ขนมเสน่ห์จันทน์

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561  24,872 Views (1 รีวิว)

หมวดหมู่อาหาร : ของหวานและไอศกรีม

นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 211 เดือนกุมภาพันธ์ 2561

ขนมเสน่ห์จันทน์

ขนมชื่อไพเราะที่มักใช้ในงานมงคล ขนมเป็นทรงกลมแบนเลียนแบบ “ลูกจัน” ผลของต้นไม้ชนิดหนึ่งเมื่อสุกจะมีสีเหลืองและกลิ่นหอม กลิ่นหอมอ่อนๆ ของขนมมาจากลูกจันทน์ป่นหรือ Nutmeg คนโบราณจึงนำความมีเสน่ห์นี้มาประยุกต์ทำเป็นขนมเพราะเชื่อว่ากินแล้วจะมีแต่คนหลงรัก

ส่วนผสม

  • หัวกะทิ 250 กรัม
  • หางกะทิ 250 กรัม
  • น้ำตาลทราย 250 กรัม
  • ใบเตย 2 ใบ
  • ไข่แดงไข่ไก่ 6 ฟอง
  • แป้งข้าวเจ้า 40 กรัม
  • แป้งข้าวเหนียว 40 กรัม
  • แป้งสาลีอเนกประสงค์ (คั่วไฟอ่อนสักครู่) 200 กรัม
  • น้ำก้านดอกกรรณิการ์ประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ
  • ผงโกโก้และลูกจันทน์ป่นอย่างละเล็กน้อย

วิธีทำ

  1. ต้มหัวกะทิ หางกะทิ และน้ำตาลรวมกันจนเดือด ใส่ใบเตย ต้มต่อ 3-4 นาทีจนมีกลิ่นหอม หยิบใบเตยออก พักไว้ให้เย็นหรือพออุ่นๆ
  2. ใส่ไข่แดง คนให้เข้ากันด้วยตะกร้อมือ ใส่แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว แป้งสาลี และน้ำก้านดอกกรรณิการ์ กวนทั้งหมดในกระทะทองเหลืองด้วยตะกร้อมือ ใช้ไฟแรงปานกลาง พอเริ่มข้นจึงเปลี่ยนใช้ไม้พาย คนจนล่อนไม่ติดกระทะ (ก้นกระทะจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล) ยกลง
  3. ทำขั้วของลูกจันโดยแบ่งเนื้อขนมออกมาเล็กน้อย ผสมผงโกโก้ 1 ส่วนกับเนื้อขนม 3 ส่วน ใส่ลูกจันทน์ป่น ผสมกันจนเนื้อเป็นสีน้ำตาล ปั้นเป็นก้อนกลมเล็กๆ เตรียมไว้
  4. ปั้นขนมเป็นลูกกลมประมาณ 1 นิ้ว ใช้มือคลึงให้ผิวเรียบ กดให้แบนเล็กน้อย วางขั้วที่ปั้นเตรียมไว้ ใช้ไม้ปลายแหลมจิ้มให้ขั้วและตัวขนมติดกัน

Notes

  • วิธีทำน้ำก้านดอกกรรณิการ์ ใช้ก้านของดอกกรรณิการ์ที่มีสีส้มแสด ใส่น้ำร้อน แช่ให้สีออกจะได้สีส้มอมเหลือง ถ้าหาไม่ได้ใช้สีผสมอาหารแทนได้โดยใส่สีทีละนิด
  • วิธีทำลูกจันทน์ป่น คั่วลูกจันทน์ทั้งลูกจนหอม ทุบเปลือกออก เอาเนื้อมาตำให้ละเอียด
  • การคั่วแป้งสาลีก่อนนำไปทำขนมจะช่วยให้กลูเตนในแป้งหายไปและเนื้อขนมจะไม่เหนียวเกินไป
  • เอื้อเฟื้อสูตรและทำขนมสำหรับถ่ายภาพโดย : อาจารย์ธนวิทย์ ลายิ้ม รองคณบดีฝ่ายกิจการทั่วไป คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (พระนครใต้)

Tag : ขนมไทย, ของหวาน

เรื่องโดย

คะแนนและรีวิว


5.0 จาก 5

ให้คะแนนและเขียนรีวิว

ยังไม่มีรีวิว

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed