กินคลีนฟู้ดแล้วจะกินอะไรได้อีกบ้าง นอกจากเนื้ออกไก่ ปลา ถั่ว ผักสลัด บรอกโคลี มะเขือเทศ พริกหวาน ฟักทอง น่าจะเป็นคำรำพึงรำพันของคนกินคลีนฟู้ดที่มองหาเมนูใหม่ๆ
ว่าไปแล้วก็ไม่น่าแปลกใจเพราะความคิดเรื่องคลีนฟู้ดเป็นแนวคิดของคนตะวันตกที่เกิดขึ้นจากกระแสต่อต้านอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งทำอาหารแปรรูปและสำเร็จรูปพร้อมกิน ปรุงแต่งรสชาติให้เค็มจัด หวานจัดจากน้ำตาลนานาชนิด ทั้งยังใส่สารเสริมอีกสารพัดเพื่อให้อาหารเหล่านี้ดูน่ากิน ทั้งสีสวย เนื้อนุ่มเด้ง และเมื่อค้นพบว่าอาหารเหล่านี้เป็นตัวก่อปัญหาโรคอ้วน อันจะทำให้เกิดโรคยอดฮิตอีกหลายโรคที่ทุกคนกลัวตามมา เราก็ต้องเปลี่ยนวิถีการกินเพื่อให้สุขภาพดีขึ้น ความคิดเรื่องคลีนฟู้ดจึงเกิดขึ้น
หลักการของคลีนฟู้ดจึงต้องกินอาหารอย่างธรรมชาติให้มากที่สุด ไม่ปรุงแต่ง ไม่แปรรูป ถ้าเก็บมาจากต้นที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือออร์แกนิกยิ่งตรงกับหลักการ ถ้าจำเป็นต้องปรุงแต่งจริงๆ ก็ต้องเป็นวิธีการธรรมชาติ หรือปรุงแต่งแต่น้อย เช่น ของทอดก็ต้องใช้น้ำมันน้อยๆ และด้วยความคิดที่มาจากตะวันตก พืชผักซึ่งนิยมกันจึงเป็นผักที่ชาวต่างชาติกินกัน
แต่ถ้าถามว่ากินคลีนฟู้ดอย่างท้องถิ่นได้ไหม ผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่าได้ และในแต่ละประเทศก็มีอาหารท้องถิ่นตามธรรมชาติของตนเอง อย่างเช่นบ้านเราถ้ากลับไปหาอาหารท้องถิ่นน่าจะเป็นน้ำพริก ผักจิ้ม และมีตัวอย่างให้เห็นว่าบรรพบุรุษที่กินอาหารท้องถิ่นหรือน้ำพริกไม่เคยเป็นโรคอ้วน
ถ้าใช้หลักการของคลีนฟู้ดมาปรับเข้ากับเมนูน้ำพริกก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นอาหารคลีนฟู้ดของไทยได้ โดยเฉพาะน้ำพริกปลากรอบ เริ่มจากปลากรอบเป็นปลาเนื้ออ่อน เติบโตในแม่น้ำตามธรรมชาติที่ไม่ได้ถูกเพาะเลี้ยงในฟาร์มเหมือนกับปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลากะพง แน่นอนว่าปลาเนื้ออ่อนสดๆ ต้องอร่อยตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เมื่อต้องการเก็บไว้กินได้นานก็ต้องนำมาถนอมอาหารด้วยวิธีการรมควัน ใช้ความร้อนค่อยๆ ทำให้เนื้อปลาแห้ง ทั้งยังมีกลิ่นหอมที่ชวนกิน
ส่วนผสมสำคัญของน้ำพริกต้องมีหอม กระเทียม สูตรนี้ต้องนำทุกอย่างมาเผาจะทำให้มีรสหวาน กลิ่นหอมมากขึ้น และนำทั้งหมดมาตำรวมกัน ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปึก และน้ำมะนาว ซึ่งสามารถหาชนิดที่ปลูกอย่างธรรมชาติหรือออร์แกนิกได้ และปรุงไม่ให้รสจัดเกินไป
สิ่งที่มาเสริมให้เมนูนี้เติมเต็มความเป็นคลีนฟู้ดมากขึ้นคือผักจิ้มต่างๆ เช่น ถั่วพู มะเขือเปราะ แตงกวา หน่อไม้รวกต้ม สายบัว เป็นต้น ผักเหล่านี้เป็นผักพื้นบ้าน หรือผักริมรั้วที่ปลูกได้ตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงใดๆ และผักบางชนิดยังมาพร้อมกับฤดูกาล เช่น หน่อไม้ และสายบัว ผักพื้นบ้านเหล่านี้ล้วนมีวิตามินและเส้นใยสูง
เมนูนี้เสริมโปรตีนด้วยไข่ต้ม นอกจากเนื้อปลากรอบที่ใส่ในน้ำพริก ส่วนคาร์โบไฮเดรตเลือกกินได้กับข้าวซ้อมมือ หรือข้าวออร์แกนิกต่างๆ ที่ปัจจุบันมีอยู่มากมาย
ในสูตรโบราณนั้นจะใส่แมลงดา แมลงที่มีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์พิเศษช่วยเพิ่มกลิ่นอะโรมาให้กับน้ำพริกถ้วยนี้ ว่ากันว่าช่วยเสริมรสชาติให้กินผักสดกันได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่น่าเสียดายว่าปัจจุบันหาแมลงดาได้ยากมากหรือไม่ได้เลย
คนที่กินคลีนฟู้ดและมองหาเมนูอาหารใหม่ๆ ต้องบอกว่าอาหารพื้นบ้านของไทยนี่แหละที่จะช่วยเปลี่ยนบรรยากาศและช่วยเจริญอาหารได้อย่างดี
น้ำพริกปลากรอบ
ส่วนผสม
- พริกชี้ฟ้าเขียว แดงรวมกันประมาณ 15 เม็ด
- ปลาเนื้ออ่อนย่างแกะเฉพาะเนื้อ 1/2 ถ้วย
- กระเทียมไทย (ขนาดกลาง) 3 หัว
- หอมแดง (ขนาดกลาง) 11 หัว
- น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลปึก 2 ช้อนชา
เครื่องจิ้ม & ผักจิ้ม
- ไข่ต้มยางมะตูม
- หน่อไม้รวกต้ม
ผักสด
- เช่น ถั่วพู มะเขือเปราะ ขมิ้นขาว แตงกวา สายบัว หรือผักพื้นบ้านตามชอบ
วิธีทำ
- เผาพริก หอมแดง กระเทียม (เผาทั้งหัว) ให้สุกหอม ลอกเปลือกพริกและเม็ดพริกออก ลอกเปลือกหอมและกระเทียมออก
- บิปลาเนื้ออ่อนที่เผาเป็นชิ้นเล็ก
- โขลกพริกให้เนื้อหยาบ ใส่หอม กระเทียม ตำรวมกันหยาบๆ ใส่ปลาเนื้ออ่อน ตำพอเข้ากันหยาบๆ ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะนาว น้ำตาลปึก คลุกให้เข้ากัน ชิมและปรุงรส (ไม่ควรรสจัดเกินไป)
Notes
- ถ้าหาปลากรอบไม่ได้ อาจจะใช้กุ้งสดลวกแล้วฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ แทนได้
Tag :
You Are How You Eat, น้ำพริก, ปลากรอบ, อาหารคลีน, อาหารไทย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น