“เหลียงเกา...”
คือคำบอกของบริกรสาวชาวจางเย่ (Zhangye) ที่นำของหวานหน้าตาคล้ายขนมโตเกียวมาเสิร์ฟ จานนี้แถมฟรีจากเจ้าของร้านในโอกาสเทศกาลบ๊ะจ่างในช่วงเวลาที่ป้าเจี๊ยบออกสำรวจมณฑลกานซู (Gansu) เพื่อตามรอยเส้นทางไปชมพูทวีปเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกของพระถังซัมจั๋ง
ป้าเจี๊ยบหยิบมาหนึ่งชิ้น เปิดดูด้านในเห็นไส้แบบเดียวกับบ๊ะจ่างดั้งเดิมที่ห่อใบไผ่ซึ่งเพิ่งกินจากร้านเมื่อวันวาน คือเป็นข้าวเหนียวหุ้มพุทราจีนทั้งลูกและมีถั่วแดงสองสามเมล็ดปนๆ อยู่ รสชาติหวานปะแล่มๆ ไม่ถูกปากคนไทยที่คุ้นชินกับบ๊ะจ่างทรงเครื่องถล่มทลาย...ฮา!
พอชิมแล้วป้าเจี๊ยบมองเห็นศักยภาพว่าปรับอีกสักหน่อย รับรองไปได้สวย อิอิ
กลับมาเมืองไทย เริ่มสืบค้นคำว่า “เหลียงเกา (Lieng Gao)” ปรากฏว่าเป็นของหวานคนละเรื่องไปเลย หุหุ นี่เป็นความด้อยภาษาจีนของป้าเจี๊ยบหรือความต่างทางภาษาของแต่ละมณฑลก็ไม่ทราบ?!?
แต่ที่ทราบแน่คือ ซงซือหรือบ๊ะจ่างไส้พุทราจีน (Jujube Zongzi) เป็นอาหารที่พบได้ทั่วไปในจีน ยิ่งมณฑลแถบตะวันตกซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องพุทราด้วยแล้ว อาหารที่ใช้พุทราทำมีหลากหลายมาก
ขนมที่หน้าตาและรสชาติใกล้เคียงกับบ๊ะจ่างพุทราจีน แต่ไม่ได้ห่อด้วยใบไผ่เป็นลูกๆ ผูกกันเป็นพวงเรียกว่า จิงเกา (Jing Gao) หรือเซิงเกา (Zeng Gao) แล้วแต่การออกเสียงของแต่ละท้องถิ่น ขนมชนิดนี้จัดเป็นเค้กชนิดหนึ่งของจีน นิยมกินกันในหน้าร้อน
จิงเกาใช้วิธีหุงข้าวเหนียวกับพุทราและถั่วแดงที่เรียงสลับกันเป็นชั้นๆ ในลังถึงค่ะ นึ่งกันอย่างน้อยก็ 3 ชั่วโมงขึ้นไป จนได้ขนมที่มีลักษณะคล้ายข้าวเหนียวตัดของไทย รสหวานนิดๆ หอมพุทราจีน ใครชอบหวานมากก็มีน้ำเชื่อมทำจากน้ำอ้อยราดให้ จึงสรุปได้ว่าขนมที่ป้าเจี๊ยบกินคือจิงเกาที่เจ้าของร้านนำมาหุ้มด้วยแผ่นแป้ง สร้างความหรูหราในการนำเสนอนั่นเอง!
ทำสิคะ... อยากปรับรสชาติให้ถูกปากตัวเองและญาติมิตรคนไทย
เริ่มจากทำส่วนที่จะเป็นไส้หรือจิงเกา สิ่งที่ต้องเตรียมคือ ข้าวเหนียวมูน 250 กรัม แบ่งเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน พุทราจีนเชื่อม 25 ผล ผ่าครึ่ง ถั่วแดงต้ม 50 กรัม แบ่งเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กัน และ แปะก๊วยต้ม 50 กรัม แบ่งเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กัน
ป้าเจี๊ยบใส่ข้าวส่วนที่หนึ่งในถาดสี่เหลี่ยมขนาด 7×7 นิ้ว เกลี่ยให้ทั่วถาดและกดให้เรียบสม่ำเสมอ วางเรียงพุทราจีนบนข้าวจำนวน 5 แถว แถวละ 5 ซีก โรยถั่วแดงและแปะก๊วยส่วนที่ 1 ให้ทั่ว ปิดทับด้วยข้าวส่วนที่ 2 ทำซ้ำเหมือนเดิมอีกชั้น แล้วปิดทับด้วยข้าวส่วนที่ 3 กดผิวหน้าให้เรียบสม่ำเสมอกัน
นำถาดไปนึ่งด้วยความร้อนปานกลางค่อนข้างสูงประมาณ 35 นาที แล้วนำออกมาพักไว้ รอจนเย็นสนิทดีแล้วจึงใช้มีดตัดแบ่งเป็นชิ้นขนาด 1×3.5 นิ้ว เท่ากับได้ 14 ชิ้น!
ต่อไปทำแผ่นเครปค่ะ เริ่มจากการเตรียมชามแห้ง มี แป้งสาลีอเนกประสงค์ 1 ถ้วยตวง ร่อนสักหน่อยเพื่อกันแป้งเกาะเป็นก้อน และ เกลือป่น 1/4 ช้อนชา
ส่วนชามเปียกมี ไข่ไก่ 2 ฟอง นมข้นจืด 1 1/2 ถ้วยตวง และ น้ำมันมะพร้าว 1 ช้อนโต๊ะ ตีให้เข้ากันด้วยตะกร้อมือ เทชามแห้งใส่ลงไปคนให้ผสมเป็นเนื้อเดียวกันแล้วนำไปทอดเป็นแผ่นๆ
ป้าเจี๊ยบทอดในกระทะเคลือบเทฟลอนแบนๆ ตั้งบนเตาที่ความร้อนปานกลาง พอกระทะร้อนก็ยกออกจากเตา ตักแป้งที่ผสมไว้ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะใส่ลงไป เอียงกระทะนิดหน่อยให้แป้งแผ่เป็นวงกลมแล้ววางกลับไปบนเตา รอจนกระทั่งผิวด้านบนแห้งก็แซะออกมาวางผึ่งบนตะแกรง กะให้ได้ 14 แผ่น จะได้เท่ากับไส้ที่เตรียมไว้ แผ่นเครปที่ทำเสร็จแล้วเก็บในกล่องพลาสติกปิดฝาค่ะ
ผู้เสนอตัวเป็นหนูทดลองคราวนี้คือเพื่อนวัฒนาวิทยาลัยที่มีนัดกินข้าวที่บ้านป้าเจี๊ยบทุกเดือนเว้นเดือน แค่นำไส้มาวางบนแผ่นเครปแล้วม้วนก็เรียบร้อย
ป้าเจี๊ยบมีชามะลิหอมพิเศษจากจีนมาเสิร์ฟด้วยนะคะ เข้ากั๊นเข้ากัน กินหมดเกลี้ยงแล้วหนูทดลองบอกว่าคราวหน้าไม่ต้องเสียเวลาทำหรู จัดแต่ไส้อย่างเดียวก็พอ... ฮา!
Tag :
Simply Sweet, ขนมหวาน, อาหารจีน, เค้ก
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น