วิธีทำ ดั๊ก กงฟี (Duck Confit) เมนูทางเลือกของคนกินคีโต

วันที่ 22 กันยายน 2564  18,779 Views (0 รีวิว)

หมวดหมู่อาหาร : เนื้อสัตว์ปีก

นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 254 เดือนกันยายน 2564

เชื่อว่าคนที่สนใจการรับประทานอาหารแนวทางใหม่ๆ น่าจะต้องเคยได้ยินอาหารคีโต ซึ่งเป็นอาหารลดน้ำหนัก หรือที่เรียกว่าคีโต ไดเอต (Keto Diet) หรือคีโตเจนิก ไดเอต (Ketogenic Diet) โดยมีหลักการคือกินไขมันเพื่อลดไขมัน

แนวทางการกินอาหารคีโตคือต้องลดคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย และกินไขมันเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานแทน การลดคาร์โบไฮเครตนี้ต้องลดให้เหลือเพียง 5% หรือประมาณ 20-50 กรัม/วัน ซึ่งจะเท่ากับข้าวประมาณ 1 ทัพพี และขนมปังไม่เกิน 3 แผ่น กินโปรตีน 25% และไขมัน 70%

เมื่อเราลดคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล ร่างกายจากเดิมที่เคยนำกลูโคสจากคาร์โบไฮเครตมาใช้เป็นแหล่งพลังงานก็ต้องหาแหล่งพลังงานใหม่มาทดแทน นั่นก็คือไขมัน กระบวนการนี้ก่อให้เกิดสภาวะการเผาผลาญที่เรียกว่าคีโตสิส (Ketosis) ทำให้เกิดสารที่เรียกว่าคีโตน (Ketone) ดึงไขมันที่สะสมไว้มาใช้เป็นพลังงานแทน ส่งผลให้ไขมันส่วนเกินในร่างกายถูกเผาผลาญ น้ำหนักตัวจึงลดลง

โดยทั่วไปน้ำหนักตัวจะลดลงได้ในระยะสั้น ใน 1 อาทิตย์น้ำหนักจะลด 1-2 กิโลกรัม ซึ่งในอาทิตย์แรกร่างกายจะเกิดความรู้สึกเปลี่ยนแปลงบ้าง เช่น รู้สึกอ่อนล้า สมองทำงานช้าลง เหนื่อยง่าย มีกลิ่นปาก แต่ต่อมาร่างกายจะค่อยๆ ปรับจนสามารถนำไขมันมาใช้เป็นพลังงานได้ ในระหว่างนี้ควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเป็นระยะๆ เนื่องจากการกินอาหารคีโตต้องกินไขมันมาก ซึ่งอาจจะมีปัญหากับผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน คนที่มีปัญหากับโรคตับและไต ก่อนกินจึงควรต้องปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการก่อน

ไขมันที่อาหารคีโตให้บริโภคนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนไม่ได้ห้ามกินไขมันอิ่มตัวซึ่งเป็นไขมันจากสัตว์ (ถ้าไม่มีปัญหาจากไขมันในเลือดสูง ) สามารถกินไขมันได้ทุกประเภท เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะกินอาหารคีโตจึงกินไขมันจากเนื้อสัตว์ได้หลากหลาย เช่น ไขมันหมูในหมู 3 ชั้น เบคอน หมูปิ้ง ชีส เนยแท้ ไม่จำเป็นต้องกินไขมันไม่อิ่มตัวจากเนื้อปลา ถั่วเปลือกแข็ง น้ำมันมะกอกเท่านั้น อาหารที่ห้ามคือคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล ได้แก่ ข้าวทุกประเภท ขนมปัง ชานมรสหวานต่างๆ ผลไม้รสหวาน โดยเฉพาะผลไม้แห้งซึ่งมีน้ำตาลมาก พืชผักหัวที่มีทั้งคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล ส่วนผักควรกินเฉพาะผักใบเขียว

อาหารที่เป็นแหล่งของโปรตีนและไขมันมีหลากหลาย แต่หลายคนอาจจะไม่นึกถึงเนื้อเป็ด เนื้อเป็ด100 กรัม มีพลังงานทั้งหมด 199 กิโลแคลอรี มีโปรตีน 13.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 0 กรัม ไขมัน 16.2 กรัม โดยเฉพาะเนื้อเป็ดที่จัดว่าเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่งในน้ำมันเป็ดของคนฝรั่งเศสที่เรียกว่า Duck Confit

วิธีการทำดั๊ก กงฟี ต้องนำเนื้อเป็ดซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นเนื้อน่องติดสะโพกมาหมักกับเกลือ สมุนไพรนานาชนิด แล้วทำให้เนื้อเป็ดสุกในน้ำมันเป็ดในอุณหภูมิต่ำที่คงที่ประมาณ 4- 6 ชั่วโมง พักให้เย็น แล้วเก็บเนื้อเป็ดในน้ำมันเป็ดที่ท่วมชิ้นเป็ด เก็บในถุงสุญญากาศแช่เย็นซึ่งจะเก็บได้นานเป็นเดือน

ความอร่อยของดั๊ก กงฟี เมื่อนำมาทอด หนังเป็ดจะกรอบแห้ง เนื้อในจะชุ่มฉ่ำจากน้ำมันเป็ด มีรสเค็มนิดๆ และกลิ่นหอม เมนูนี้เลือกกินกับสลัดผักร็อกเก็ต น้ำสลัดเป็นน้ำส้มสายชูบัลซามิกกับน้ำมันมะกอก

ดั๊ก กงฟีจัดเป็นเมนูที่มีไขมันและโปรตีนสูง ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกของคนที่กำลังกินอาหารคีโตอยู่

Duck Confit

Duck Confit
ส่วนผสม

  • ดั๊ก กงฟี (เนื้อเป็ดดองในน้ำมันเป็ด) 1 ชิ้น
  • ผักร็อกเก็ต พริกหวาน มะเขือเทศ แรดิช จำนวนตามชอบ
  • น้ำส้มสายชูบัลซามิก น้ำมันมะกอก เกลือ พริกไทย อย่างละเล็กน้อย ตีให้เข้ากัน

วิธีทำ

  1. ทอดเป็ดในน้ำมันเป็ดที่แช่ไว้ ใช้ไฟปานกลาง รอจนสุก แล้วจึงกลับด้าน (อย่ากลับบ่อยเพราะเนื้อเป็ดอาจจะหลุดไม่เป็นชิ้น) ทอดจนหนังเป็ดสุกกรอบ ทั้งเนื้อและหนังเป็ดเป็นสีน้ำตาล พักให้สะเด็ดน้ำมัน
  2. จัดใส่จานเสิร์ฟพร้อมสลัด

           

           

Notes

Duck Confit หาซื้อได้ในแอปพลิเคชันชอปปิงออนไลน์

Tag : เป็ด

เรื่องโดย

คะแนนและรีวิว


0.0 จาก 5

ให้คะแนนและเขียนรีวิว

ยังไม่มีรีวิว

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed