำซูชิ (มื้อกลางวัน 1,300, 2,000 และ 3,000 บาท มื้อค่ำ2,000, 3,500 และ 5,000 บาท) ให้บริการรอบละ 7 ที่นั่ง
เราขอลองชิมด้วยการเริ่มที่ ฮิราเมะ ปลาตาเดียวตามธรรมชาติ เอจจิงเพียงวันเดียว อิกะ ปลาหมึกกระดองบั้งแล้วทาโชยุ ชูโทโร่ เอจจิงนาน 7 วัน ปั้นกับข้าวที่หุงด้วยน้ำส้มสายชูแดง ทาโชยุ ใส่หอมกับขิง คำนี้ใช้ข้าวแปลกกว่าคำอื่นแต่เข้ากับชูโทโร่ดี
และคำสุดท้าย โคฮาดะ คำนี้วัดทักษะของเชฟ ถ้าดองน้ำส้มไม่ดีจะคาวมาก
ส่วนอะลาคาร์ตจานแรก Kaisen ข้าวหน้าปลาดิบรวม ชูโทโร่ บุรี แซลมอน อิกะ อามะเอบิ เนงิโทโร่ อุนิ และอิกุระ วัตถุดิบสดมากเพราะเข้ามาเกือบทุกวัน
อีกจาน Unajyu ข้าวหน้าปลาไหลย่างแบบแห้งๆ ขอบนอกกรอบแต่เนื้อยังชุ่ม กินกับไข่หวานซอย สาหร่าย และกระเจี๊ยบ
ปิดท้ายกับไอศกรีมตามฤดูกาลที่มีประจำคิตแคตชาเขียว มีเนื้อคิตแคตแทรกกับชาเขียวรสขม ส่วนส้มยูซุกลิ่นส้มเข้มข้น และอุเมะชูหอมบ๊วยแต่ก็มีความขมนิดๆ ของเหล้าบ๊วย
ชั้น 1 ชาญอิสระทาวเวอร์ 1 ถนนพระราม 4 แขวงสุรวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ
11.30-14.30 น. และ 17.30-22.00 น. (หยุดวันจันทร์)
โอมากาเสะ 1,300-5,000 บาท อะลาคาร์ต 90-2,700 บาท
Tag:
, ซูชิ, อาหารญี่ปุ่น, โอมากาเสะ,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น