ชีสเค้กหน้าไหม้

วันที่ 5 ตุลาคม 2563  4,444 Views (0 รีวิว)

หมวดหมู่อาหาร : เบเกอรี่

นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 243 เดือนตุลาคม 2563

ชีสเค้กหน้าไหม้

“ชีสเค้กหน้าไหม้ค่ะ” ป้าเจี๊ยบไปกินข้าวที่บ้านริมคลองวัดกระจับพินิจของน้องชาย หลานมิ้นท์โชว์ฝีมือทำเค้กหน้าสีน้ำตาลเกือบดำ มีกระดาษขยุกขยุยหุ้มอยู่ เจ้าตัวยกออกจากตู้เย็นมาวางบนโต๊ะ ตัดให้ป้าเจี๊ยบชิมพร้อมกับบอกว่า “กำลังฮิตมากที่ญี่ปุ่น”

ป้าเจี๊ยบชิมแล้วไม่โดนเท่าไร รสอ่อนๆ สไตล์ชีสเค้กญี่ปุ่นที่ตัวเองไม่ชอบ อยากให้รสเข้มกว่านี้   เลยคิดว่าจะต้องลองทำดู พอสืบค้นข้อมูลออนไลน์ก็ได้รู้ว่าต้นกำเนิดชีสเค้กนี้เป็นของสเปนนะ ไม่ใช่ญี่ปุ่น!

เก็บมาได้หลายสูตรค่ะ ประมวลผลแล้วก็ตัดสินใจเลือกมา 1 สูตร ลงมือทำแบบทำไปชิมไป เติมโน่นนี่ไปจนได้รสที่ต้องการ จึงส่งเข้าเตาอบ

เค้กหน้าไหม้ก้อนแรกได้เลี้ยงเพื่อนๆ วัฒนาวิทยาลัยซึ่งนัดมากินข้าวกันที่บ้านป้าเจี๊ยบหลังปลดล็อกโควิด-19 ทุกคนชอบมากถึงมากที่สุด บอกว่า “เข้มข้นเต็มคำมาก”  อิอิ!

ชีสเค้กหน้าไหม้ของป้าเจี๊ยบหน้าไม่ดำเท่าของหลานค่ะ เพราะป้าเจี๊ยบใจไม่ถึง ขอแค่น้ำตาลเข้มนิดหน่อยก็พอ ไม่รู้จะเรียกว่า “หน้าไหม้” ได้หรือเปล่า? อิอิ!

วันครอบครัวเสาร์นี้ป้าเจี๊ยบจัดเมนูญี่ปุ่น มีหัวปลาแซลมอนต้มโชยุ,  Mille-Feuille Nabe, สลัดมันฝรั่งแบบญี่ปุ่น, Zaru Soba และไก่คาราอาเกะ ป้าเจี๊ยบเลยลงมือทำชีสเค้กหน้าไหม้ในวันศุกร์ จะได้ไม่ต้องยุ่งตอนเตรียมอาหารคาววันรุ่งขึ้น

ตอนเลี้ยงเพื่อนๆ ป้าเจี๊ยบใช้ครีมชีสก้อนเดียว แต่สมาชิกครอบครัวมีจำนวนเป็น 2 เท่า ป้าเจี๊ยบจึงใช้ครีมชีส (Cream Cheese) 2 ก้อน น้ำหนักก้อนละ 250 กรัม ซึ่งก็ครึ่งกิโลเลยนะเนี่ย! จัดการวางทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง

ระหว่างรอให้ครีมชีสอ่อนตัว ป้าเจี๊ยบเตรียมถาดอบค่ะ ใช้ถาดวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้ว ตัดกระดาษรองอบ (Parchment Paper) มาวางลงไปทั้งแผ่น ใช้มือกดๆ รีดๆ ให้แนบไปกับก้นถาดและตัวถาดก็จะมีรอยยับๆ ซึ่งนี่เองที่ทำให้เกิดรอยอันเป็นลักษณะเด่นของเค้กนี้!

เมื่อครีมชีสอ่อนตัวดีแล้ว ป้าเจี๊ยบเปิดเตาอบติ๊งติ๊งรอไว้ที่ปุ่มความร้อน 220 องศาเซลเซียส หรือ 425 องศาฟาเรนไฮต์ ปุ่มไฟบน-ล่าง นำครีมชีสมาใส่ชามพร้อมกับน้ำตาลทรายละเอียด (Caster Sugar) 150 กรัม แป้งข้าวโพด 15 กรัม เกลือป่น 1/2 ช้อนชา ใช้ตะกร้อไฟฟ้าตีด้วยความเร็วปานกลางค่อนข้างสูงหรือเบอร์ 4

พอเนื้อเนียนก็ใส่เดรีวิปปิงครีม (Dairy Whipping Cream) 250 กรัม วานิลลา 1 ช้อนชา ตีให้เข้ากันอีกครั้ง แล้วทยอยใส่ไข่ไก่เบอร์สาม 4 ฟองลงไปทีละฟองขณะตี  เมื่อเห็นว่าส่วนผสมเข้ากันดีแล้วป้าเจี๊ยบลดความเร็วลงระดับต่ำหรือเบอร์ 1 ใส่น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะลงไป ตีต่อประมาณ 1 นาที  แล้วเทลงถาดอบที่เตรียมไว้ เคาะถาดกับเคาน์เตอร์ 2-3 ครั้งเพื่อไล่ฟองอากาศ ยกเข้าเตาอบ ตั้งปุ่มเวลาไว้ 25 นาที

เมื่อได้ยินเสียงติ๊ง ป้าเจี๊ยบตั้งปุ่มเวลาใหม่เป็น 10 นาที ปรับลดปุ่มความร้อนลงเหลือ 200 องศาเซลเซียส หรือ 390 องศาฟาเรนไฮต์ ปุ่มไฟบนอย่างเดียว พอได้ยินเสียงติ๊งอีกครั้งก็ส่องดูว่าหน้าไหม้ได้สีที่ต้องการหรือยัง อาจต้องอบต่ออีก เพราะนี่เป็นเตาติ๊งอันใหม่ ทำครั้งที่แล้วป้าเจี๊ยบยังไม่คุ้นเคย ลองใช้เครื่องวัดอุณหภูมิมาเทียบ พบว่าความร้อนของเตาอบน้อยกว่าตัวเลขที่บอกไว้?!?  ก็ต้องเฝ้าดูจนกว่าจะได้สีที่ต้องการสิคะ

เมื่อได้หน้าไหม้ตามต้องการแล้ว ป้าเจี๊ยบปิดไฟ เปิดฝาเตาอบ ทิ้งเค้กไว้ในนั้นจนหายร้อน จึงเอาแผ่นฟิล์มพลาสติกมาหุ้มถาดอบแล้วแช่ไว้ในตู้เย็น

หลังอาหารคาวรายการกินกันวันเสาร์ ป้าเจี๊ยบนำชีสเค้กหน้าไหม้ออกมาเสิร์ฟ ถูกใจน้องแพรที่สุด เพราะชอบกินชีสเค้กแบบไม่ต้องมีหน้า คุณพ่อของน้องแพรบอกว่ารสเข้มอร่อยเหมือนชีสเค้กที่เคยกินที่ซานอันโตนิโอ อ้าว...ไหงงั้นล่ะ?

สมาชิกชอบกันทุกคนค่ะ ยกเว้นป้าแจง! ป้าแจงต้องการหน้าราดชีสเค้ก ถามหา “หน้าอยู่ไหน?” 

ป้าเจี๊ยบตอบเนียนๆ ไปว่า “หน้าไหม้หมดแล้ว” ฮา!


Tag : Simply Sweet, ชีสเค้ก, เบเกอรี

เรื่องโดย

คะแนนและรีวิว


0.0 จาก 5

ให้คะแนนและเขียนรีวิว

ยังไม่มีรีวิว

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed